xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“9 ประชาวิวัฒน์” นโยบายตัดแต่งพันธุกรรม การ “ก๊อบปี้” ที่ไม่เนียนของ “อภิสิทธิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทันทีที่ “ซานต้ามาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายปฏิบัติการ “ประชาวิวัฒน์ คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ9 ข้อ" ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย ทั้งจากภาคเอกชน นักวิชาการ รวมถึงฝ่ายค้านที่รุมถล่มว่า “ไม่มีอะไรใหม่” และ “ไม่มีอะไรนอกกรอบ” เพราะเป็นแค่การนำนโยบายประชานิยมของรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” มาตบแต่งใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ไม่หวังผลทางการเมืองนั้น “ไม่มี” ปัญหาอยู่ที่ว่า “นโยบาย” นั้น “โปร่งใส” ตรวจสอบได้ไหม มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้จริง มาก-น้อย แค่ไหน

การเข้าถึงสินเชื่อของคนขับแท็กซี่-ผู้ค้าแผงลอย
 
นโยบายนี้เฉพาะเจาะจงกลุ่มแท็กซี่ พ่อค้าแผงลอย และวินมอร์เตอร์ไซค์ กู้อัตราร้อยละ 1 ต่อปีเพื่อใช้เป็นแหล่งทุนประกอบอาชีพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ แท็กซี่ 2 พันคันจะมีสิทธิได้กู้เงิน 8 แสนบาท เพื่อซื้อแท็กซี่ขับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขั้นตอนการปล่อยกู้เป็นจุดสำคัญ อันดับแรกต้องไม่ลืมข้อมูลหนี้เสียสูงถึง 50% ในโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร สมัยรัฐบาลทักษิณ ขณะที่การจัดสรรโควตากู้เงินเกือบล้านบาท คงไม่ใช่ง่ายๆ และสุดท้ายก็ไม่พ้นที่โชเฟอร์แท็กซี่จะต้องเช่ารถใช้เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของแท็กซี่ไม่ใช่สินเชื่อ แต่ปัญหาของแท็กซี่ คือ รถแท็กซี่มีจำนวนมากขึ้น การแข่งขันสูงมากจนคนให้เช่าแท็กซี่ต้องออกแคมเปญ ขับ 6 วันฟรี 1 วัน อีกทั้งผู้โดยสารที่เจอปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้การตัดสินใจนั่งแท็กซี่น้อยลง เป็นปัญหาหลักทำให้รายได้ของแท็กซี่ต่อเดือนมีจำนวนลดลง ฉะนั้น ยิ่งเพิ่มจำนวนแท็กซี่ จึงอาจเป็นการเพิ่มปัญหามากกว่าแก้ปัญหา นอกจากนี้ พวกคนขับแท็กซี่ก็ไม่แน่ว่าเขาเหล่านั้นจะขอใช้สิทธิ์หรือไม่ เพราะคนขับแท็กซี่จำนวนมากอาจเห็นว่า “เช่า” ดีกว่า “ซื้อ” ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องซ่อม ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องหนี้สิน

และที่นายกฯ บอกว่าจำนวนแท็กซี่จะไม่เพิ่มขึ้นนั้น คงไม่เป็นความจริง เพราะคนขับรถแท็กซี่ที่ขับมาแล้วเกิน 3 ปี หากตกลงซื้อรถใหม่ สำหรับรถเก่านั้น เจ้าของอู่คงไม่เอาไปเลหลังทำเศษเหล็กอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ ปัญหาอย่างหนึ่งของคนขับแท็กซี่ก็คือ “รถเยอะ” แย่งผู้โดยสารกัน

จัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ว่ากันว่ามาตรการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับพี่วินฯ 1 พันบาทต่อเดือน จะว่าไปแล้วนโยบายนี้เหมือนจะทำได้ แต่ทำยาก ดูจากผลงานรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการขายเสื้อวินหรือการใช้เทคนิคเปลี่ยนป้ายดำเป็นป้ายเหลืองเพื่อให้ถูกกฎหมาย โดยปัจจุบันพี่วินฯ ยังต้องมีค่าใช้จ่ายรายวันยิบย่อย ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ ค่าคิวรายวัน ฯลฯ เพื่อหัวหน้าวินจะได้สำรองไว้เคลียร์กับเจ้าหน้าที่… ปัญหาของมอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นเรื่องผู้มี “อิทธิพล” ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นพวกทหารและตำรวจนอกแถว ที่มาคอยเก็บส่วย ตรงนี้ถ้าแก้ไม่ได้ มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ยังต้องจ่ายหนักเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ดีของมาตรการนี้ก็คือทำให้ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” เป็นอาชีพถูกกฎหมาย แต่อยู่ที่ว่าอภิสิทธิ์จะเคลียร์กับพี่ “มาเฟีย” คนมีสีได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง

เพิ่มจุดผ่อนปรน -ลดอาชญากรรม 20% ใน 6 เดือน

มาตรการนี้น่าจะทำให้เมืองหลวงน่าอยู่ เพราะต่อไปนี้พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย 2 หมื่นรายที่อยู่นอกพื้นที่ผ่อนผัน จะถูกจัดพื้นที่เป็นระเบียบให้มาขายของได้ในพื้นที่ผ่อนผันเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนอกระบบ แต่มาจ่ายค่าเช่าตามระบบเหมือนเดิม ปัญหาสำคัญที่ควรแก้น่าจะเป็นระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมากกว่า เหมือนกับปัญหาของพี่วินฯนั่นแหละ พี่มาร์คไปเคลียร์กับพวกพี่ๆ มาเฟียเทศกิจให้ได้ก่อนจะดีกว่า

ส่วนมาตรการลดอาชญากรรมในกรุงเทพ 20% ใน 6 เดือนถือเป็นเรื่องที่ดีหากสามารถทำได้ เพราะการเปิดเผยข้อมูลทั้งหลายในประเทศไทยก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เรื่องอาชญากรรม ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดการอยู่แล้ว...

ยกเลิกตรึงราคา LPG ภาคอุตสาหกรรม

สำหรับการตรึงราคาแก๊ส “LPG” ที่รัฐเลือกอุ้มไว้ให้ภาคขนส่งกับครัวเรือนนั้น นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่าการลอยตัวราคาแก๊สแอลพีจีจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม และท้ายที่สุดจะกลับมากระทบต่อราคาสินค้าและผู้บริโภค รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องออกมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนอุปกรณ์เชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี รวมถึงควรประเมินผลจากการดำเนินการก่อนประกาศเป็นนโยบายถาวร

และทันทีที่รัฐบาลประกาศ พนักงานจากโรงงานเซรามิกในจังหวัดลำปางกว่า 60 คน ก็รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกในพื้นที่จังหวัดลำปางกว่า 300 แห่ง ที่จะได้รับผลกระทบ จนถึงขั้นขาดทุน และทำให้แรงงานในกระบวนการผลิตเซรามิกกว่า 40,000 คน ต้องตกงาน เนื่องจากการไม่อุดหนุนการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมส่งผลทำให้ราคาก๊าซขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นทันที และจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จนอาจทำให้โรงงานต้องทยอยปิดตัวลงอย่างแน่นอน... มาตรการนี้ ยังไม่ทันเริ่มต้นก็มีปัญหาเสียแล้ว

คนจนใช้ไฟฟรีถาวร

มาตรการนี้ทำให้เกิดภาระ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อมอบให้ 9.1 ล้านครัวเรือน เม็ดเงินที่ว่านั้น ท่านนายกฯ บอกว่าจะเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้ามาก ด้วยการปรับสูตรการคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าเสียใหม่ ใครใช้มากก็จ่ายมาก ดูเผินๆ ก็ดี แต่อย่าลืมว่าจำนวนสัดส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ มาจากภาคอุตสาหกรรม แล้วเมื่อต้นทุนเพิ่ม ของขึ้นราคา สุดท้ายภาระค่าไฟที่เพิ่มจะไปตกอยู่กับใคร ดังนั้น มาตรการของรัฐต้องเข้าไปช่วยคนยากจนให้ได้อย่างแท้จริง มาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่ควรใช้เป็นมาตรการทั่วไป ควรจะเปิดให้คนจนมาลงทะเบียนเพื่อได้สิทธิในมาตรการนี้เท่านั้น

ลดต้นทุนอาหารสัตว์และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

ขณะที่มาตรการ “ลดต้นทุนการเกษตร” ในส่วนของอาหารสัตว์ พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์สัตว์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในราคาถูกลง โดยรัฐต้องแก้ปัญหาการผูกขาดให้ได้ก่อน เพราะเศรษฐกิจไทยเดินหน้าด้วยนายทุนมาตลอด ดังนั้นต้องใช้ยุทธวิธีที่มีคุณภาพพอสมควร โดยสังคมไทยรับรู้มาตลอดว่าปศุสัตว์มีผู้ผูกขาดสินค้าอยู่ไม่กี่บริษัท ครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่การจำหน่ายพันธุ์สัตว์ อาหาร รวมถึงการเปิดตลาดรองรับ ทำให้การควบคุมราคาตลาดขึ้นอยู่กับนายทุน ที่ผ่านมา หากเกษตรกรรายย่อยไม่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเข้าไปเปิดโต๊ะเจรจานั้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะต่อรองราคาตามที่ต้องการได้

นอกจากนี้ ควรให้มีการวิเคราะห์แนวโน้มราคาที่จะขึ้นหรือลงของสินค้า ทำคล้ายๆ กับตลาดหุ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหรือต้นทางในการแก้ปัญหานี้ สำคัญอยู่ที่ “ทุนผูกขาด”

ไข่ไก่ขายเป็นกิโล

และถ้าหากจะพูดถึงความ “ไม่มีอะไรใหม่” 1 ในนโยบายประชาวิวัฒน์ 9 ข้อที่เกี่ยวกับการจำหน่าย “ไข่ไก่” โดยให้เปลี่ยนจากการคัดไข่ไก่ออกจำหน่ายเป็นเบอร์ จาก 0 - 5 เปลี่ยนเป็นการ “ชั่งน้ำหนักไข่” ขายแก่ผู้บริโภคเป็นกิโลกรัมแทนนั้น ก็ “ไม่ใช่เรื่องใหม่” เพราะ10ปีที่แล้ว ทางสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ ได้เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภค จนต้องยกเลิกไป

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยในการคิดนโยบายเกี่ยวกับการลดต้นทุนในการจำหน่ายไข่ไก่ของทางรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งตนอยากจะเสนอให้ผู้ประกอบการนั้นสามารถตั้งร้านค้าเสรีได้ เพื่อผู้บริโภคจะได้ซื้อราคาไข่ไก่ในราคาถูก

แต่ไม่เห็นด้วยกับการชั่งไข่ขายเป็นกิโลกรัม เพราะผู้บริโภคอาจจะได้ไข่เบอร์เล็กปะปนไปกับเบอร์ใหญ่ด้วย ซึ่งบางทีผู้บริโภคอาจจะต้องการไข่ตามเบอร์มาตรฐานที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ได้กำหนดเอาไว้ เช่น ตามสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือ ร้านอาหารที่จำเป็นต้องใช้ไข่ไก่ในเบอร์เดียวกัน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการขายอาหารกับผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่ง ก็ต้องการไข่เบอร์ที่ถูกที่สุดเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย กำไรจะได้มากขึ้นอีกนิด

ทั้งนี้ รัฐบาลน่าจะไปช่วยลดราคาอาหารไก่ ซึ่งปัจจุบันราคาสูงมากเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ไข่อยู่ได้และสามารถขายไข่ให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรมได้

แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคม

สำหรับมาตรการ “แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคม” ก็นับว่ามีประโยชน์ และสร้างสรรค์ แตกต่างจากนโยบาย "ลด-แลก-แจก-แถม" หรือนโยบาย "ประชานิยม" ของระบอบทักษิณ ที่คงจะใช้เงินภาษีอากรจ่ายแทนประชาชนที่ต้องการได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ได้รับผลประโยชน์มีความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งหากทำเช่นนั้น จะไม่มีความยั่งยืน

ทั้งนี้ นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการประกาศมาตรการดังกล่าว แม้ว่าจะยังไม่ดีมากนักและไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ทว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ควรเก็บเงินสมทบกับแรงงานนอกระบบให้น้อยลงและให้รัฐบาลเข้ามาร่วมจ่ายมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม นอกจากนี้อยากเปลี่ยนจากสิทธิ์บำเหน็จชราภาพมาเป็นบำนาญชราภาพ เนื่องจากเงินบำนาญถือเป็นหัวใจสำคัญของแรงงานนอกระบบในการดำรงชีวิตในสังคม

อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าทั้ง 9 มาตรการที่กล่าวมานั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน ง่ายๆ คือมีเป้าหมายพุ่งตรงไปที่กลุ่ม “รากหญ้า” เพื่อให้คนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้มีความ “พึงพอใจ” จากเดิมที่พวกเขาเคยผูกพันมัดใจอยู่กับเสี่ย “แม้ว” ให้เปลี่ยนใจหันมาผูกสมัครรักใคร่อยู่กับเสี่ย “มาร์ค” ที่แจกไม่อั้นเช่นกัน (แถมยังรูปหล่อกว่า)

แต่ของฟรีไม่มีในโลก!?

เพราะสิ่งที่เราได้มานั้นมันมักต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่างเสมอ เช่นกัน, การออกนโยบายเที่ยวนี้บังเอิญว่าเริ่มทยอยมีผลตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป บางอย่างต้องรอการออกระเบียบ แก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายมารองรับก่อน เช่น ขยายสวัสดิการด้านการประกันสังคม กองทุนเงินออม การอุดหนุนพลังงาน เป็นต้น ซึ่งก็บังเอิญไปตรงกับกำหนดการเลือกตั้งใหม่พอดี ซึ่งมันก็ไม่ต่างกับการ “มัดจำ” หรือหาเสียงล่วงหน้า สร้างหลักประกันเอาไว้ก่อน

คล้ายๆ กับมีเงื่อนไขว่า ถ้าอยากให้โครงการนี้เดินหน้าต่อ ต้องเลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อเข้ามาสานต่อโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วง แต่ถ้าไม่เลือกเข้ามาก็ “อด!”
กำลังโหลดความคิดเห็น