xs
xsm
sm
md
lg

บุกทำเนียบต้านFTAไทย-อียู ยกมติสมัชชาสุขภาพ อัดพ่วงเหล้า-บุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 4 ม.ค.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ นางสาวอารีกุล พวงสุวรรณ จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เข้าพบและเจรจากับนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ฐานะประธานศึกษาผลกระทบ FTA Thai-EU ซึ่งเป็นการเจรจาที่มีบัญชีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อยู่ในรายการด้วย โดยมีการเสนอข้อมูลวิชาการเพื่อยืนยันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นางสาวอารีกุล กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลไทยไม่ควรนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไปเจรจาว่า ตนต้องถามรัฐบาลว่า 1. รัฐฯมองกลไกการค้าเสรีเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมความมั่งคั่ง ความอยู่ดีมีสุข คุณภาพของคน ผ่านการกระตุ้นการตลาดให้มีการลงทุน การผลิต การแข่งขัน การบริโภคเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ 2. รัฐฯมีแนวทางไม่ส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม่ธรรมดาอย่างสุราและยาสูบใช่หรือไม่ หากใช่ทั้งสองคำตอบก็ไม่ควรนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเข้าไปในกลไกการค้าเสรีในอนาคต เพื่อซ้ำเติมปัญหาให้แย่ลง ส่วนความพยายามขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐยังมองผลจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศเป็นเพียงการลดภาษีศุลกากรซึ่งทำให้ราคาสุรานำเข้าถูกลง ทั้งที่จริงผลกระทบไม่ใช่เพียงเรื่องราคา แต่ครอบคลุมถึงการลงทุนข้ามชาติ การขายกำลังการผลิต การแข่งขันทำการตลาด และที่สำคัญคือการ “กระชับพื้นที่นโยบายแอลกอฮอล์” ให้เหลือเพียงแต่มาตรการที่ไม่ได้ผล การขึ้นภาษีไม่ได้จัดการปัญหาอย่างครอบคลุม นอกจากนี้เครือข่ายฯ เข้าใจว่าในกรอบการเจรจาที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเวียนให้หน่วยราชการนั้นอาจจะขอผ่อนผันเรื่องลดกำแพงภาษีศุลกากรให้ช้าลง ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่เป็นการตอกย้ำว่าเรายอมรับการขยายการลงทุน การนำเข้า การผลิต การขาย สินค้าอันตรายอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบไม่ต่างจากสินค้าทั่วไปอย่างกะปิน้ำปลา
ผู้แทนศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวถึงตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญของสุขภาวะประชาชนไม่น้อยไปกว่าด้านธุรกิจว่า มีหลายประเทศทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ไม่ใช่เพียงประเทศมุสลิมที่มีแนวทางชัดเจนที่ไม่ยอมรวมสุราและยาสูบในกรอบการเจรจา ด้วยเหตุผลในการปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิค ประเทศแถบแสกนดิเนเวียและยุโรปตะวันออก และอีกหลายประเทศที่ปกป้องนโยบายแอลกอฮอล์ จากการบ่อนทำลายของกลไกการค้าเสรี เช่นประเทศสวีเดน ฝรั่งเศส ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยหากลดความต้องการผลประโยชน์ทางธุรกิจลง แล้วมองปัญหาอย่างเป็นจริง ก็จะพบว่าสินค้าไม่ธรรมดาอย่างสุราและยาสูบ มีความเหมือนกันประการหนึ่ง คือการส่งผลกระทบสุทธิเป็นลบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวของสังคม
“เป็นความจริงที่แม้แต่องค์กรทางเศรษฐกิจนานาชาติอย่างธนาคารโลกก็ยอมรับ รวมทั้งองค์การอนามัยโลกก็ได้กล่าวถึงตัวอย่างผลกระทบของกลไกการค้าเสรีในมิติที่เป็นผลจากการขยายตัวของตลาดและการแข่งขันการตลาด มติของสมัชชาอนามัยโลก เตือนให้ประเทศสมาชิกระมัดระวังผลกระทบ และในยุทธศาสตร์โลกในการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ก็ได้มีส่วนกล่าวถึงกลไกระหว่างประเทศใดๆก็ตามที่ควรมองสุราเป็นสินค้ายาเสพติดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง”นางสาวอารีกุล กล่าว และว่าเครือข่ายฯไม่ได้ปฏิเสธกลไกการค้าเสรี แต่ต้องแยกแยะสินค้าทั่วไปที่ยิ่งผลิต ยิ่งขาย เศรษฐกิจยิ่งเติบโต กับสินค้าที่ยิ่งผลิต ยิ่งบริโภค สังคมและเศรษฐกิจยิ่งแย่ออกจากกัน มีความชอบธรรมอย่างไร ที่จะนำชีวิต นำตับ ปอด สมองและคุณภาพชีวิตของคนไทย ไปแลกกับผลกำไรทางธุรกิจ
นางสาวอารีกุล กล่าวว่า ข้อสรุปเรื่องFTA ในเวทีสมัชชาสุขภาพที่ผ่านมาล่าสุดคือ 1. รัฐควรให้ความสำคัญกับสุขภาพและสังคมไม่น้อยไปกว่าเศรษฐกิจ 2. ให้ใช้ความรู้ ไม่ใช่ความเห็นในการขับเคลื่อน ต้องมีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ก่อนการทำกรอบ และก่อนการลงนาม โดยต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และใช้หลักระมัดระวังไว้ก่อน ไม่เจรจาโดยปราศจากข้อมูลวิชาการ 3.ควรมีกระบวนการจัดทำรายการสินค้ายกเว้นจากการค้าเสรีอย่างถาวร และรายการที่ควรเจรจาด้วยความระมัดระวัง นำไปใช้สำหรับทุกการเจรจา 4. ให้เจรจาโดยยึดตามมติสมัชชาสุขภาพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (เช่นวาระเรื่อง ขยะเคมี แร่ใยหิน แอลกอฮอล์ และ ยาสูบ) ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรละเลยเสียงจากเวทีสมัชชาสุขภาพ
ขณะที่นายคำรณ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเดินหน้านำแอลกอฮอล์เข้าสู่การเจราจาเป็นการเหยีบย่ำเจตนารมณ์ภาคประชาชน และมติครม.ที่ให้ไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาจาก 4 ภาค ซึ่งประชาชนมีมติไม่เห็นด้วยให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าสู่การเจรจาใน FTA ไทย EU ตนคิดว่าขณะนี้มีแรงกดดันของต่างชาติโดยเฉพาะทุนเหล้า ที่ยังส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะแน่นอนกลุ่มทุนเหล้านอกและ ประชาคม EU กดดันและล๊อบบี้รัฐบาลไทยอย่างหนัก รวมทั้งยังมีธุรกิจไทยบางกลุ่มที่กดดันทำนองต่อรองให้นำเรื่องเหล้าเข้าเจราจาเพื่อแลกเปลี่ยนรายการสินค้า ในการพบกันในครั้งนี้เพราะเครือข่ายอยากทราบท่าทีและการดำเนินงานของกรรมการชุดนี้ ซึ่งภาคประชาชนมีจุดยืนเดิมที่ชัดเจนอยู่แล้วคือ ไม่ต้องการให้นำเรื่องเหล้าและบุหรี่เข้าอยู่ในบัญชีการเจรจา และควรต้องทบทวนการเจรจาที่ทำไปก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ เราอยากเห็นรัฐบาลไทยมีความกล้าและเป็นผู้นำ ทำในสิ่งที่ถูกต้องนี้
นายคำรณ กล่าวว่า กังวลว่ารัฐบาลจะเห็นแต่การค้าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพ สังคม ที่มีต่อประชาชน และที่สำคัญ FTA ไทย EU จะทำเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายหรือผลักดันมาตรการใหม่ๆในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเราจะถูกประชาคม EU กดดัน เพื่อให้เราแก้กฎหมายหรือออกมาตรการควบคุมใหม่ๆที่หน่อมแน้ม เพื่อรองรับสินค้าของเขา
“ภาคประชาชนเราติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและจะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเหล้า บุหรี่เข้าสู่การเจรจา FTA ซึ่งตอนนี้ได้ประสานงานไปกับเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมดทุกจังหวัด ให้ติดตามและทำความเข้าใจแล้ว “นายคำรณ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น