xs
xsm
sm
md
lg

จากนครนายกสู่สระแก้ว ตามรอยทวารวดีสู่ขอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ตะลอนเที่ยว (travel_astvmgr@hotmail.com)
ปราสาทสด๊กก็อกธม
จากความทรงจำครั้งเมื่อนั่งเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ง่วงบ้าง หลับบ้าง ก็เป็นธรรมดาของเด็กๆ ซึ่งอาจเห็นว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านกระดานดำนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะพามาย้อนรอยประวัติศาสตร์ ตามหาอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่น่าเบื่อ โดยเริ่มต้นตั้งแต่จังหวัดนครนายก มาถึงจังหวัดปราจีนบุรี และปิดท้ายด้วยจังหวัดสระแก้ว ทั้ง 3 จังหวัดนี้มีร่องรอยของประวัติศาสตร์สมัยทวารวีมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 และอาณาจักรขอมที่มีความเจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 โดยทั้งสองมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ
ศาสนสถานเมืองดงละคร
เริ่มกันที่จังหวัดนครนายกกันก่อน เมืองนี้เคยเป็นที่ตั้งของ “เมืองดงละคร” เมืองโบราณสมัยทวารวดีซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ดงละคร ปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งโบราณสถานบ้านดงละคร โดยกรมศิลปากรได้มีการสำรวจและขุดค้น ต่อมาจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ความน่าสนใจของเมืองดงละครนั้นเริ่มต้นในพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 เริ่มมีคนกลุ่มคนอพยพเคลื่อนย้ายลงสู่พื้นที่ราบลุ่มบริเวณตำบลดงละคร เพื่อขยายการเพาะปลูก โดยบริเวณเมืองโบราณดงละครนั้นพบร่องรอยการอยู่อาศัยบนเนินดินขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ บริเวณเมืองชั้นใน เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ มีการขุดคูเมือง กำแพงเมือง เป็นปราการขนาดใหญ่ล้อมรอบ ภายในเมืองสันนิษฐานจำเป็นที่อยู่ของบุคคลสำคัญส่วนราษฎรจะอยู่อาศัยบริเวณชายขอบดงละครริมลำน้ำเก่ารอบๆ ดงละคร
เสาหลักเขตใต้ดิน
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 เริ่มมีการซึมซับเอาวัฒนธรรมจากทวารวดีเข้ามาอย่างเห็นได้ชัด โดยเห็นได้จากหลักฐานของโบราณวัถตุจำพวกเสาหลักเขต ศิวลึงค์ โยนี ซึ่งเป็นที่เคารพของศาสนาฮินดู ศาสนาหลักของทวารวดีในสมัยนั้น ตลอดจนการก่อสร้างในสมัยทวารวดีที่ใช้ศิลาแลงและอิฐเผา แต่จะไม่ใช้หินเป็นวัตถุดิบเลย ซึ่งถ้าใครยังนึกภาพโบราณสถานสมัยศิลปะแบบทวารวดีไม่ออกก็ลองขับรถไปกราบไหว้พระปฐมเจดีย์ดูได้
สระแก้ว เมืองศรีมโหสถ
โบราณสถานที่ยังคงหลงเหลือในปัจจุบันนั้น เป็นศาสนสถานขนาดกลาง ก่อด้วยอิฐเผาอย่างดี แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาชมอาจจินตนาการถึงโบราณสถานที่นี่ว่าจะต้องเต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่อลังการ แต่สำหรับโบราณสถานในสมัยทวารวดีส่วนใหญ่จะสร้างแบบเรียบง่าย ไม่ใหญ่โต จะเน้นให้คนได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติเสียมากกว่า นอกจากนี้ยังค้นพบเสาหลักเขตที่ฝังอยู่ใต้ดิน สันนิษฐานว่าคล้ายกับการวางศิลาฤกษ์ในปัจจุบัน เพราะว่าบนเสานี้เองพบรอยประทับคล้ายรอยหัวแหวนรูปปู ซึ่งน่าจะเป็นแหวนที่กษัตริย์หรือราชวงศ์ในสมัยนั้นสวมใส่
แบบจำลองลายสลักรูปสัตว์
สำหรับพวกวัตถุโบราณที่ขุดค้นได้จากที่นี่ก็จะมีจำพวกพระพุทธรูป ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน แหวนสำริดต่างๆ และหลังจากที่ที่เมืองดงละครนี้รุ่งเรืองในยุคทวารวดีแล้ว ย่อมมีการเสื่อมถอยเป็นธรรมดา ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 จึงเป็นช่วงที่อารยธรรมแบบขอมที่เข้ามา ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกันกับเมืองศรีมโหสถ ในจังหวัดปราจีนบุรี และก่อนที่จะเดินทางต่อ

ทิ้งท้ายไว้สำหรับเรื่องเล่าของชาวบ้านเก่าแก่แถบนี้ที่เรียกเมืองดงละครนี้ว่า เมืองลับแล เมื่อถึงวันพระและวันโกน จะได้ยินเสียงบรรเลงของดนตรีไทยดังมาเป็นระยะ ใครที่ชอบท้าทายอาจหลงเข้าไปแล้วออกมาไม่ได้ ซึ่งทีมงานผู้ขุดค้นก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว
พระวิษณุจตุรภุช
ข้ามมายังจังหวัดปราจีนบุรี มายังเมืองโบราณที่ชื่อว่า “เมืองศรีมโหสถ” ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ เป็นอีกเมืองใหญ่ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง ถ้าดูจากความสัมพันธ์ทางอารยธรรมกับเมืองดงละครแล้ว จะอยู่ในช่วงรอยต่อที่คาบเกี่ยวกันระหว่างสมัยทวารวดีกับสมัยขอม และถูกเรียกว่า เมืองท่าแห่งลุ่มน้ำบางปะกง เหตุเพราะว่าเป็นเมืองที่รู้จักใช้เครื่องมือเหล็กและรู้จักวิธีการกักเก็บน้ำ ต่อมาสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความซับซ้อนขึ้นและขยายตัวจนเชื่อมสัมพันะไปยังเมืองท่าต่างๆ ในระแวกอ่าวไทย
ทับหลังและกรอบประตู
บริเวณภายในและภายนอกเมืองศรีมโหสถ มีโบราณสถาน เนินโบราณสถานเนินดิน บ่อน้ำ และสระน้ำต่าง ๆ กว่า 500 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ 3 หมู่บ้านด้วยกัน ได้แก่ บ้านสระมะเขือ บ้านโคกวัด และบ้านหนองสะแก แต่โชคไม่ดีที่คราวนี้ “ตะลอนเที่ยว” มาเจอกับพายุฝนกระหน่ำ จึงได้ชมความงามของโบราณสถานแห่งนี้ได้ไม่มากเท่าที่ควร การตามรอยเมืองศรีมโหสถนี้จึงจบลงที่ “สระแก้ว” เป็นสระโบราณ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขุดลงไปในพื้นศิลาแลงขนาดกว้าง 18 เมตร มีทางลง ที่ขอบสระด้านในมีการสลักศิลาแลงธรรมชาติเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้แก่ รูปช้าง รูปสิงห์ รูปมังกร รูปหมู และรูปกินรี

คาดกันว่าน่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยทำพิธีภายในพลับพลาบริเวณที่เป็นแท่นยืนลงไปในสระ หรืออาจเป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์เพราะมีสัตว์รูปช้าง สิงห์ มกร และคชลักษมี ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์มงคลและเป็นสัญลักษณ์ในสังคมเกษตรกรรมทั้งสิ้น
ทางเข้าปราสาทสด๊กก็อกธม
ลองสังเกตดีๆ ก็จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบัน ถึงอย่างไรก็ตาม ยังถือว่ามาโดยไม่เสียเที่ยวเสียทีเดียว เราจึงย้ายสถานที่มายังแหล่งรวบรวมประวัติศาตร์หลังการขุดค้นอย่างที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี” ภายในจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุถูกขุดค้นได้จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในภาคตะวันออก ที่สำคัญคือเมืองศรีมโหสถ ไม่ว่าจะเป็น รูปปั้นของพระวิษณุจตุรภุช ศิลปะทวารวดี หรือจะเป็นทับหลังเหนือกรอบประตูศิลปะแบบเขมร
อีกมุมหนึ่งของปราสาท
จากนั้นเราเดินทางต่อมายังจังหวัดสระแก้ว เพื่อมาพบกับ “ปราสาทสด๊กก็อกธม” หรือ “สล๊อกก๊อกธม” ซึ่งยังไม่สามารถระบุที่มาของชื่อปราสาทได้อย่างแน่นอน โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี 2478 และได้มีการสำรวจและซ่อมแซมเพิ่มเติมต่อมา ความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของปราสาทแห่งนี้ถ้าเปรียบเทียบเทคโนโลยีในสมัยปัจจุบันยังนับว่ายากที่จะก่อสร้างในลักษณะนี้ได้ ทางเข้าปราสาทเองยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติอยู่ แม้ว่าจะมีการตัดถนนเพื่อให่รถของนักท่องเที่ยวสัญจรได้อย่างสะดวกสบาย บางครั้งถนนคอนกรีตก็กลายเป็นทางเดินสำหรับวันควายของชาวบ้านไปโดยปริยาย
ถูกใจช่างภาพ
เดินเข้ามาเราจะพบกับทางแยกไปสู่บารายหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เชื่อหรือไม่ว่า บารายของปราสาทแห่งนี้มีขนาดใหญ่เท่าๆ กับสนามหลวง แต่ปัจจุบันเป็นที่รกร้างขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงนำวัวควายมาเลี้ยงในบริเวณนี้ เดินต่อมาอีกแยกหนึ่งเราก็จะมาถึงตัวปราสาทซึ่งก่อสร้างด้วยหินและศิลาแลง เป็นศิลปะแบบคลัง -บาปวน โดยหลักของการสร้างปราสาทตามแบบขอมจะต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ ตัวปราสาทและบาราย ด้านนอกสุดของปราสาทเป็นกำแพงแก้ว ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ตัวซุ้มประตูส่วนใหญ่จะสร้างสร้างด้วยหินทรายมีการสลักเป็นลวดลาย และด้านในสุดเป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน แม้ในช่วงกลางวันแดดอาจจะร้อนไปบ้างสำหรับการมาเที่ยวชม แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่หวั่น
บางส่วนกำลังบูรณะ
ในปราสาทนี้มีส่วนที่เป็นบานประตู และหน้าต่าง เป็นฉากในการถ่ายรูปได้เป็นอย่างดี เรียกว่า ต่างคนต่างจับจองช่องเล็กช่องน้อยถ่ายรูปกันยาวเหยียด และแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่กำลังบูรณะซ่อมแซม แต่ก็ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาระหว่างประเทศอยู่บ้าง จำนวนนักท่องเที่ยวจึงดูบางตาลงไป ถ้าการบูรณะซ่อมแซมเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่ ความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทสด๊กก็อกธม คงสามารถอวดโฉมดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปและผู้ที่หลงไหลในประวัติศาสตร์เข้ามาเรียนรู้พร้อมท่องเที่ยวได้ที่นี่
ทางขึ้นสู่ ปราสาทเขาน้อยสีชมพู
ส่วนโบราณสถานสุดท้ายที่ “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปชมก็คือ “ปราสาทเขาน้อยสีชมพู“ อยู่ที่ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ซึ่งคาดว่าได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู 2 ลัทธิ นั่นก็คือในช่วงแรกเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย ต่อมาเมื่ออารยธรรมขอมเข้ามาก็ได้เปลี่ยนมาสู่ศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีตัวปราสาททั้งหมด 3 องค์ เป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมตั้งอยู่บนฐานบัว
ปราสาทเขาน้อยสีชมพู
ในการขุดค้นนั้นพบโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น ทับหลัง ประติมากรรมรูปบุคคล และตราประทับสำริดมีอักษรขอมจารึก โดยกรมศิลปากรได้จัดเก็บและสร้างทับหลังที่มีลักษณะเดิมมาตั้งไว้แทน เพื่อมิให้ถูกทำลายทั้งจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ ปัจจุบันศาสนสถานปราสาทเขาน้อยสีชมพูกลายมาเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวบ้านในระแวก
ซากโครงกระดูกโบราณ
จากร่องรอยเริ่มแรกสมัยทวารวดี สู่ช่วงที่คาบเกี่ยวกันเมื่ออารยธรรมแรกเริ่มเสื่อมถอย ก็จะมีอารยธรรมใหม่ๆ เข้ามาอย่างอารยธรรมขอม ทั้งนี้ในสมัยก่อนนั้นการรับอารยธรรมก็ไม่ต่างกับในสมัยนี้ พูดง่ายๆ ก็หมายความว่าเมื่อชาวบ้านเห็นว่าเพื่อนบ้านข้างเคียงมีสิ่งทำแล้วที่ดีกว่า สะดวกสบายกว่า ช่วยสร้างความเจริญให้กับชุมชนได้มากกว่า ก็จึงรับเอาอารยธรรมเหล่านั้นเข้ามา อาณาจักร์ทวารวดีจึงขยายอิทธิพลไปอย่างกว้างขวางได้อย่างไม่ยาก อย่างในเช่นปัจจุบันนั้นเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าโลกหมุนมาสู่ยุคทุนนิยม ซึ่งมีเงินเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ทั้งนี้เราก็ต้องอยู่กับทุนนิยมให้เป็น เพื่อมิให้เสียดุลยภาพทางสังคมไปเพราะเม็ดเงินด้วยเช่นกัน
พระนารายณ์ ศิลปะทวารวดี
ผู้สนใจท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ นครนายก,ปราจีนบุรี,สระแก้ว และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆรวมถึง ที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครนายก โทร. 0-3731-2282, 0-3731-2284
กำลังโหลดความคิดเห็น