xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.จับตา ตร.สอบคดี คุณหนูไฮโซ ชน 9 ศพ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายพีระพันธุ์ สาลีรับวิภาค รมว.ยุติธรรม
รมว.ยุติธรรม สั่ง ป.ป.ท.จับตาตำรวจสอบสวนคดีคุณหนูไฮโซซิ่งชน 9 ศพ พร้อมให้กรมคุ้มครองสิทธิฯดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานคนเจ็บ และผู้เสียชีวิต ด้านอำนวย เตรียมเปิดโต๊ะเจรจาให้ทั้งสองฝ่าย

วันนี้ (6 ม.ค.) นายอำพล วงศ์ศิริ รักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ได้สั่งตั้งคณะทำงานจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมพินิจและคุ้มเด็กและเยาวชน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงาน ป.ป.ท.เข้าสังเกตการณ์การสอบสวนคดีเยาวชนอายุ 17 ปี ขับรถเฉี่ยวชนจนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย โดยเน้นย้ำให้การดำเนินคดีเกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค ไม่มีอภิสิทธิ์เด็ดขาด ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 หน่วยจึงเข้าสังเกตการณ์การสอบสวนของตำรวจว่าได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือไม่ โดยได้ทำรายงานสรุปเสนอนายพีระพันธุ์ ถึงผลการสังเกตการณ์และชี้แจงข้อสงสัยที่ รมว.ยุติธรรม ให้ตรวจสอบกรณีตำรวจไม่ควบคุมตัวเยาวชนคนดังกล่าวในขณะเกิดเหตุจนปรากฏภาพเยาวชนยืนโทรศัพท์บนทางด่วน และทำไมตำรวจถึงไม่ควบคุมตัว เหมือนกับคนขับรถบรรทุกหากขับรถชนผู้อื่นเสียชีวิตตำรวจจะจับเข้าห้องขังทันที

รักษาการเลขาฯ ป.ป.ท.กล่าวอีกว่า ผลสรุปการตรวจสอบสรุปว่า กรณีเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของเยาวชนคนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สถานพินิจกรุงเทพฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน ส่วนเหตุผลที่ไม่มีการจับกุมเยาวชนในที่เกิดเหตุ ตำรวจได้ชี้แจงว่า ขณะเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กี่นาย ต้องรีบกระจายกำลังนำคนเจ็บทั้งบนทางด่วนและบริเวณพื้นถนนด้านล่างส่ง รพ.ให้เร็วที่สุด อีกทั้งเห็นว่าผู้กระทำผิดเป็นเยาวชน อยู่ในตระกูลที่น่าเชื่อถือว่าจะไม่หลบหนีจึงไม่ควบคุมตัวในขณะนั้น คณะทำงานได้พิจารณาแล้วว่า ตำรวจได้ใช้ดุลพินิจในสถานการณ์ฉุกละหุกพอรับฟังได้ จึงไม่รุนแรงถึงขั้นที่ต้องเสนอสอบวินัย ส่วนเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควบคุมตัวเยาวชนคนดังกล่าวไว้ ตำรวจชี้แจงว่า ได้ออกหมายเรียกไม่ได้ออกหมายจับ เนื่องจากเยาวชนได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวด้วยตัวเองจึงไม่มีการออกหมายจับ เมื่อนำตัวส่งสถานพินิจฯ สอบประวัติครอบครัว เพื่อส่งข้อมูลประกอบกลับมาให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทำความเห็นคดีต่อไป

ด้าน นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม มอบหมายให้เข้าไปช่วยเหลือเรื่องการคุ้มครองสิทธิฯ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ต้องหาและฝ่ายผู้เสียหาย โดยผู้ต้องหาต้องได้รับการปฏิบัติตามสิทธิที่พึ่งได้ตามกฎหมาย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บหลังเกิดเหตุได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมที่ รพ.วิภาวดี พร้อมชี้แจงสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา และ พ.ร.บ.ผู้ประส[ภัยจากรถยนต์ ส่วนผู้เสียชีวิตได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อครอบครัว เพื่อชี้แจงสิทธิและให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งได้ประสานอาจารย์เทวา นิรมิตกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนัดประชุมหามาตรการป้องกันและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีกหรือให้เกิดน้อยที่สุดต่อไป

ส่วนความคืบหน้าคดี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. (ฝ่ายกฎหมายและสอบสวน) เปิดเผยว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากส่งเด็กให้สถานพินิจฯไปแล้ว ก็จะรอผลจากกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) รอผลการตรวจจากแพทย์และข้อสรุป และรายงานจากสถานพินิจ ที่ไปสืบเสาะมาเพิ่มเติม ก่อนจะนำทั้งหมดรวมในสำนวนของพนักงานสอบสวน จากนั้นจะนำส่งอัยการศาลเด็ก โดยขณะนี้พนักงานสอบสวนรอรายงานจากสถานพินิจและผลการสรุปด้านอื่นๆ ส่วนการให้ปากคำของผู้ต้องหาก็จบแล้ว

“ปัญหาใหญ่คือ การเจรจาเรื่องค่าเสียหาย โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งโต๊ะในเรื่องนี้ ซึ่งทางทีมกฎหมายน่าจะนัดหลังวันที่ 14 มกราคมในเรื่องการเจรจา ทางธรรมศาสตร์หากจะเป็นโจทก์ร่วมก็ต้องไปฟ้องศาล ศาลถึงจะสั่งให้รวมคดี ซึ่งในส่วนการเจรจาก็จะดูทั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รถเสียหายทั้งหมด จึงตั้งทีมกฎหมายขึ้นมาดูแลตรงนี้ การเจราก็อาจ 2-3 ครั้ง ครั้งแรกไม่น่าจบได้ ยกเว้นแต่มีการไปพบก่อนหน้าเป็นรายบุคคลก็เจรจาง่ายขึ้น” รอง ผบช.น.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) ผู้ต้องหารับสารภาพทั้ง 2 ข้อหาหรือไม่ รอง ผบช.น.กล่าวว่า เรื่องรับหรือไม่รับ อย่าให้ตนพูดเลย เพราะเป็นเรื่องในสำนวน สำหรับศาลเด็กปกติจะไม่มีการจำคุก โดยเฉพาะคดีที่ประมาท ศาลจะไปฝึกอบรม ทำทัณฑ์บน ไปทำอย่างอื่น ขนาดคดียาเสพติดยังส่งไปรักษา เพราะถือว่าฟื้นฟูได้ แก้ไขได้ กระบวนการสำหรับเด็กไม่ได้มุ่งที่จะลงโทษหรือทำให้เข็ดหลาบจากการลงโทษ เน้นฟื้นฟู แก้ไข ดูแลสุขภาพจิต อบรมบ่มนิสัย ดูว่าผู้ปกครองดูแลได้ไหม หากดูแลไม่ได้ก็ส่งไปที่อื่นที่ดูแลได้ หากไม่มีปัญหา ครอบครัวดูแลได้ ก็ไม่มีอะไร แต่จะเอาความสะใจว่าไปยิงเป้า หรือไปติดคุกก็ไม่ใช่ต้องดูข้อเท็จจริง

ส่วนกรณีเจ้าของรถก็มีโทษปรับแค่ 2,000 บาท รอง ผบช.น.กล่าวว่า ก็มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่อาจจะร่วมรับผิดชอบทางแพ่งด้วย แต่อันนี้ยังไม่ยืนยัน ในเรื่องการให้เขายืมรถไปแล้วไม่มีใบขับขี่ ไม่รู้ หรือน่าจะรู้ ซึ่งรถที่พบไม่ใช่รถในบ้านเป็นรถไฟแนนซ์ แต่ต้องไปสอบอีก เพราะตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เขียนว่า หากบิดามารดา ผู้ปกครอง รู้เห็นเป็นใจให้เด็กทำผิดกฎหมาย ยุยง ส่งเสริม แล้วให้ไปทำก็ต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะเจตนา แต่คดีนี้เป็นเรื่องประมาท เป็นเรื่องที่ไม่มีเจตนาคาดหวังไปถึง ผู้ปกครองก็ขาดองค์ประกอบที่จะให้ลูกไปประมาท ขนาดรถในบ้านยังยาก รถนอกบ้านนี่จบเลย ตอนนี้กระแสก็ถาโถมมาว่าเมื่อดำเนินคดีเด็กไม่ได้ จะให้ดำเนินคดีกับบิดา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เราเองไม่ได้ปกป้อง เพราะก็เชื่อว่าทาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คงไม่ยอม

“เรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่บิดา มารดา ต้องดูแลเด็กในปกครอง ครูบาอาจารย์ต้องดูแลศิษย์ ตำรวจ ต้องดูแลลูกน้อง ซึ่งในส่วนของผู้ปกครองทั่วไป ไม่ใช่คดีนี้ แม้จะเห็นว่าลูกตนเองมีความสามารถในการขับขี่ก็ตาม แต่ที่มีการตั้งเกณฑ์ไว้ว่าอายุเท่าใดจึงจะมีใบขับขี่ได้ แสดงว่ามีการวิจัย ประเมินแล้วว่า หากอายุต่ำกว่านี้ แม้มีความสามารถ แต่หากเกิดสถานการณ์คับขัน ความเป็นเด็กก็ยังเป็นเด็กอยู่ แม้มีคนสอน โรงเรียนชั้นดีก็ตาม แต่เมื่ออายุไม่ถึง ยังไม่มีใบขับขี่ ก็อย่าเพิ่งให้ขับเลย เรื่องนี้แม้ขับรถดีก็ตาม เพราะฉะนั้นกติกาใดที่เป็นเรื่องสากล มีการกำหนดวิเคราะห์มาแล้ว แสดงว่าตกผลึกแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบ” พล.ต.ต.อำนวยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น