xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายใหม่กับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

หลายปีที่ผ่านมามีปัญหาจากการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นมากมาย หลากหลายรูปแบบ ประเด็นปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อเด็กและเยาวชนได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด เด็กและเยาวชนจะต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติจึงขอกล่าวถึงกฎหมายใหม่ที่มีความสำคัญสำหรับเด็กและเยาวชน พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน

กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเด็กและเยาวชนมีวุฒิภาวะที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ทั้งด้านการเรียนรู้ ด้านอารมณ์และพฤติกรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีประสบการณ์ในการดำรงชีวิตน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิด ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากคดีธรรมดาทั่วไปเพื่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน

ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ดังกล่าว กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีซึ่งเด็กและเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามพระราชบัญญัติอื่นๆ

คดีอาญาที่โอนมาจากศาลธรรมดาในกรณีที่จำเลยอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบรูณ์ เนื่องจากศาลที่พิจารณาคดีนั้นได้พิจารณาโดยคำนึงถึงร่างกาย สติปัญญา สุขภาพ ภาวะแห่งจิตและนิสัยแล้ว เห็นว่าบุคคลนั้นยังมีสภาพเช่นเดียวกันเด็กและเยาวชน

คดีครอบครัว คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ และคดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว

คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนนั้นในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น โดย “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ จากแต่เดิม ที่กำหนดให้ “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ และ “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ จากแต่เดิม ที่กำหนดให้ “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ การแก้ไขเรื่องอายุเด็กและเยาวชนเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา

การออกหมายจับเด็กและเยาวชนให้ศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องอายุ เพศ และอนาคตของเด็กหรือเยาวชนที่พึงได้รับการพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง หากการออกหมายจับจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็กหรือเยาวชนอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น ให้พยายามเลี่ยงการออกหมายจับ โดยใช้วิธีติดตามตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วยวิธีอื่นก่อน

การจับกุมและควบคุมเด็กและเยาวชนต้องกระทำโดยละมุนละม่อม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน

นอกจากนั้น ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีหรืออนุญาตให้มีหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน การสอบสวนต้องกระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน

กฎหมายใหม่ได้เพิ่มมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาเข้ามา เป็นการนำมาตรการทางเลือกอื่นมาใช้แทนการดำเนินคดีตามช่องทางปกติ เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายหรือชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก

ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนฟ้องคดีเมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต อาชีพ ฐานะ และเหตุแห่งการกระทำความผิดแล้ว หากผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง ให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนความประพฤติของเด็กหรือเยาวชน บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม แล้วเสนอความเห็นประกอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ การจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและเด็กหรือเยาวชนด้วย

หากพนักงานอัยการเห็นว่าแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชนแล้วเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้พนักงานอัยการเห็นชอบกับแผนดังกล่าว และให้มีการดำเนินการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูดังกล่าวได้ทันที พร้อมทั้งให้รายงานให้ศาลทราบ

ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงแก่ศาลว่ากระบวนการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร

การพิจารณาคดีในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวให้กระทำเป็นการลับ และเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้นมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ทั้งมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยการเปลี่ยนโทษจำคุกหรือกักกัน เป็นการส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้ หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควร ตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ หรือการเปลี่ยนโทษปรับเป็นการคุมความประพฤติ

การที่เด็กกระทำความผิดอาจเกิดจากบิดามารดาปล่อยปะละเลยหรือบุคคลอื่นชักจูงหรือส่งเสริม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3) กำหนด ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็ก (บุคคลที่มีอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์) ประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด ผู้ฝ่าฝ่าฝืนต้องรับผิดทางอาญาจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น บิดามารดาหรือบุคคลอื่นใดอาจต้องรับโทษทางอาญาหากฝ่าฝืนกฎหมายโดยยินยอมให้เด็กกระทำความผิด

เด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต หากเด็กและเยาวชนได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ได้รับการส่งเสริมให้มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและปลูกฝังให้มีจิตสำนึกที่ดี ย่อมเป็นผลดีแก่สังคมและประเทศชาติ

การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีและป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติกระทำความผิดซ้ำอีก

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น