xs
xsm
sm
md
lg

ชงสูตรการเมืองไทย “กึ่งปธน.” “ชัย” ยั๊ว!นายกฯ4 ปี พวกไม่รัก“ในหลวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(17ม.ค.) นายวุฒิสาร ตันไชย เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เป็นประธาน กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้พิจารณาแนวทางการปฎิรูปการเมืองเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะเสนอรายงานต่อรัฐบาลได้ภายในเดือนม.ค.
สาระสำคัญจะอยู่ที่การแบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยจะตัดอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาออกแล้วให้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะถือว่าได้รับความชอบธรรมจากประชาชน คล้ายกับระบบประธานาธิบดี เพื่อป้องกันปัญหาพรรคการเมืองที่ไม่ได้เสียงข้างแต่ไปฮั้วกันจับขั้วตั้งรัฐบาลแล้วชูคนที่ไม่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนเป็นนายกฯ หากแนวทางนี้ถูกนำไปใช้จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้คะแนนอันดับสองตั้งรัฐบาลขัดกับเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ที่เลือกตั้ง
แนวทางนี้จะสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลบริหารนโยบายได้ยาวจนครบวาระ ส่วนสภาก็ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติกันไม่ต้องก้าวก่ายกัน ในปัจจุบันทั้งสองอำนาจยังทับซ้อนกันและแทรกแซงกันโดยรัฐสภามีอำนาจคว่ำนายกฯ ส่วนนายกฯก็มีอำนาจยุบสภา ทั้งนี้ แม้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจะไม่มีพรรคอื่นๆมาเข้าร่วมรัฐบาลก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้เพราะไม่ต้องห่วงว่าสภาจะคว่ำรัฐบาลจากการลงมติไม่ไว้วางใจ หลายประเทศในยุโรปและสแกนดิเนเวีย มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย สามารถบริหารประเทศไปได้ 4 ปี โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเสียงในสภาโหวตล้ม แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการออกกฎหมายที่จะต้องใช้เสียงข้างมาก อย่างไรก็ตามแม้สภาจะออกกฎหมายไม่ได้เลยรัฐบาลก็ยังบริหารประเทศต่อไปได้ แนวทางนี้จะทำให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพได้และถือเป็นการแยกอำนาจเบ็ดเสร็จชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ
“หากรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางนี้กระบวนการต่อไปคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะต้องมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือส.ส.ร. 3 เพื่อเข้ามาทำการร่างเพราะเป็นเรื่องใหญ่ จะใช้กลไกปกติแก้ไขไม่ได้แค่เรื่องสัดส่วนส.ส. 400 กับ 375 ยังมีปัญหากันขนาดนี้”นายวุฒิสาร กล่าว

**เฒ่าชัยยั๊วนายก4ปีพวกไม่รักในหลวง
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกแล้วแต่การพิจารณาของรัฐสภาว่าจะให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่าน นายกรัฐมนตรีไม่ติดใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาส.ส. จะสูตร 375 + 125 หรือ สูตร 400+100 ให้เป็นเรื่องของสภา
เมื่อถามว่าจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ม.ค.นี้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า หากแปรญัตติเสร็จในวันที่ 18 ม.ค. และวันที่ 19 ม.ค.สรุปร่างแก้ไขแล้ว ในวันที่ 20 ม.ค. คณะกรรมาธิการฯ ก็จะส่งเรื่องมาที่ตน จากนั้นตนก็จะตรวจสอบดูความเรียบร้อย และจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้ทันในวันที่ 25 ม.ค.นี้ แต่ถ้ามาหลังจากเดือนก.พ.ไปแล้ว ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ไม่ได้เร่งรีบอะไร เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญคารัฐสภามานานแล้ว และไม่เห็นมีปัญหาอะไร ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญปัจจุบันอยู่ก็ไม่เดือดร้อนอะไร สภาฯก็ประชุมได้ คนก็ยังใช้เวลาได้ตามปกติ นอกจากบางกลุ่มอยากจะทำให้ตัวเองเป็นฮีโร่ ขึ้นว่าตัวเองมีความสามารถอย่างนี้อย่างนั้น หรือสร้างบรรยากาศตัวเองให้ดีขึ้นนั่นก็เป็นทัศนะของแต่ละคน เราไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเสรีภาพของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะอนุกรรมการซึ่งพิจารณาแนวทางปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการเมืองได้เสนอคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานให้รัฐบาลอยู่ยาว 4 ปีโดยไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนกับระบบประธานาธิบดี นายชัย กล่าวว่า คนที่คิดเรื่องประธานาธิบดีในประเทศไทยนั้นคือคนที่ไม่รักในหลวง ประเทศไหนที่มีในหลวง จะไม่มีประธานาธิบดีเด็ดขาด
เมื่อถามย้ำว่าโอกาสเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะบริหารงานยาว 4 ปีโดยไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัย กล่าวว่าหลักประชาธิปไตยสิ่งเหล่านี้มีไม่ได้ ทัศนะของคนแตกต่างกันความคิดความอ่านจะเหมือนกันหมด เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นทัศนคติความคิดความอ่านแตกต่างกันได้ แต่ต้องมีจุดจบ เมื่อเสียงข้างมากเห็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปแบบนั้น
เมื่อถามต่อว่า ส่วนตัวคิดว่าระบบที่มาของส.ส. สูตรไหนเหมาะสมกว่ากัน นายชัย กล่าวว่า แล้วแต่มุมมอง ซึ่งตนพูดมาตลอดว่า คนที่จะมาเป็นผู้แทนต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และต้องให้ประชาชนลงคะแนนให้คนนั้นมาเป็นผู้แทน ส่วนคนที่อาศัยลูกหาบคนอื่น ตนไม่เห็นด้วย อยากให้มาจากการเลือกตั้งทุกคน เพราะการที่กำหนดให้มี ส.ส.แบบเขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ว.แบบเลือกตั้ง และส.ว.แบบสรรหา ทำให้เกิดการกระแหนะกระแหนกัน แต่ถ้ามาจาการเลือกตั้งทั้งหมด จะไม่มีความแตกแยกกัน เพราะฉะนั้นคนร่างกฎหมายขึ้นมา ทำให้คนแตกแยกกัน ไม่มีคนทำกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้เป็นกลางจริงๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลแปรญัตติไม่ได้ตามสูตร 400+100 จะถอนตัวหรือไม่ นายชัย กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องถอนตัว เพราะเหลือเวลาไม่กี่เดือนต้องเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว แต่หากรัฐบาลไม่อยากอยู่ จะยุบสภาเพื่อทดสอบว่าประชาชนรักรัฐบาลหรือไม่ ก็มีสิทธิ์ยุบสภาได้ แล้วเลือกตั้งใหม่ แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญผ่านแล้วไม่มีกฎหมายลูก แต่มีบทเฉพาะกาล ก็สามารถเขียนให้ กกต.ดำเนินการได้ แต่ถ้าดูประวัติแล้ว นายกฯคนไหนแก้รัฐธรรมนูญได้ ส่วนใหญ่เป็นนายกรัฐมนตรีแค่สมัยเดียว แล้วก็เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหมด อย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็เป็นนายกรัฐมนตรีแค่สมัยเดียว แต่ถ้านายอภิสิทธิ์ อยากเป็นนายกฯนานๆ ก็ไม่ต้องยุบสภา อยู่ไปจนครบวาระ อาจจะหวนกลับมาเป็นอีกได้ เพราะท่านสามารถบริหารจัดการได้ เช่น งบประมาณปี 2555 ผ่าน หรือกฎหมายลูกผ่าน ซึ่งรัฐบาลก็จะครบวาระในวันที่ 22 ธ.ค. 54 และรักษาการณ์ไปอีก 3 เดือน เลือกตั้งใหม่ แล้วมาจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตนไม่เอาแล้ว แต่ใครจะมามีอำนาจ ก็ไปคิดพิจารณากันเอาเอง

**ปชป.ไม่แน่ใจแปรญัตติเสร็จทัน20 ม.ค.
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายชัย เตรียมบรรจุร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา วันที่ 25 ม.ค. ว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งนายชัยคงพูดตามขั้นตอนที่เกิดขึ้นว่า หากกรรมาธิการพิจารณาเสร็จและส่งมาให้รัฐสภาได้ในวันที่ 20 ม.ค. ได้ ก็สามารถบรรจุได้ในวันที่ 25 ม.ค. แต่ในส่วนการทำงานของกรรมาธิการอยู่ในขั้นตอนการเร่งรับฟังความเห็นของกรรมาธิการที่สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติ โดยได้เพิ่มการประชุมเพื่อเร่งดำเนินการ เป็นวันที่ 18-19 ม.ค. นี้ ทั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเสร็จทันวันที่ 20 ม.ค. หรือไม่
นพ.วรงค์ เดชวิกรมกิจ ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า วันที่ 19 ม.ค. เวลา 10.00 น. วิปรัฐบาลได้นัดหารือกันเกี่ยวกับระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การประชุมสภาและรัฐสภา ซึ่งการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 25 ม.คง นั้น จำเป็นต้องถามความเห็นจากวิปพรรครัฐบาลก่อน

** เชื่อปชป.-พรรคร่วมเกี้ยเซียะได้
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีการหยิบยกเรื่องระบบเลือกตั้งแบบส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งตรงกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ฉะนั้นถ้าหากพรรคเพื่อไทยจะหันมาสนับสนุนระบบดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แม้จะเคยประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังมีจุดยืนที่ยึดโยงอยู่กับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในท้ายที่สุดเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล จะตกลงกันได้ จะไม่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การยุบสภา และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ก็น่าจะอยู่กันจนครบวาระ ส่วนพรรคเพื่อไทย จะมีมติประเด็นนี้อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมส.ส.ของพรรค

**เผาไทยปูด50ล้านแรก375มีมูล
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำกลุ่ม 3 พี พรรคเพื่อแผ่นดิน ออกมาแสดงความกังวลต่อสูตร 375 + 125 ว่า ผู้สมัครส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 - 10 นั้นอาจจะต้องจ่ายเงินสูงถึง 30 - 50 ล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างตรงกับคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะของการซื้อตำแหน่งขึ้นได้ ทั้งนี้สูตร 375 + 125 นั้นถือว่าไม่มีหลักคิด แต่จะเอื้อให้บางพรรคการเมืองใหญ่ที่จะดึงกลุ่มทุนเข้าพรรค เพราะมีแนวโน้มว่าอาจจะได้เป็นรัฐบาล ดังนั้นจึงอยากให้พรรครัฐบาลที่จะมีการนัดหารือกันในวันที่ 25 ม.ค.นั้น ได้พิจารณาด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นประโยชน์แค่เพียงบางพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะถือเป็นการเอาเปรียบกันทางการเมือง และพรรคก็จะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกันในที่ประชุมส.ส.พรรคด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น