xs
xsm
sm
md
lg

BTSC-EMASรอลุ้นชิงดำ เดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ร.ฟ.ท.เลื่อนเปิดซองเลือกผู้บริหาร แอร์พอร์ตลิ้งค์แทน DBI ไปเป็นมี.ค. โดยเหลือแค่ BTSC กับ EMAS จากมาเลเซีย 2 ราย ส่วน BMCL ซีเมนส์ ถอย ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูกแอร์พอร์ตลิ้งค์ยังไม่คืบ เหตุนายทะเบียนติงแก้ไขร่างข้อบังคับ ห้ามระบุร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% ประธานแอร์พอร์ตลิ้งค์เชื่อเสร็จเดือนก.พ.นี้ ก่อนวางแผนเร่งสรรหาบุคลากรดูแลบริการ
นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รักษาการ ซีอีโอ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ ร.ฟ.ท.ได้เชิญผู้ให้บริการเดินรถ 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC , บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL, บริษัท ซีเมนส์ จำกัด และ บริษัท EMAS ซึ่งให้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินประเทศมาเลเซีย เข้ารับทีโออาร์ เพื่อจัดทำรายละเอียดเสนอราคาเป็นผู้บริหารการเดินรถ แอร์พอร์ตเรลลิงค์ ปรากฏว่ามีเพียง 2 รายที่แสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมเสนอราคา คือ BTSC และ EMAS ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบข้อสงสัยของทั้ง 2 บริษัท ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดซองข้อเสนอออกไปอีก 1 เดือน คือ จากเดือนก.พ.เป็นเดือนมี.ค.2554
“ร.ฟ.ท.เชิญ 4 บริษัทให้เข้ามาดูสถานที่ เพื่อทำข้อเสนอ แต่ BMCLกับ ซีเมนส์ ไม่มา ส่วน BTSC และ EMAS มีข้อสงสัยในเรื่องหลักการปฎิบัติงาน โครงสร้างองค์กร เป็นต้น ซึ่งร.ฟ.ท.เร่งตอบคำถามไปแล้ว โดยจะทำสัญญาว่าจ้าง 1 ปี ค่าจ้าง 182 ล้านบาท ”นายภากรณ์กล่าว
ทั้งนี้ การเชิญ 4 บริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการเดินรถไฟฟ้าเข้ามายื่นข้อเสนอนั้น เนื่องจาก บริษัท Deutsche Bahn International (DBI) ประเทศเยอรมัน จะหมดสัญญาจ้างในเดือนม.ค.2554 และไม่สามารถเจรจาต่อสัญญากันได้ โดยสาเหตุหนึ่ง เกิดจาก DBI มีปัญหาภายในของบริษัทที่ต่างประเทศและได้รับแจ้งจากบริษัทแม่ที่เยอรมนีว่าต้องการปิดกิจการที่ประเทศไทยแม้ว่าจะมีการเจรจาต่อรองค่าจ้างกับร.ฟ.ท.เหลือปีละ 350 ล้านบาท เรียกค่าจ้างมาปีละ 700 ล้านบาทแล้วก็ตาม
ส่วนความคืบหน้าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด นั้น นายภากรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายหรืออนาบาลของร.ฟ.ท.กำลังแก้ไขร่างข้อบังคับในบางเรื่อง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การระบุในข้อบังคับว่าร.ฟ.ท.เป็นผู้ถือหุ้น 100% ห้ามขายให้เอกชน นายทะเบียนแจ้งว่าเป็นเรื่องนอกเหนือกฎเกณฑ์ เป็นต้น
สำหรับการทุนจดทะเบียนที่ร.ฟ.ท.เสนอไว้ที่ 2,000 ล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ 140 ล้านบาทนั้น ที่เหลืออีก 1,860 ล้านบาทร.ฟ.ท.ได้จัดทำแผนธุรกิจ ((Business Plan) เสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว เมื่อกลางเดือนม.ค.2554 ที่ผ่านมา เพื่อเสนอครม.พิจารณาอีกครั้ง โดยในเบื้องต้น ในแผนธุรกิจได้มีการประมาณการรายได้ในปี 2554 ไว้ที่ 600 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายมีกว่า 1,000 ล้านบาท โดย City Line มีผู้โดยสารประมาณ 40,000 -47.000 คนต่อวัน Express Line ผู้โดยสารประมาณ 700-800 คนต่อวัน โดยคาดว่าผู้โดยสารรวมจะเติบโตปีละประมาณ 10% โดยเฉพาะ Express Line ปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มให้เป็น 2,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าในปีที่ 3 รถจะมีไม่พอให้บริการ โดยในแผนธุรกิจจะมีการซื้อรถขบวน City Line เพิ่มอีก 3-5 ขบวนๆ ละ 4 ตู้
ลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ ประธานบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวว่า ภายในเดือนก.พ. คาดว่ากระบวนการจัดตั้งบริษัท จะแล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากนั้นจะประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรรหาบุคคลกรเพื่อเข้ามาดูแลในส่วนต่างๆ ของการบริหาร ร่วมถึงการเดินรถอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังต้องมีการเร่งรัดในส่วนของการประชาสัมพันธ์ และการเน้นการให้บริการผู้โดยสาร
ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่อหลักที่ต้องดำเนินการทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น