xs
xsm
sm
md
lg

เช็กอินแอร์พอร์ตลิงก์วันแรกกร่อย ผู้โดยสารใช้บริการโหรงเหรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเช็กอินแอร์พอร์ตลิงก์ ที่มักกะสันวันแรกกร่อย ผู้โดยสารโหรงเหรง ถึง 5 โมงเย็น การบินไทยมี 8 คน บางกอกแอร์ฯ ไม่มีสักราย ชี้ ปัญหาขาดประชาสัมพันธ์และเงื่อนไขต้องใช้เฉพาะ Express Line ที่ค่าตั๋วสุดแพง ว่าที่ซีอีโอบริษัท รถไฟฟ้า เตรียมส่งแผนธุรกิจให้ สศช.พิจารณา คาดต้องลงทุนอีก 3,000 ล้าน ซื้อรถเพิ่มอีก 20 ตู้ ด้าน ร.ฟ.ท.เทียบเชิญ 4 บริษัทยื่นแข่งราคาเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์แทน DBI ที่หมดสัญญา

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจระบบเช็คอินและขนส่งสัมภาระที่สถานีมักกะสัน (BCAT) โครงการขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ซึ่งเปิดให้บริการวานนี้ (4 ม.ค.) เป็นวันแรก ว่า ระบบเช็กอินและขนส่งสัมภาระไม่มีข้อผิดพลาด แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาในเรื่องระบบขนส่งสาธารณะเข้าออกสถานี และต้องปรับภูมิทัศน์โดยรอบสถานี รวมถึงการขยายพื้นที่จอดรถส่วนบุคคล ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยในส่วนของการเช็คอิน ได้เชิญทุกสายการบินมาเปิดให้บริการ เพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร รวมถึงไทยแอร์เอเชียเชื่อว่าต้องมาแน่นอน ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบคู่แข่ง

ทั้งนี้ ในช่วงแรก มี 2 สายการบินที่เปิดให้บริการเช็คอิน คือ สายการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ส โดยการบินไทยเปิดบริการ 3 เคาน์เตอร์จากทั้งหมด 5 เคาน์เตอร์ ตั้งแต่ 07.00-23.00 น.ซึ่งถึงเวลา 17.00 น.มีผู้โดยสารเช็คดินที่เคาน์เตอร์การบินไทยเพียง 8 คน ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส เปิด 1 เคาน์เตอร์ จาก 2 เคาน์เตอร์ ตั้งแต่ 08.00-17.00 น.ยังไม่มีผู้โดยสารมาเช็คอิน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการประชาสัมพันธ์น้อย การเดินทางเข้า-ออกสถานีไม่สะดวกและเงื่อนไขเช็คอินต้องเป็นผู้โดยสารขบวน Express Line เท่านั้น โดยนำตั๋ว150 บาท มายืนยัน ซึ่งทำให้ผู้โดยสารที่ต้องการใช้ City Line เพราะค่าโดยสารถูกกว่าไม่สามารถใช้บริการได้

สำหรับการให้บริการเช็คอินที่มักกะสันนั้น สายการบินจะมีการลงทุนในเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าเช่าเคาน์เตอร์เช็คดิน ค่าเช่าพื้นที่ห้องจำหน่ายตั๋ว ซึ่งต้องลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 4-5 แสนบาทต่อเดือน แต่ในปีแรกการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ยกเว้นค่าเช่าพื้นที่เพื่อเป็นการจูงใจ ซึ่งในส่วนของสายการบิน จะต้องประเมินจำนวนผู้ใช้บริการสักระยะหนึ่งก่อนตัดสินใจในเรื่องการลงทุนต่างๆ ดังนั้น ในช่วงแรกจึงมีเพียงค่าใช้จ่ายเพิ่มเรื่องพนักงานเท่านั้น

ร.ฟ.ท.เล็งซื้อรถเพิ่มอีก 3,000 ล้าน
นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.รักษาการซีอีโอ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เป็นบริษัทลูก แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาทจากที่เสนอไป2,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องขอแก้หนังสือบริคณห์สนธิที่ได้ยื่นจดทะเบียนไว้ 1 ล้านบาท เป็น 140 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 1,860 ล้านบาท จะต้องทำแผนเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมทั้งแผนธุรกิจ (Business Plan) เพื่อเสนอ ครม.อีกครั้งภายในเดือน ก.พ.2554 นี้

ทั้งนี้ ในแผนธุรกิจประมาณการรายได้ในปี 2554 ไว้ที่ 600 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายมีกว่า 1,000 ล้านบาท โดย City Line มีผู้โดยสารประมาณ 40,000-47.000 คนต่อวัน Express Line ผู้โดยสารประมาณ 700-800 คนต่อวัน โดยคาดว่า ผู้โดยสารรวมจะเติบโตปีละประมาณ 10% โดยเฉพาะ Express Line ปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มให้เป็น 2,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าในปีที่ 3 รถจะมีไม่พอให้บริการโดยในแผนธุรกิจจะมีการซื้อรถขบวน City Line เพิ่มอีก 3-5 ขบวนๆ ละ 4 ตู้ ลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท

“แผนธุรกิจจะเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้แน่นอน ซึ่งหากล่าช้ากว่านี้จะมีปัญหา เนื่องจากทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาทไม่เพียงพอ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัดบริหารงานได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแผนการเดินรถเพื่อขยาย Express Line ขาเข้าบางขบวนวิ่งไปถึงสถานีพญาไท เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร” นายภากรณ์ กล่าว

***เจรจา 4 บริษัทบริหารเดินรถแทน DBI
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้เชิญผู้ให้บริการเดินรถ 4 ราย คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL, บริษัท ซีเมนส์ จำกัด, บริษัท EMAS ซึ่งให้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินประเทศมาเลเซีย มารับทีโออาร์เป็นผู้บริหารการเดินรถ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ภายในสัปดาห์หน้า เนื่องจาก บริษัท Deutsche Bahn International (DBI) ประเทศเยอรมนี จะหมดสัญญาจ้างในเดือน ม.ค.2554 และไม่สามารถเจรจาต่อสัญญาได้ โดยให้ ทั้ง 4 รายเสนอราคาแข่งขันเข้ามา ราคากลางที่ 182 ล้านบาท สัญญาจ้าง 3 ปี และจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ที่มี นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานภายในเดือน ม.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม DBI ให้เหตุผลว่า ต้องการปิดธุรกิจในต่างประเทศที่ไม่ทำกำไร ทำให้ไม่สามารถต่อสัญญาบริหารเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ได้ แต่ในขณะเดียวกัน การเจรจาเรื่องค่าจ้างเดินรถระหว่างร.ฟ.ท.กับ DBI ใช้เวลา 1 ปีแล้ว ยังไม่สามารถยุติได้ โดย DBI เรียกค่าจ้างมาปีละ 700 ล้านบาท แต่ต่อรองเหลือปีละ 350 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็ยกเลิกการเจรจา
กำลังโหลดความคิดเห็น