xs
xsm
sm
md
lg

เช็กอินแอร์พอร์ตลิงค์วันแรกกร่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เปิดเช็ดอินแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่มักกะสันวันแรกกร่อย ผู้โดยสารโหลงเหลง ถึง 5 โมงเย็น การบินไทยมี 8 คน บางกอกแอร์ฯ ไม่มีสักราย ชี้ปัญหาขาดประชาสัมพันธ์และเงื่อนไขต้องใช้เฉพาะ Express Line ที่ค่าตั๋วสุดแพง ว่าที่ซีอีโอบริษัท รถไฟฟ้า เตรียมส่งแผนธุรกิจให้สศช. พิจารณา คาดต้องลงทุนอีก3,000 ซื้อรถเพิ่มอีก 20 ตู้ ด้านร.ฟ.ท.เทียบเชิญ 4 บริษัทยื่นแข่งราคาเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์แทน DBI ที่หมดสัญญา
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจระบบเช็คอินและขนส่งสัมภาระที่สถานีมักกะสัน (BCAT) โครงการขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตเรลลิงค์) ซึ่งเปิดให้บริการวานนี้ (4 ม.ค.) เป็นวันแรก ว่า ระบบเช็คอินและขนส่งสัมภาระไม่มีข้อผิดพลาด แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาในเรื่องระบบขนส่งสาธารณะเข้าออกสถานี และต้องปรับภูมิทัศน์โดยรอบสถานี รวมถึงการขยายพื้นที่จอดรถส่วนบุคคล ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยในส่วนของการเช็คอิน ได้เชิญทุกสายการบินมาเปิดให้บริการ เพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร รวมถึงไทยแอร์เอเชียเชื่อว่าต้องมาแน่นอน ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบคู่แข่ง
ทั้งนี้ ในช่วงแรก มี 2 สายการบินที่เปิดให้บริการเช็คอิน คือ สายการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ โดยการบินไทยเปิดบริการ 3 เคาน์เตอร์จากทั้งหมด 5 เคาน์เตอร์ ตั้งแต่ 07.00-23.00 น. ซึ่งถึงเวลา 17.00 น. มีผู้โดยสารเช็คดินที่เคาน์เตอร์การบินไทยเพียง 8 คน ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส เปิด 1 เคาน์เตอร์จาก 2 เคาน์เตอร์ ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ยังไม่มีผู้โดยสารมาเช็คอิน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการประชาสัมพันธ์น้อย การเดินทางเข้า-ออกสถานีไม่สะดวกและเงื่อนไขเช็คอินต้องเป็นผู้โดยสารขบวน Express Line เท่านั้น โดยนำตั๋ว150 บาท มายืนยัน ซึ่งทำให้ผู้โดยสารที่ต้องการใช้ City Line เพราะค่าโดยสารถูกกว่าไม่สามารถใช้บริการได้
สำหรับการให้บริการเช็คอินที่มักกะสันนั้น สายการบินจะมีการลงทุนในเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าเช่าเคาน์เตอร์เช็คดิน ค่าเช่าพื้นที่ห้องจำหน่ายตั๋ว ซึ่งต้องลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 4-5 แสนบาทต่อเดือน แต่ในปีแรกการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ยกเว้นค่าเช่าพื้นที่เพื่อเป็นการจูงใจ ซึ่งในส่วนของสายการบิน จะต้องประเมินจำนวนผู้ใช้บริการสักระยะหนึ่งก่อนตัดสินใจในเรื่องการลงทุนต่างๆ ดังนั้น ในช่วงแรกจึงมีเพียงค่าใช้จ่ายเพิ่มเรื่องพนักงานเท่านั้น

ร.ฟ.ท.เล็งซื้อรถเพิ่มอีก 3,000 ล้าน
นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. รักษาการซีอีโอ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เป็นบริษัทลูก แอร์พอร์ตเรลลิงค์ ว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาทจากที่เสนอไป2,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องขอแก้หนังสือบริคณห์สนธิที่ได้ยื่นจดทะเบียนไว้ 1 ล้านบาท เป็น 140
ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 1,860 ล้านบาท จะต้องทำแผนเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมทั้งแผนธุรกิจ (Business Plan) เพื่อเสนอครม.อีกครั้งภายในเดือนก.พ.2554 นี้

ทั้งนี้ ในแผนธุรกิจประมาณการรายได้ในปี 2554 ไว้ที่ 600 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายมีกว่า 1,000 ล้านบาท โดย City Line มีผู้โดยสารประมาณ 40,000 -47.000 คนต่อวัน Express Line ผู้โดยสารประมาณ 700-800 คนต่อวัน โดยคาดว่าผู้โดยสารรวมจะเติบโตปีละประมาณ 10% โดยเฉพาะ Express Line ปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มให้เป็น 2,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าในปีที่ 3 รถจะมีไม่พอให้บริการโดยในแผนธุรกิจจะมีการซื้อรถขบวน City Line เพิ่มอีก 3-5 ขบวนๆ ละ 4 ตู้ ลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท
“แผนธุรกิจจะเสร็จภายในเดือนม.ค.นี้แน่นอน ซึ่งหากล่าช้ากว่านี้จะมีปัญหา เนื่องจากทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาทไม่เพียงพอ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัดบริหารงานได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแผนการเดินรถเพื่อขยาย Express Line ขาเข้าบางขบวนวิ่งไปถึงสถานีพญาไท เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร”นายภากรณ์ กล่าว
***เจรจา 4 บริษัทบริหารเดินรถแทน DBI
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้เชิญผู้ให้บริการเดินรถ 4 ราย คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC , บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL, บริษัท ซีเมนส์ จำกัด , บริษัท EMAS ซึ่งให้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินประเทศมาเลเซีย มารับทีโออาร์เป็นผู้บริหารการเดินรถ แอร์พอร์ตเรลลิงค์ภายในสัปดาห์หน้า เนื่องจาก บริษัท Deutsche Bahn International (DBI) ประเทศเยอรมัน จะหมดสัญญาจ้างในเดือนม.ค.2554 และไม่สามารถเจรจาต่อสัญญาได้ โดยให้ ทั้ง 4 รายเสนอราคาแข่งขันเข้ามา ราคากลางที่ 182 ล้านบาท สัญญาจ้าง 3 ปี และจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ที่มีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานภายในเดือนม.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม DBI ให้เหตุผลว่า ต้องการปิดธุรกิจในต่างประเทศที่ไม่ทำกำไร ทำให้ไม่สามารถต่อสัญญาบริหารเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ได้ แต่ในขณะเดียวกัน การเจรจาเรื่องค่าจ้างเดินรถระหว่างร.ฟ.ท.กับ DBI ใช้เวลา 1 ปีแล้ว ยังไม่สามารถยุติได้ โดย DBI เรียกค่าจ้างมาปีละ 700 ล้านบาท แต่ต่อรองเหลือปีละ 350 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็ยกเลิกการเจรจา
กำลังโหลดความคิดเห็น