xs
xsm
sm
md
lg

เตมูจินถึงร้อยเอ็ด (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: จีระเดช ดิสกะประกาย


ในช่วงเรียบเรียงประวัติศาสตร์ชาติไทยเพื่อจะได้เป็นหลักวิชาการสำหรับชาวไทยในยุคนั้น บังเอิญเหลือเกินที่เป็นช่วงชาตินิยมอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน นำไปถึงแนวคิดที่เรียกว่าศิวิไลซ์ขั้นสุดโต่งทีเดียว ถึงกับหาญกล้าเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นประเทศไทย โดยอาศัยปัญญาของตะวันตกมาใช้และหารู้ไม่ว่าตะวันตกและตะวันออกต่างมีตรรกในแนวคิดจากฐานที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็ทำให้คณะท่านผู้นำในสมัยนั้นสบโอกาสในการวางรากฐานแห่งประวัติศาสตร์ของชาติด้วยตนเองแบบเบ็ดเสร็จ ทิ้งปัญหามาให้ลูกหลานสะสาง ซึ่งก็นับว่าเป็นกรรมอย่างยิ่งของผองไทยสยามยิ่งนัก หลักใหญ่ๆ สมัยนั้นคือการนำประวัติศาสตร์มาใช้ในการตลาดที่เรียกกันสมัยนี้ว่าโปรโมชันอย่างแยบยล โดยมีประสิทธิผลในทางการเมือง โดยอาศัยหลักง่ายๆ ดังนี้

* การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์-ใช้คำพูดง่ายๆ คือ ไทยโดนเจ๊กรุกรานไล่มาจนเกือบตกทะเล เราจึงต้องระแวดระวังทั้งเจ๊กนอกเจ๊กใน ต้องกีดกันบีบบังคับให้ออกนอกประเทศไป ผลก็เป็นไปตามคาดที่ชาวจีนผู้มีอันจะกินหลายคนต้องระเห็จไปกบดานที่ฮ่องกงเป็นสิบๆ ปี

* การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว-ใช้การสร้างความเชื่อที่ว่าไทยเป็นชนชาติที่มีมาแต่โบราณกาล มีสายเลือดแห่งความเป็นไทยเต็มเปี่ยม เป็นสายพันธุ์ที่รักสงบแต่กล้าหาญในการรบ ชาติข้างเคียงเคยเป็นประเทศราชของเรามาแล้วทั้งนั้น ฉะนั้นเราจะต้องเป็นหนึ่งเดียวในแหลมทอง ผลเป็นอย่างไรเราก็ดูกันเองในปัจจุบันก็แล้วกัน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่น้อยนิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ของเรา ดังนั้นความสับสนจึงเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ จนเกือบจะแก้ไขไม่ทัน

ในหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของชนชาติลาว” โดย “บุนมี เทบสีเมือง” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย “ไผท ภูธา” ได้กล่าวถึงชนชาติดั้งเดิมในสุวรรณภูมิไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ในความเห็นของ ท่านสุวันนะลาด ไชยะวง อดีตนักศึกษาชั้นปริญญาเอกจากประเทศฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ว่า “อาจารย์บุนมี กล่าวว่า คำว่า “ไท” เดิมนั้นไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติหรือชนชาติ มีแต่คำว่า “ลาว” เท่านั้น เป็นชื่อดั้งเดิมของชนชาติลาวหรือ “ลาว-ไท” ส่วนคำว่า “สยาม” นั้น เป็นชื่อที่ขอมเรียกอาณาจักรทวารวดีว่า “สยาม”

...สำหรับคำที่คนลาวเรียกกันว่าไทบ้านนั้น ไทเมืองนี้ นั้นเป็นการให้เกียรติกันว่าลาวไม่ใช่ทาสของบ้านนั้นเมืองนี้เท่านั้นเอง สำหรับคนสยามได้เปลี่ยนนามมาเป็นไทย ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนจะเปลี่ยนมาด้วยเหตุผลอย่างไรข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจ ถ้าเราใจกว้างพอก็อาจจะถึงบางอ้อว่า คำว่า “ไท” แปลว่าคน ..... เท่านั้นเอง

ขอย้อนกลับไปหาเตมูจินสักหน่อยว่า ขณะที่จอมคนผู้นี้รวบรวมชาติมองโกลเป็นปึกแผ่น มั่นคง กรุงสุโขทัยยังเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของขอม แต่ในภาคอีสานของไทยยังเป็นดินแดนลาวอยู่นั้น มีบันทึกไว้ในหนังสือตำนานอุรังคธาตุว่า

“ในเขตลุ่มแม่น้ำมูลมีนครรัฐแห่งหนึ่ง เมืองหลวงชื่อว่า เมืองสาเกด มีเจ้าผู้ปกครองนครนามว่าพระยาอมรมณี พระยาอมรมณีมีโอรสองค์หนึ่งนามว่า เจ้าสุริยะกุมาร เกิดเมื่อ พ.ศ. 3 พระยาอมรมณีเป็นสหายรักกับพระยาโยธาธิกาภากาแห่งเมืองกุรุนทะนครหรือเมืองศรีอยุธยา .........กาลเวลาผ่านไปไม่นานนักเมืองสาเกดเจริญรุ่งเรืองกว้างใหญ่ไพศาล ได้รวมอาณาจักรเดียวกันกับเมืองกุรุนทะนครหรือเมืองศรีอยุธยา มีหัวเมืองต่างๆ ร้อยเอ็ดหัวเมืองมาเป็นหัวเมืองส่งส่วยด้วยเหตุนี้เมืองสาเกดจึงมีชื่อสร้อยว่า “เมืองสาเกดร้อยเอ็ดประตู” ส่วนเมืองศรีอยุธยาได้นามต่อท้ายว่า “เมืองศรีอยุธยาทวารวดี” อันมีความหมายถึงประตูคล้ายๆ กัน บทความนี้มองได้สองประเด็นแปลกๆ ถ้าบันทึกมาจากเหตุการณ์จริง นั่นคือ

* เมื่อ พ.ศ. 3 พื้นที่สุวรรณภูมิมีนครรัฐเป็นปึกแผ่นเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยมองโกลขับไล่ให้ลงมา ดังนั้น ความเก่าแก่ของแผ่นดินที่สะท้อนให้เห็นชุมชนโบราณในบริเวณนี้ น่าจะมีมานานกาเลแล้ว

* ถ้าเคลิ้มไปสักหน่อยก็คงจะหลงว่า กุรุนทะนครหรือเมืองศรีอยุธยาคือพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน เมื่อหลายปีมาแล้วผมเคยคุยกับอาจารย์ทิวา ศุภจรรยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่เมืองโบราณในสุวรรณภูมิ ท่านกล่าวว่า บางแห่งบางเมือง ถ้าพิจารณาตามภาพถ่ายทางอากาศจะพบว่ามีเมืองซ้อนเมืองอยู่มากมาย ดังนั้น กุรุนทะนครก็อาจเป็นหนึ่งในหลายเมืองที่ทับถมกันอยู่ใต้พระนครศรีอยุธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร ฯลฯ ก็ได้

ในหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของลาวหลายเล่มกล่าวถึงเมืองร้อยเอ็ดว่าเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในอดีตของลาว ดังนั้น ถ้าร้อยเอ็ดเป็นเมืองเดียวกับสาเกด ก็อาจจะทำให้เราเดินเข้าสู่การไขประตูสำคัญของประวัติชนชาติลาว-ไท ที่ออกจะน่าทึ่งทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น