xs
xsm
sm
md
lg

ตัวโคลนเมนเตลอา ‘ชาญวิทย์’

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

มีคนบอกว่า ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นั้นเป็นปราชญ์ของสังคมไทย ผมเคยเจอเขาในร้านเหล้าละแวกพระอาทิตย์หลายครั้งในช่วงยังกินดื่มหนักๆ ก่อนมากินบ้างกับภรรยาเดือนละแก้วสองแก้วหรือตามงานสังสรรค์ตามวาระและความจำเป็นในช่วงหลายปีหลัง

ครั้งสุดท้ายที่เจอหน้าเขา ผมจำได้ว่าราวต้นปีใหม่ 2553 หรือราวปลายปี 2552 กับเด็กหนุ่มวัยยี่สิบเศษผิวสีแทนที่สนามบินเชียงใหม่ แต่นั่นก็ช่างเถอะผมเพียงแต่อารัมภบทก่อนที่ผมจะพูดถึงอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเขา

ประวัติของเขาในวิกิพีเดียเขียนว่า เขาเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แผนกการทูต) โดยมีผลการเรียนดีจนได้รับเกียรตินิยมดี และได้รับรางวัลภูมิพล ในปี พ.ศ. 2506 จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุน Rockefeller Foundation ผ่านภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ไปเรียนในระดับปริญญาโททางการทูตที่ Occidental College รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ.2508-2510) จากนั้นให้เรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล รัฐนิวยอร์ก

นักวิชาการจำนวนมากกลัวว่าตัวเองจะถูกป้ายสีเสื้อตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัย ปรากฏการณ์นี้ไม่ค่อยเป็นกับฝ่ายนักวิชาการเสื้อเหลือง แต่นักวิชาการหลายคนมีจุดยืนที่ชัดเจนว่ายืนอยู่เคียงข้างกับคนเสื้อแดง มักไม่ชอบเมื่อมีใครบอกว่าเป็นเสื้อแดง (พวกนี้จะมีคำพูดตอบโต้กลับทำนองว่า ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็หาว่าเป็นพวกเสื้อแดง ซึ่งผมยืนยันว่าไม่จริง)

แม้อุดมการณ์ทางการเมืองจะห้ำหั่นกันมาตั้งแต่มนุษย์ตั้งรัฐชาติและตกลงกติกาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แต่ผมเห็นว่าในระยะหลังนั้น อุดมการณ์ทางการเมืองถูกใช้เป็นเพียงเสื้อคลุมในการปกปิดตัวตนเป็นเพียงหีบห่อที่ปิดบังเนื้อแท้เอาไว้ สิ่งที่เกาะเกี่ยวไว้ก็คือ ผลประโยชน์ร่วม ไม่นั้นจาตุรนต์ ฉายแสง คงมานั่งร่วมโต๊ะกับสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้

ทุกคนแม้จะมีอุดมการณ์ของตัวเอง แต่ก็พยายามอาศัยกันในฐานะที่มีผลประโยชน์ร่วม เหมือนกลุ่มเสื้อแดงที่ไม่เอาสถาบันจำนวนหนึ่ง พยายามเกาะเกี่ยวทักษิณ เพราะเพ้อว่าทักษิณมีมวลชนมากพอที่จะทำฝันของพวกเขาให้เป็นความจริงได้

มันสะท้อนว่า “อุดมการณ์” เป็นเพียงเรื่องโก้เก๋ของคนยุคสมัยที่ทำให้คนยุคหนึ่งเอามาทำมาหากินได้ตลอดชีวิต แต่ “ผลประโยชน์” เป็นเรื่องที่จับต้องได้ แบบวาทกรรมประชาธิปไตยกินได้ที่พวกนี้เอาไปหลอกให้ประชาชนภักดีกับทักษิณนั่นแหละ

อุดมการณ์ ความคิด ตัวหนังสือ และเส้นทางชีวิตของชาญวิทย์สอดคล้องกับคนพวกนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

หลายปีมานี้ ชาญวิทย์ไปๆ มาๆ เขมรราวกับบ้านหลังที่สอง เพราะได้รับทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ ภายใต้โครงการของ Center for Khmer Studies (CKS) เขากลายเป็นที่ได้รับการยกย่องอย่างมากในเขมร เมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมการมรดกโลกของเขมรได้ประณามสุวิทย์ คุณกิตติ ตัวแทนฝ่ายไทยอย่างรุนแรงและบอกว่า ให้สุวิทย์ฟังชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคนไทยผู้มีสามัญสำนึก อย่าฟังผู้มีอำนาจและพวกหัวรุนแรง

ถ้าเราได้ฟังและติดตามชาญวิทย์ความคิดแบบ “รัฐประชาชาติสมัยใหม่” ของชาญวิทย์นั้น ได้ก้าวข้ามรัฐแบบรัฐชาติไปแล้ว เขารังเกียจความเป็นชาตินิยม ไม่คิดเรื่องพรมแดน ซึ่งถ้าฟังเพียงผิวเผินเราคิดว่าเขารับใช้โลกแบบอุดมคติ ความเสมอภาค และความเท่าเทียมของมนุษยชาติ แต่จริงแล้วสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ก็คือความคิดแบบทุนสามานย์นั่นเอง

บทสัมภาษณ์ของเขาครั้งหนึ่งในแท็บลอยด์ ไทยโพสต์ ในขณะที่พันธมิตรประชานเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพระวิหารว่า ถ้ามีปัญหากับเขมรธุรกิจการค้าในเขมร จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงมาก สายการบินของคนไทยจะเอาอย่างไร ปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งมีรายได้ผลประโยชน์มหาศาลในเขมร ธนาคารไทยพาณิชย์ เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง โรงแรมขนาดใหญ่ ธุรกิจการท่องเที่ยว export-import บริษัทพลาสติก เครื่องสำอางจะเป็นอย่างไร

กรณีปราสาทพระวิหารนั้น ตอนที่พันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งหมายถึงพื้นที่รอบๆไม่ใช่ตัวปราสาทนั้น ชาญวิทย์ถึงกับออกเอกสารภายใต้หัวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันถึงความชอบธรรมของเขมรในเรื่องนี้เพื่อตอบโต้พันธมิตรฯ (ตอนนั้นกษิตก็อยู่บนเวทีพันธมิตรฯ และด่าฮุนเซนว่า กุ๊ย) อ้างว่า เขมรมีความชอบธรรมทั้งประวัติศาสตร์และนิติศาสตร์ เพราะปราสาทพระวิหารสร้างโดยกษัตริย์เขมรและศาลโลกตัดสินให้ไทยแพ้คดี ส่วนข้ออ้างทางภูมิศาสตร์ของฝ่ายไทยเรื่องสันปันน้ำนั้น ชาญวิทย์บอกว่าศาลโลกไม่รับฟัง

แต่จริงแล้วพันธมิตรฯ พูดเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไม่ใช่ตัวปราสาท ถ้าชาญวิทย์อ้างเหตุผลความชอบธรรมให้เขมรเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ และนิติศาสตร์ ไม่ใช่ภูมิศาสตร์ ชาญวิทย์คิดว่าเหตุผลนั้นจะต้องครอบคลุมพรมแดนไทยเขมรไปจนถึงจังหวัดตราดอย่างนั้นหรือ และชาญวิทย์มีความเห็นอย่างไรในกรณีที่บ้านโนนหมากมุ่น ที่สระแก้ว หรือเขมรต้องเป็นเจ้าของปราสาทหินพิมายด้วยหรือไม่

ผมยกมาเพื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วความคิดของชาญวิทย์อยู่ในบริบทของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่เขาจะไปกับทักษิณได้ เขาขายความเป็นพวกรัฐชาติสมัยใหม่ เขาไม่เอาพรมแดน เขาแสดงความรักต่อมนุษยชาติเหมือนเสื้อที่เขาใส่ปิดบังร่างกาย

ชาญวิทย์เอาความหมายของโลกไร้พรมแดนในมิติทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ไหลบ่านี้มาครอบงำความคิดเรื่องรัฐชาติของสังคมไทยส่วนหนึ่งในทำนองว่า รัฐไม่จำเป็นต้องมีพรมแดนหรือไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป ทั้งที่ถ้าเราติดตามหนังฮอลลีวูดพรมแดนของมลรัฐในอเมริกายังมีความจำเป็นเลย แม้แต่สหภาพยุโรป ผมคิดว่าถ้าใครไปเลื่อนหลักเขตแดนหรือเคลื่อนย้ายหลักเขตแดนก็เกิดสงครามแน่นอน

ชาญวิทย์และคณะพยายามใช้เวทีทุกเวทีโจมตีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มคนไทยที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องเขตแดนไทย-เขมร ว่าเป็นพวกล้ำเส้นชาตินิยมจนกลายเป็นความหลง คลั่งชาติ เป็นพวกล้าสมัย เป็นพวก “ราชาชาตินิยม”, “อำมาตยา-เสนาชาตินิยม” เป็นพวก “อประวัติศาสตร์” เป็นพวกหยิบยก “ประวัติศาสตร์บาดแผล” มาเป็นเครื่องมือในการดูถูกเหยียดหยามเพื่อนบ้าน

น่าประหลาดตรงที่ว่า ชาญวิทย์ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนทางหนึ่ง และมีความคิดสอดคล้องกับผลประโยชน์ของเขมรในกรณีพิพาทดินแดนกลับได้งานศึกษาเรื่องนี้ของกระทรวงต่างประเทศ แม้ว่าในงานที่ใช้เงินจ้างทีมงานชาญวิทย์ 7.1 ล้านบาทของกระทรวงต่างประเทศจะเขียนให้คลุมเครือว่าศึกษาปัญหาเขตแดนประเทศอื่นๆ ด้วยเลยไปถึงรัสเซีย มองโกเลีย ยุโรป ก็ตาม

กระทรวงการต่างประเทศของไทย เอาคนซึ่งมีทัศนคติสวามิภักดิ์ระบอบอำมาตยเสนาธิปไตยสมฺเตจอคฺคมหาเสนาบตีเตโช ฮุนแสน มาครอบงำรัฐไทยจนมีแนวคิดบิดเบี้ยวให้ไปในแนวทางสวามิภักดิ์เขมรได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น