“ศิลปะทวารวดี” จัดเป็นศิลปกรรมต้นอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ณ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 บรรดาโบราณวัตถุ และโบราณสถาน ส่วนใหญ่ล้วนสร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน หากแต่ยังปรากฏหลักฐานการนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายานและฮินดูรวมอยู่ด้วย อิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมทวารวดีได้แพร่ขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จึงอาจกล่าวได้ว่าศิลปะทวารวดี คือ “ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในสยามประเทศ”
แต่เดิมนั้นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของศิลปะทวารวดีมักให้ความสำคัญต่อกลุ่มพระพุทธรูปเป็นหลัก เนื่องจากมีการค้นพบเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังบ่งบอกถึงการรับนับถือพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทในวัฒนธรรมทวารวดีได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการค้นพบหลักฐานที่เป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และศาสนาฮินดูปะปนอยู่บ้างแต่มีจำนวนไม่มากนัก โดยทั่วไปมักจะแบ่งกลุ่ม และยุคสมัย พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีออกเป็น 3 รุ่นคือ
รุ่นที่ 1 (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 13) จัดเป็นพระพุทธรูประยะแรกของทวารวดีและพุทธศิลปะที่ปรากฏบนแผ่นดินไทย ซึ่งยังคงลักษณะต้นแบบของพระพุทธรูปของศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คุปตะ – หลังคุปตะ
รุ่นที่ 2 (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 15) พระพุทธรูปมีลักษณะแบบพื้นเมือง เป็นแบบที่พบมากที่สุด และรุ่นที่ 3 อิทธิพลของศิลปะเขมร (พุทธศตวรรษที่ 16 – 17) จัดเป็นรุ่นสุดท้ายของศิลปะทวารวดี มีอิทธิพลของศิลปะเขมรสมัยบาปวนหรือ สมัยลพบุรีตอนต้นเข้ามาปะปน
หากว่าใครอยากจะเห็นโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะทวารวดี สามารถไปชมกันได้ที่งานนิทรรศการ “ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 ส.ค.-9 ต.ค. 2552 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เผยว่า จากผลสำเร็จในการนำโบราณวัตถุศิลปะทวารวดีของไทย จำนวน 149 รายการ ไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลปะ เอเชียกีเมนต์ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในวันที่ 11 ก.พ.-20 มิ.ย.2552 ตามแผนความร่วมมือด้านการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย ระหว่างกรมศิลปากรและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯทอดพระเนตรนิทรรศการและทรงร่วมสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “ศิลปะทวารวดี แง่มุมต่างๆ ด้านการวิจัยทางโบราณคดีในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา กรมศิลปากรและสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเห็นควรให้มีการจัดนิทรรศการลักษณะเดียวกันนั้นในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสัมพันธภาพความร่วมมืออันดีทางด้านวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย
ในงานนิทรรศการครั้งนี้ได้รวบรวมโบราณวัตถุศิลปะทวารวดีจำนวนทั้งสิ้น 167 รายการ แบ่งเป็นโบราณวัตถุไทย ซึ่งนำกลับมาจากการแสดงที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 107 รายการ และโบราณวัตถุที่มีความสำคัญซึ่งไม่ได้นำไปร่วมจัดแสดงที่ฝรั่งเศส อีกจำนวน 60 รายการ ได้แก่ ธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดในการแสดงถึงอารยธรรมทวารวดี และนับเป็นโบราณวัตถุที่มีความเก่าแก่อายุกว่า 1 พันปี ทั้งยังมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถขุดพบได้บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในดินแดนประเทศไทยเท่านั้น อีกทั้งกรมศิลปากรยังได้จัดพิมพ์หนังสือ “ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย” ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 250 หน้า พิมพ์สี่สีทั้งเล่มสำหรับเป็นที่ระลึก ซึ่งจัดจำหน่ายภายในงานนิทรรศการ
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.30-16.00 น. เสียค่าเข้าชมตามปกติ และในวันศุกร์ที่ 21 และวันอาทิตย์ที่ 23 ส.ค.เวลา 08.30-17.30 น. มีการเสวนาและชมนิทรรศการพิเศษรับเพียง 100 ที่นั่งเท่านั้น ติดต่อโทร.0-2224-1333