เมื่อหลายปีก่อนได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลาว ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความยิ่งใหญ่ ความเคียดแค้นชิงชังประเทศใกล้เคียง การต่อสู้กับชนเผ่าต่างๆ มาโดยตลอดไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ไทย ที่เขียนโดยมุมมองของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ชนชาติใกล้เคียงมีความเคียดแค้นชิงชังต่อกัน เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าอาณานิคม แต่แนวคิดต่างๆ ก็ยังมีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยฉบับของกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เปลี่ยนแปลงการเขียนประวัติศาสตร์ของตนเองเสียใหม่แล้ว
ท่านคำเพา พอนแก้ว นักค้นคว้าประวัติศาสตร์อาวุโสของลาว กล่าวว่า “มีชาวตะวันตก เช่น ชาวอังกฤษ และฝรั่งเศส มาค้นคว้าประวัติศาสตร์แบบผ่านๆ ไป ด้วยเหตุว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงและเก็บเกี่ยวตำนานท้องถิ่นได้เท่าที่ควร” แล้วท่านสรุปอย่างน่ากลัวว่า “บิดเบือนเนื้อหา ข้อความที่แท้จริงด้วยเหตุว่า เป็นข้อมูลที่ถูกคนต่างชาติอื่นปล้นสะดมไป แล้วแก้ไขปรับปรุงใหม่ตามอัธยาศัยของพวกเขา”
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นนักประวัติศาสตร์ลาวรุ่นหลังอาณานิคมเห็นว่า ควรมีการศึกษาประวัติศาสตร์ลาวกันใหม่ โดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ตกอยู่ในแนวคิดอาณานิคม แนวคิดดังกล่าวเป็นที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่เห็นถึงการศึกษาที่ถูกต้อง อันต่างจากประเทศไทยที่ประวัติศาสตร์ยังล้าหลังและยังมีแนวคิดของนักประวัติศาสตร์ตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมอยู่เช่นเดิม
ท่านบุนมี เทบสีเมือง นักประวัติศาสตร์ลาวรุ่นใหม่ เขียนหนังสือ “ความเป็นมาของชนชาติลาว ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐาน และการสถาปนาอาณาจักร” เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในประเทศลาว โดยเฉพาะรัฐบาลและปัญญาชนลาว เรียกได้ว่าได้ยกเลิกแนวคิดประวัติศาสตร์แบบล้าสมัยอย่างสิ้นเชิง ในเนื้อหาเห็นถึงความปรองดองกับชนชาติใกล้เคียงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเขียนประวัติศาสตร์ไทยในอนาคต
ท่านบุนมี เทบสีเมือง เป็นชาวเวียงจันทน์ ขณะบวชเรียนได้เข้ามาศึกษาต่อวิชาภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร จนจบชั้นนักธรรมเอก และได้เปรียญธรรม 3 ประโยค จากนั้นได้สอบเทียบชั้น ม. 8 ได้ จึงลาสิกขาไปศึกษาต่อในคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบชั้นปริญญาโทจากคณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก่อนกลับประเทศลาวเพื่อร่วมการปฏิวัติ
สำหรับผู้แปลคือ “ไผท ภูธา” เคยเป็นครู นักเขียนบทภาพยนตร์ และโปรดิวเซอร์ เป็นชาวอุบลราชธานีและแปลค่อนข้างสละสลวยและได้กลิ่นไอของชนชาติลาวเป็นอย่างดี
ในตอนต้นจะพูดถึงเรื่อง คำว่า “ลาว ไท ไทย สยาม” ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ลาว ซึ่งน่าสนใจมากสำหรับรัฐบาลไทย และนักประวัติศาสตร์ไทย ว่าลาวเขาให้ความสนใจต่อเอกสารท้องถิ่น โดยเฉพาะตำนานและพงศาวดารซึ่งเคยละเลยมาก่อน เช่นเดียวกับชาวไทยที่ละเลยไม่สนใจต่อเอกสารท้องถิ่น
ท่านสุวันนะลาด ไชยะวา เขียนถึง อาจารย์บุนมี ได้วิเคราะห์ว่า “ไท เดิมนั้นไม่ใช่ชื่อเดิมของชนชาติ มีแต่คำว่า ลาว เท่านั้น เป็นชื่อเดิมของชนชาติลาว หรือ “ลาว” “ไท” …” ส่วนคำว่า “คนไท” ปางนั้นคือคนลาวเราชัดๆ นี่เอง ในวรรณคดีลาวหลายเรื่องก็ใช้คำว่า “ไท” หรือ “คนไท” แทนคำว่า “ลาว” หรือ คนลาว”
การวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์ลาว แสดงให้เห็นว่า คำว่า “ลาว” และ “ไท”นั้น มีแหล่งที่มาอันเดียว คนไท ก็เหมือนคนลาว นั่นเอง
ดังนั้น ข้าพเจ้าเคยกล่าวในบทความเรื่อง “สยาม ไทยแลนด์และไต้หวัน” ว่า “คำว่า ไต ไท หรือไทย ในความรับรู้ของพวกลาวนั้นหมายถึง คนหรือกลุ่มคน”... “เป็นที่น่าสังเกตว่ามีลาวเพียงชาติเดียวที่เรียกชาวสยามว่า ไท ในความหมายว่าคนหรือกลุ่มคน จะเรียกคำว่า ไท แล้วเติมแหล่งที่มาตั้งทำมาหากินส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งน้ำ แม่น้ำหรือสีของเครื่องแต่งกาย” เช่น ไทของ (โขง) ไทดำ เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ว่า คำว่า ลาว และ ไท คือคนเชื้อสายเดียวกัน แต่เดิมลาวมีความหมายถึงชนชาติหรือประเทศ แต่ไทยมีความหมายว่าคนลาวไปตั้งถิ่นฐานในแหล่งต่างๆ ไทจึงมีความหมายถึงกลุ่มคนอันเป็นชาวลาวนั่นเอง
ต่อมามีความหมายกว้างขึ้น คือ หมายถึงกลุ่มคนทั่วๆ ไปในหนังสือ “ความเป็นมาของชนชาติลาว” กล่าวว่า “ชนชาติลาวตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมสุวรรณภูมิ เบื้องต้นได้ตั้งนครรัฐขึ้นภายใต้การนำของเจาก๊กเจ้าเหล่านั้น แต่มาภายหลังได้ตั้งรัฐหรืออาณาจักรขึ้นสามอาณาจักร คือ อาณาจักรลาวโคตรบูร อาณาจักรลาวโยนก และอาณาจักรลาวทวารวดี” ซึ่งอาณาจักรแรกอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง
อาณาจักรที่สองอยู่ที่เชียงใหม่ และอาณาจักรที่สามอยู่ที่อยุธยา เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ลาวยอมรับว่า อาณาจักรลาวไทมีสามรัฐนั่นเอง ได้แก่ ลาวล้านนา ลาวล้านช้าง ลาวอยุธยา และในพุทธศตวรรษที่ 17 “ความเป็นมาของชนชาติลาว” กล่าวว่าทัพขอมได้ครอบครองเมืองลาวทั้งสามนครรัฐ และได้เปลี่ยนชื่อลาวทวารวดีเป็นสยาม อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าลาวทางตะวันตกได้เปลี่ยนเป็นสยามในสายตาของ ขอม และเรียกว่าสยามในทัศนะของลาวตอนเหนือและลาวตะวันออก
ถ้าลองคิดต่อไปตามแนวคิดของนักประวัติศาสตร์ลาว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเหตุผลอันสำคัญที่ทำให้ลักษณะวัฒนธรรมของลาวล้านช้างและลาวล้านนานั้นแตกต่างออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เพราะลาวทวารวดี หรือสยามอยุธยาถูกอิทธิพลของกัมพูชาครอบงำอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นทางภาษา การแต่งกาย การดำเนินชีวิต และการปกครอง นั่นแหละเป็นเหตุผลที่สำคัญทำให้ลาวล้านนาและล้านช้างมีวัฒนธรรมไม่เหมือนลาวอยุธยาอีกต่อไป อีกทั้งภายหลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 รัฐลาวอยุธยาไล่ทหารกัมพูชาออกจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้
และหลังจากนั้นไม่นานสามารถยึดนครหลวงหรือกรุงยโสธรปุระได้สำเร็จ และกวาดต้อนปัญญาชนมาไว้ในราชสำนักอยุธยา ทำให้วัฒนธรรมลาวทั้งสามนครรัฐแตกต่างกัน ในขณะที่สองนครรัฐของลาวยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมลาวดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี แต่รัฐอยุธยาได้รับอิทธิพลของกัมพูชาอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้สามนครรัฐลาวได้แตกต่างกัน และลาวอยุธยาเรียกตนเองว่า “สยาม” ตามที่กัมพูชาเรียก
นั่นแหละเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมลาวและวัฒนธรรมสยามแตกต่างกัน และรัฐอยุธยาเริ่มดูถูกชาวลาวว่าเป็นพวกอนุรักษ์และล้าหลัง พิจารณาได้จากวรรณกรรมของอยุธยา เช่นเรื่อง “ลิลิตยวนพ่าย” และเรื่อง”ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นอีกในสมัยรัตนโกสินทร์