xs
xsm
sm
md
lg

กมม.จวกประชาวิวัฒน์ ติดสินบนทางนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กมม.จวกเข้าข่ายติดสินบนทางนโยบาย“มาร์ค” เปิดขวัญประชาวิวัฒน์ ประเคน 2 พันล้าน หาเสียงก่อนเลือกตั้ง ผู้ประกอบการอุตฯเซ็ง! รัฐเรียกเก็บค่าไฟเพิ่ม หนุน 9.1 ครัวเรือนใช้ “ไฟฟรีถาวร” ไอเดียกระฉูด ขาย “ไข่”เป็นกิโลฯ นำร่อง “มีนบุรี-รังสิต” เตรียมเสนอครม.11 ม.ค.นี้

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ ( 9 ม.ค.) ตึกสันติไมตรี นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายรัฐมนตรี แถลงนโยบายปฏิบัติการ แถลงนโยบายปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อ ในรายการเชื่อมั่นกับนายกฯ โดยนายกฯ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน คลอบคลุมหลายๆด้าน ทั้งเรื่องการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การลดค่าน้ำ ค่าไฟ การเข้าถึงสินเชื่อ และ เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นายกชี้แจงด้วยว่า 9 มาตรการที่ประกาศ ไม่ใช่ทุ่มเงินลดแลกแจกแถม แต่แก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ใช้งบ 2 พันล้าน แต่ได้ประโยชน์ 2 หมื่นล้าน

สำหรับของขวัญชิ้นแรกรัฐบาลจะเปิดทางเลือกให้ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จ่ายเงิน 100/150 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยเสียชีวิต รวมถึงเบื้ยชราภาพ หรือประชาชน จ่าย 70 บาทรัฐสมทบ 30 บาทหรือ จ่าย 100 บาทรัฐสมทบ 50 บาท กรณีหลังจะประกันกรณีชราภาพด้วย ชิ้นที่2 การเข้าถึงสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษให้กับแท็กซี่ และ หาบเร่แผงลอย นายกฯเชื่อจะเป็นลูกค้าดีของสถาบันการเงิน เพราะมีรายได้ชัดเจน ของขวัญชิ้นที่ 3ขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์ รับจ้าง จัดทำบัตร ให้เบอร์เสื้อวินจยย. แจกหมวกนิรภัย,ปรับปรุงวิน การทำบัตรจะนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการ

ของขวัญชิ้นที่ 4 เพิ่มจุดผ่อนปรนให้หาบเร่แผงลอย หวังลดรายจ่ายนอกระบบ และ จะจัดโซนการค้าให้เป็นระบบระเบียบ แต่จะไม่กระทบผู้ใช้ทางเท้า ของขวัญ ชิ้นที่5 นำเงินกองทุนน้ำมัน ตรึงราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง แต่จะเลิกอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ของขวัญชิ้นที่ 6 ลดการจัดเก็บค่าไฟ กับผู้ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยแบบถาวร ไม่ใช้เงินภาษี แต่จะปรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใครใช้ไฟฟ้ามากก็จ่ายมาก ของขวัญชิ้นที่ 7 หาทางลดต้นทุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์ และ พ่อพันธ์แม่พันธุ์ ปรับรูปแบบไข่ไก่ขายโดยการชั่งกิโล ของขวัญชิ้นที่8 กรณีราคาไข่ไก่ จะนำร่องซื้อขายเป็นกิโลฯ เพื่อประหยัดค่าคัดแยกได้ถึง 50 สต. โดยเริ่มทดลองในเขตมีนบุรี ของขวัญชิ้นที่ 9 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งเป้าลดให้ได้ 20 % ใน 6 เดือน เพิ่มกล้องวงจรปิด-บุคลากร บูรณาการทำงาน

สำหรับของขวัญ ทั้ง 9 ที่นายกฯประกาศ จะเสนอครม.11 ม.ค. และ จะตั้งคณะทำงานศึกษา เห็นผลตั้งแต่มกราคมนี้ ใช้งบ 2,000 กว่าล้านบาท

**“มาร์ค” ปัดหาเสียงล่วงหน้า

นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกเรื่องต้องเดินหน้าทันที เพียงแต่ว่าบางเรื่องต้องไปปรับแก้กฎระเบียบ หรือบางกรณีอาจต้องไปทำให้กฎหมายรองรับ และทุกเรื่องต้องเดินหน้าเลย ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักที่มีความสำคัญต่อประชาชน กระบวนการแบบนี้เราคิดว่าถ้าไปได้ดี อาจจะมีการหยิบยกเรื่องอื่นๆมาอีก ส่วนระยะเวลาที่จะทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน นั้นบางเรื่องสามารถทำได้ทันที แต่ช้าที่สุดคือเดือนก.ค.เมื่อถามว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเป็นครับ เพราะมีการดูอย่างดีก่อนที่จะกำหนดเป้าหมายอย่างนี้

เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ที่มีคนบางมองว่าเป็นการปูพรมหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ารัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ประชาชน

**เด็จพี่ อัดแค่ต่อยอดจากเอื้ออาทร

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ ๆให้กับประชาชนเลย เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำออกมานั้นไม่ได้แตกต่างจากโครงการเอื้ออาทรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ทำเพื่อการซื้อเสียงอย่างชัดเจน เหมือนเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าเท่านั้น

โครงการที่รัฐบาลพยายามทำนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรที่จะทำมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพิ่งจะมาคิดที่จะทำ ตนจึงอยากถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเอาเวลาไปทำอะไรที่จะมาคิดว่า ประชาชนและนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯรวมกว่า 10 ล้านคนจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น

**นักวิชาการอัดไม่ช่วยโกยคะแนน

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายนี้ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับประเทศ แต่เป็นเพียงการแบ่งเบาภาระ ซึ่งหวังผลทางการเมือง แต่มีจุดดี คือ ให้บุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระสามารถเข้าสู่ระบบสวัสดิการสังคมได้ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่ามีความแตกต่างจากระบบประกันสุขภาพ หรือ บัตรทองอย่างไรบ้าง

“โครงการดังกล่าวยอมรับว่าเน้นในส่วนของภาคเศรษฐกิจ ให้คนได้ประโยชน์ในระยะสั้น คือ มีความมั่นคง แม้จะตกงานแต่ก็ยังมีระบบที่ดูแล แต่ในระยะยาวบุคคลที่ลงทะเบียนเพื่อยอมรับการเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะหลีกเลี่ยง หรือ หลบเลี่ยงการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงจัดเก็บรายได้ไม่ได้ ดังนั้นประชาชนที่ต้องการมีหลักประกันทางด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องยอมรับการถูกแทรกแซง การจัดระเบียบโดยภาครัฐมากขึ้น” นายพิชญ์ กล่าว

ขณะที่การตรึงค่าแก๊ซหุงต้ม หรือไม่เก็บค่าไฟครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกินกำหนด ถือว่าเป็นคนละเรื่องกับการส่งเสริมโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโต แม้ประชาชนจะลดรายจ่าย แต่ไม่สามารถหาเงินเข้ากระเป๋าเพิ่มขึ้น ที่สำคัญกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ฐานการเมืองพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง ดังนั้นประเด็นนี้ประชาชนจึงคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนควรได้รับ แต่ถูกพรากไปตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

**พผ.โวยรัฐบาลลำเอียงกระจุกในกทม.

น.พ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ โฆษกวอร์รูมพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า เท่าที่ได้ติดตามสรุปได้ว่าไม่แรง ไม่โดนใจ ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนกรุงเทพฯ ส่วนคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกรแทบไม่ได้รับอะไรเลย กล่าวคือ คนกรุงเทพได้ของขวัญ แต่คนไทยได้กล่องเปล่า

ตนคาดหวังกับการที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่านี้ ใน 7 ด้าน คือ 1. การลงทุนด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ 2.การศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับเด็กไทย 3.การปราบปรามยาเสพติด 4.การปราบปรามเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น 5.การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 6.การพัฒนาแหล่งน้ำให้กับภาคเกษตรกรรมทั่วประเทศ และ7.การแก้ไขปัญหาที่ดินที่ที่จริงจังเร่งด่วน

**กมม.จวกเข้าข่ายติดสินบนทางนโยบาย

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (กมม.) แถลงว่า แม้หลายมาตรการจะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะคนยากจนด้อยโอกาสก็ตาม แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งรัฐบาลคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหวังคะแนนเสียงทางการเมือง เพราะมาตรการเหล่านี้ประกาศออกมาพร้อมๆ กับการกำหนดช่วงวันเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในกรอบ 6 เดือนพอดี ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลมาตรการเหล่านี้ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลชุดหน้าจะรับช่วงต่อ ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะใช้นโยบายประชาวิวัฒน์ไปขอโอกาสจากคนจนให้เลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ทั้ง 9 มาตรการจริงๆ แล้ว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ และถือเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลชุดนี้ที่บริหารแผ่นดินมากว่า 2 ปีเข้าสู่ ปีที่ 3 คือการริเริ่มหรือวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาความยากจนในระดับโครงสร้าง ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

ฉะนั้นประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลประชาธิปัตย์กับประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ต่างกันแค่ภาษาแต่มีรากฐานความคิดเดียวกันคือ มุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หวังผลทางการเมือง ละเลยการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง จึงไม่แปลกที่ทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์และรัฐบาลทักษิณเลือกที่จะไม่ดำเนินการในเรื่องของการกระจายอำนาจ การกระจายรายได้ การปฏิรูปที่ดิน การจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เพราะเกรงว่าจะกระทบกับกลุ่มอำนาจธุรกิจการเมืองที่คอยค้ำอำนาจรัฐบาลอยู่ จึงใช้วิธีผลิตนโยบายง่ายๆ เพื่อเล่นกับปัญหาเฉพาะหน้าของคนจน ด้วยการซื้อใจคนจน และให้คนจนรอพึ่งพิงรัฐบาลอย่างเดียวพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ซึ่งเข้าข่ายติดสินบนในระดับนโยบาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น