xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ฟุ้งแผนปฏิรูปประกันสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกฯ ย้ำ รัฐเดินหน้าปฏิรูประบบประกันสังคม ให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี-มีหลักประกันความมั่นคง ระบุ ทุกภาคส่วนต้องกลับแนวความคิด ให้มองค่าใช้จ่าย - สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานถือเป็นการลงทุนเรื่องคุณภาพแรงงาน

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดพร้อมกล่าวปาฐกถาในงานสมัชชาแรงงาน : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดโดยคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่าวพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสมัชชาแรงงานฯ พร้อมปาฐกถาตอนหนึ่ง ว่า ผู้ใช้แรงงานถือได้ว่าเป็นกำลังหลักในทางเศรษฐกิจของประเทศ มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นจากวิกฤตการณ์สำคัญๆ ในอดีตครั้งจนถึงทุกวันนี้ และจากที่หลายภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ ก็มีความมั่นใจว่าการจัดงานสมัชชาจะเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญในการได้ข้อยุติร่วมกันถึงการเดินหน้าในการปฏิรูประบบประกันสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

นายกฯ กล่าวว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเข้ามารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงที่ได้รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง ขณะนั้นพูดถึงการจัดทำวาระประชาชน ได้มีโอกาสพบปะกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานในหลายพื้นที่ ซึ่งได้สะท้อนความเห็นว่าทั้ง ๆ ที่มีระบบประกันสังคมอยู่ แต่ก็ขาดความรู้ ความเข้าใจว่าในการบริหารจัดการของระบบประกันสังคม ที่แต่ละเดือนถูกหักเงินเข้าสมทบกองทุนในขณะที่สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับมักจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ นอกจากนั้นจากการที่ได้เฝ้าติดตามเรื่องระบบประกันสังคมมากว่า 20 ปี ก็พบว่า ความพยายามที่จะขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน ก็สามารถดำเนินการขยายได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อรัฐบาลเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการของระบบประกันสังคม ทั้งการขยายความคุ้มครองถึงบุตร คู่สมรส ของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การสร้างความมั่นคงในชีวิตทางด้านรายได้ และการมีสวัสดิการทางสังคมที่ดี ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และทำการปรับปรุงระบบการประกันสังคมมาโดยตลอด

นายกฯ กล่าวถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบันโดยมองจากภาพรวมบทบาทของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและจากแนวโน้มต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจว่ามีมี 4 ประการคือ ประการแรก เศรษฐกิจไทยเติบโต และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งลักษณะของการมีแรงงานถูก ขาดสวัสดิการ โดยมองว่าเรื่องของแรงงานเป็นเรื่องของต้นทุน ในทางตรงกันข้าม เราเข้าสู่จุดที่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมของไทยแข่งขันบนเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพ ซึ่งการแข่งขันด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ย่อมหมายถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของผู้ใช้แรงงาน ฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนไปยังทุกภาคส่วนว่าต้องกลับแนวความคิด ไม่ควรมองค่าใช้จ่าย หรือสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเป็นเรื่องของต้นทุน แต่ต้องมองเป็นการลงทุนในเรื่องของคุณภาพแรงงานเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีหลักประกัน มีความมั่นคง มีแรงจูงใจในการที่จะเป็นกำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพของเศรษฐกิจไทยและของประเทศไทย

นายกฯ กล่าวต่อว่า ประการที่สอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งของไทย และของโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ลักษณะของการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป เส้นแบ่งของแรงงานในระบบกับนอกระบบ และเส้นแบ่งระหว่างการเป็นผู้ประกอบการอิสระกับการเป็นแรงงานอิสระ นับวันต้องยอมรับว่าขีดเส้นได้ยากมาก ฉะนั้นประชาชนในกลุ่มดังกล่าว จะต้องได้รับการดูแลและเข้ามาสู่ระบบของการคุ้มครอง และระบบของสวัสดิการให้ได้โดยเร็ว ประการที่สาม ต้องยอมรับว่าด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ สังคม และค่านิยม บทบาทแรงงานข้ามชาติในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายอุตสาหกรรมในภาคเศรษฐกิจของเราขณะนี้ประสบปัญหาความยากลำบากในการจ้างแรงงานไทย เราจึงไม่อาจปฏิเสธบทบาทแรงงานข้ามชาติในระบบเศรษฐกิจของเราได้ เพราะฉะนั้น การกำหนดแนวทางกติกาของการอยู่ร่วมกันกับแรงงานข้ามชาติ เป็นประเด็นที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ประการที่สี่ สังคมไทยของกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ในขณะที่หลักประกันในเรื่องของชราภาพมีอยู่เฉพาะในระบบของราชการ และในระบบประกันสังคมซึ่งยังครอบคลุมเพียงคนส่วนน้อยในสังคม

“แนวโน้มทั้งสี่ประการนี้ คือโจทย์ที่เป็นตัวกำหนดกรอบความคิดของรัฐบาลในปัจจุบันว่าจะต้องเดินหน้าในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่สังคม และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร ฉะนั้นข้อเสนอที่เป็นข้อเรียกร้องทั้งในเรื่องการขยายการครอบคลุมของประกันสังคมก็ดี ทั้งในเรื่องความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการของกองทุนประกันสังคมก็ดี และการปฏิรูปในภาพรวม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ผมถือว่าเป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการ” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินไปในหลายจุด แม้อาจจะไม่ครอบคลุมทุกประเด็น แต่ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการที่มีแนวทางและหลักการค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องและแนวคิดต่างๆ โดยล่าสุด ที่มีการประกาศเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะคือปฏิบัติการเร่งด่วน ที่จะมีการปรับปรุงเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมในปัจจุบันเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมได้ ซึ่งกระบวนการของการทำงานด้านนี้ รัฐบาลได้เข้าไประดมความคิดเห็นและสัมผัสโดยตรงกับผู้เกี่ยวข้อง โดย อาจารย์สังศิต วิริยะรังสรรค์ เป็นผู้ที่ดำเนินการในเรื่องนี้และได้แลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าที่ผ่านมามาตรา 40 มีข้อจำกัดอย่างไร กติกาที่เคยกำหนดไว้ในเรื่องการส่งเงินสมทบมีปัญหาไม่สามารถจูงใจผู้ที่อยู่นอกระบบอย่างไร ซึ่งก็เป็นที่มาของข้อเสนอที่จะผู้อยู่นอกระบบสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ โดยจ่ายเงินต่อเดือนไม่เกิน 100 บาท

นายกฯ กล่าวถึงในส่วนของการบริหารจัดการซึ่งเป็นความต้องการที่จะเห็น หลักธรรมาภิบาลเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมและความเป็นอิสระนั้น ยืนยันว่าเป็นหลักคิดที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการจะเดินไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอกฎหมายที่จะปรับปรุงโครงสร้างกองทุนประกันสังคมมาที่คณะรัฐมนตรี แต่ขณะนั้นมุ่งประเด็นในเรื่องที่จะให้เป็นนิติบุคคล แต่เหตุผลที่คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วยในขณะนั้นก็คือ เพราะเห็นว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความเป็นอิสระของตัวหน่วยงาน ที่ควรจะได้มีการปรับปรุง เพราะฉะนั้นขณะนี้ในส่วนของกระทรวงเองก็กำลังมีการพิจารณาในเรื่องของโครงสร้างที่จะเป็นอิสระ ซึ่งเข้าใจว่ากฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเปิดช่องที่จะให้มีการปรับปรุงในเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกัน

นายกฯ กล่าวยืนยันว่า ในฐานะของฝ่ายบริหาร ได้มองเห็นเรื่องการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นวาระสำคัญ ได้ตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มอื่นๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันความมั่นคงทางสังคม ซึ่งตนได้ประกาศไปแล้วว่าต้องการที่จะเห็นระบบสวัสดิการสังคมของเรามีความสมบูรณ์ภายในปี 2559 อันเป็นก้าวสำคัญและถือว่ากลไกของประกันสังคมมีหลักการที่ถูกต้อง คือการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และการวางแผนที่จะต้องครอบคลุมไปถึงระยะยาว มีความยั่งยืนในเรื่องฐานะการเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน

นายกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากจะเห็นบรรยากาศของความร่วมมือร่วมแรงในการทำเรื่องนี้ เป้าหมายสุดท้ายไม่ใช่ประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เราไม่มีทางมีเศรษฐกิจสังคมที่แข็งแกร่ง ถ้าคนของเราขาดหลักประกัน ขาดความมั่นคง ขาดสวัสดิการที่ดี ซึ่งหลักการตรงนี้ไม่ใช่หลักการของการที่รัฐบาลมาหยิบยื่น มาแจกเงิน แต่เป็นหลักการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักประกันของความยั่งยืนและธรรมาภิบาลในเรื่องนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดสมัชชาในวันนี้จะนำมาสู่การมีข้อสรุป ข้อยุติที่สร้างสรรค์เพื่อผลักดันวาระสำคัญของประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่นายกฯ กล่าวเสร็จสิ้น แกนนำผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกันยื่นเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคมต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาคือ 1.สปส.เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายรัฐ 2.ต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตน มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหาร และบริหารโดยมืออาชีพ 3.ขยายสิทธิประโยชน์และครอบคลุมคนทำงานในทุกกลุ่มอาชีพ อย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและเป็นระบบที่ยั่งยืน 4.ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีสิทธิเข้ารักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมได้ทุกแห่งทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น