xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 6

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง

ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน

(สร้อย) หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)

เพลงหนักแผ่นดิน ประพันธ์คำร้องโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก

นักวิชาการกลุ่มนายชาญวิทย์ ที่ได้รับงานจากกระทรวงการต่างประเทศในโครงการวิจัยเรื่อง “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตงานวิชาการตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อทราบถึงสถานะและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

ในเรื่องข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา กรอบแนวคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้อาจสรุปได้ว่า ตั้งอยู่บนตรรกะ 2 ประการ คือ (1) ยอมรับเส้นเขตแดนบนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำ 11 ระวางที่ทางการไทยไม่ยอมรับ และ (2)โลกาภิวัตน์ หรือ globalization

นักวิชาการกลุ่มนายชาญวิทย์ได้อ้างอยู่บ่อยครั้งในเรื่องโลกาภิวัตน์ในลักษณะของการไม่ยึดถือพรมแดนระหว่างประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งคือไร้ซึ่งพรมแดนระหว่างประเทศ และเป็นเงื่อนไขหรือสภาพบังคับอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะต้องอยู่กับโลกาภิวัตน์ให้ได้โดยมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมคือ “ประชาคมอาเซียน” ร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกัน

โลกาภิวัตน์อาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่มีมาตั้งแต่ยุค “ลัทธิพาณิชย์นิยม” หรือ Mercantilism ที่คิดว่าชาติจะมีความมั่งคั่งก็เนื่องด้วยการได้มาซึ่งโลหะมีค่า เช่น ทองคำหรือเงิน และหนทางที่จะได้มาก็ด้วยการค้าหรือการแสวงหาอาณานิคม

แต่ข้อบกพร่องของ “ลัทธิพาณิชย์นิยม” ที่ได้แสดงให้เป็นประจักษ์แล้วก็คือ ชาติมิได้มั่งคั่งด้วยโลหะที่มีค่าในการครอบครองแต่อย่างใด การแลกเปลี่ยนหรืออีกนัยหนึ่งคือการค้าต่างหากที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น เพราะหากไม่ค้าก็ต้องผลิตทุกอย่างขึ้นมาเอง การบริโภคจึงต้องเป็นไปตามปริมาณการผลิตที่แต่ละประเทศผลิตได้ในแต่ละชนิดของสินค้า และการผลิตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต (ที่ดิน แรงงาน ทุน) ที่มีอยู่อย่างจำกัด (ภายในพรมแดนตนเอง) เป็นหลัก ดังนั้น เมื่อไม่มีการค้า ประโยชน์หรือสวัสดิการของคนในพรมแดนตนเองจึงเป็น zero sum game เพราะหากต้องผลิตสินค้าหนึ่งเพิ่มขึ้นก็ต้องลดการผลิตสินค้าอื่นๆ ลงไป

แต่หากมีการค้าเกิดขึ้น สถานะของการผลิตและบริโภคจะเปลี่ยนไป ประเทศ ก. อาจเลือกผลิตสินค้าที่ตนเองมีความได้เปรียบเพราะมีความชำนาญในการผลิตมากกว่า เช่น คอมพิวเตอร์ เพราะด้วยเวลาหรือปัจจัยการผลิตเท่ากันสามารถได้ผลผลิตมากกว่าข้าว ในขณะที่ประเทศ ข. อาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม เมื่อนำผลผลิตมาแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างกัน คนในประเทศ ก. จึงสามารถบริโภคข้าวได้มากกว่าเดิมโดยไม่ต้องผลิตข้าวหากแต่อาศัยเอาคอมพิวเตอร์ไปแลกเปลี่ยนเอาข้าวมา เช่นเดียวกับคนในประเทศ ข. ที่สามารถบริโภคใช้คอมพิวเตอร์ได้มากกว่าเดิมโดยเอาข้าวไปแลก

การบริโภคจึงมิได้ถูกจำกัดด้วยการผลิตอีกต่อไป หากแต่สามารถบริโภคได้มากกว่าเดิม ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์เป็น positive sum game เมื่อมีการค้าเกิดขึ้น เพราะไม่ต้องลดการผลิตสินค้าอื่นๆ ลงไป เพื่อผลิตสินค้าหนึ่งเพิ่มขึ้นมา อันเนื่องมาจากมีปัจจัยการผลิตในพรมแดนตนเองอย่างจำกัดนั่นเอง

การสนับสนุนการค้าเสรีข้ามพรมแดนจึงมีผลประโยชน์ที่คนในประเทศทั้งสองจะได้รับ เมื่อผลผลิตสามารถค้าได้โดยเสรี ปัจจัยการผลิตก็ย่อมจะค้าข้ามพรมแดนได้โดยเสรีเช่นเดียวกัน ข่าวสารข้อมูลและวัฒนธรรมที่ติดมากับสินค้าและบริการที่ค้าขายกัน เช่น หนังสือ อาหาร เพลง จึงข้ามพรมแดนตามมาด้วยเช่นกัน โลกาภิวัตน์จึงอุบัติขึ้นมาแต่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพราะข่าวสารข้อมูลไม่สามารถแยกออกจากสินค้าได้ดังเช่นในปัจจุบัน

กระแสโลกาภิวัตน์จึงเป็นเรื่องของการเคลื่อนย้ายสินค้าและปัจจัยการผลิตข้ามพรมแดน แต่มิใช่ไร้พรมแดนไร้ชาติ ดังที่นักวิชาการกลุ่มนายชาญวิทย์กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ในยุคที่ข่าวสารข้อมูลเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วและแยกออกจากสินค้าได้ การลุกฮือขึ้นมาของประชาชนเพื่อล้มระบบเผด็จการเริ่มต้นที่ตูนิเซียจึงระบาดไปถึงอียิปต์ บาห์เรน ลิเบีย เยเมน จึงเป็นผลของกระแสโลกาภิวัตน์ข้ามพรมแดน

หากจะมองย้อนกลับไปในช่วงการทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA เฟื่องฟู เขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA ก็เป็นข้อตกลงการค้าเสรีอันดับแรกๆ ของโลกที่ถูกจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1992 แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ประสบความสำเร็จ ความพยายามในการจัดตั้ง “เขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC ก็เพื่อนำมาทดแทน AFTA ที่ล้มเหลวและขยายเป้าหมายที่ต้องการบรรลุไปในอนาคตเพราะปีนี้ก็ ค.ศ. 2011แล้ว เลยกรอบเวลาปี ค.ศ. 2010 ที่สมาชิกดั้งเดิม 5 ชาติสัญญาว่าจะเปิดเสรีการค้าเต็มรูปแบบ สาเหตุของความล้มเหลวก็คือ ความเป็นชาติและอธิปไตยของแต่ละชาติสมาชิกยังอยู่เหนืออาเซียน

ผลประโยชน์ของชาติจึงต้องมาก่อนแม้จะไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของอาเซียนก็ตาม ชาติสมาชิกสามารถทำเช่นนี้ได้ก็เพราะมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจภายใต้ขอบเขตพรมแดนของตนอย่างสมบูรณ์ มิได้มอบให้อาเซียนไปแต่อย่างใดและไม่น่าจะมีชาติสมาชิกใดมอบให้ด้วย ตัวอย่างที่เห็นแบบเนียนๆ บิดพลิ้วกันซึ่งๆ หน้าก็คือ แม้จะลดอุปสรรคสิ่งกีดขวางทางการค้าในเชิงปริมาณ เช่น ภาษีที่พรมแดน แต่อุปสรรคที่มิใช่ภาษีหรือ non-trade barrier กลับมิได้ลดลงตามไปด้วย เป็นปัญหาที่แก้กันไม่รู้จักจบจักสิ้นเพราะฉายาของอาเซียนก็คือ “เสือกระดาษ”

ชื่อนั้นตั้งผิดได้แต่ฉายานั้นตั้งไม่ผิดอย่างแน่นอน พื้นฐานการตัดสินใจของอาเซียนก็คือ การปรึกษาหารือและฉันทามติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีการใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจ หนึ่งเสียงก็สามารถยับยั้งความเห็นของอีก 9 เสียงได้อาเซียนจึงเป็น “เสือกระดาษ” เพราะไม่มีเขี้ยวที่จะตัดสินใจปัญหาที่เป็นผลประโยชน์ของอาเซียนได้หากสมาชิกชาติใดชาติหนึ่งไม่ยินยอม

อาเซียนมีข้อตกลงการค้าเสรีที่จะทำให้สินค้าปัจจัยการผลิตข้ามพรมแดนโดยเสรีกับหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ แต่ก็กระทำบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติสมาชิกเป็นหลัก มิใช่บนพื้นฐานประโยชน์ของอาเซียนเพราะชาติสมาชิกส่วนใหญ่มิได้มีข้อตกลงเห็นชอบร่วมกันในเรื่องจุดยืนเพื่อการเจรจาของอาเซียน ดังนั้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีจึงมิใช่ทวิภาคีสองต่อสองระหว่างอาเซียนกับชาติต่างๆ ดังที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจ หากแต่เป็นระหว่างรัฐสมาชิก 10 ชาติกับคู่เจรจาอันเนื่องมาจากมิได้มอบหมายให้อาเซียนเป็นตัวแทนไปเจรจา เป็นรัฐสมาชิก 10 ชาติเข้าร่วมเจรจาพร้อมๆ กันและลงนามพร้อมๆ กัน 10 ชาติกับคู่เจรจา มิใช่เลขาธิการอาเซียนหรือผู้รับมอบอำนาจลงนามแทนชาติสมาชิกทั้ง 10 ชาติแต่อย่างใด ลองไปดูของจริงในข้อตกลงการค้าเสรีอันใดก็ได้ของอาเซียนที่มีการลงนามเป็นหางว่าวในฐานะคู่เจรจา

ความเป็นชาติและอธิปไตยของรัฐสมาชิกจึงมีความสำคัญกว่า เพราะหากไม่เห็นด้วยก็งดเว้นลงนามผูกพันได้ ไม่ได้มอบอำนาจให้อาเซียนไปเจรจาแทน และอาเซียนก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนไปเจรจาได้เพราะรัฐสมาชิกไม่มีข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกันเป็นจุดยืน หากยังเป็นเช่นนี้อยู่อาเซียนไม่มีทางที่จะยกตัวเทียบชั้นกับอียูได้แต่อย่างใดเพราะรัฐสมาชิกอียูยอมเสียสละอธิปไตยบางส่วนไปให้อียูบริหารจัดการ

ความเป็นชาติและอธิปไตยในความเห็นของนักวิชาการกลุ่มชาญวิทย์แม้จะอ้างว่า “เป็นสิ่งสมมติที่ถูกสร้างขึ้นมา” แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ นั่นคือต้องมีขอบเขตดินแดนที่ชัดเจนแน่นอน หาไม่จะใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างไรหากไม่รู้ว่าเขตแดนพรมแดนตนเองอยู่ที่ใด อธิปไตยของชาติจึงต้องผูกพันกับเขตแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐสมาชิกอาเซียนหรือประเทศในโลกนี้สามารถใช้อำนาจอธิปไตยที่ตนเองมีอยู่อันเนื่องมาจากมีความเป็นรัฐความเป็นชาติได้ก็เนื่องมาจากการกำหนดขอบเขตดินแดนที่ชัดเจน ตรรกะของพวกคุณจึงตั้งอยู่บนความว่างเปล่าอย่างแท้จริงเพราะเอาคำแปลของโลกาภิวัตน์ที่หมายถึงไร้พรมแดนมาเป็นเหตุผลอธิบาย

เมื่อเป็นดังนี้นักวิชาการกลุ่มชาญวิทย์จึงน่าจะสับสนไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่อง โลกาภิวัตน์กับโลกไร้พรมแดน ไร้พรมแดนจึงมิใช่ไร้ซึ่งขอบเขต (unlimit) หรือไม่มีลิมิต เพราะ “ลิมิตมิใช่อนันต์” ประชากรของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ไม่สามารถขยายตัวเพิ่มปริมาณอย่างไร้ซึ่งขอบเขตไปสู่อนันต์ได้เพราะต้องเผชิญกับขอบเขตบางอย่าง เช่น สิ่งแวดล้อมขวางกั้นเอาไว้ (ประสาท มีแต้ม. โลกที่ซับซ้อน, ผู้จัดการ, 21 ก.พ.54) โลกาภิวัตน์จึงไม่ใช่เรื่องของไร้พรมแดนไร้ชาติเป็นอนันต์ดังเพลง Imagine ของ John Lennon ที่ว่า “imagine there’s no countries . . .” แต่อย่างใดไม่

นักวิชาการกลุ่มชาญวิทย์อย่าล่องลอยอยู่บนความฝันความว่างเปล่าที่ไม่สามารถใช้งานได้อีกเลย อธิปไตยของชาติจะมีอยู่ได้ก็ต้องผูกพันกับเขตแดนจะแยกออกจากกันไม่ได้ ดังตัวอย่างสมาชิกอาเซียน ไทย หรือ เขมร ที่ไม่เคยจะยอมเสียสละอธิปไตยไปให้อาเซียนบริหารจัดการ แล้วจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่สวยหรูว่าจะผลิตงานวิชาการตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อทราบถึงสถานะและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไรหากยังจะบอกว่าเขตแดนก็คล้ายกับอธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นมาและไม่ผูกพันเกี่ยวข้องกัน แต่พื้นที่ในโลกเป็น zero sum game หากชาติหนึ่งได้เพิ่มอีกชาติหนึ่งก็ต้องเสียไป เขตแดนจึงเป็นเรื่องสำคัญต่ออธิปไตยและความเป็นชาติจะปล่อยให้เปลี่ยนแปลงไม่ตายตัวได้อย่างไร

จะมีประเทศใดในโลกที่อ้างว่ามีความเป็นชาติและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่ไม่อ้างดินแดน เขตแดน หรือพรมแดน ช่วยบอกหน่อย
กำลังโหลดความคิดเห็น