xs
xsm
sm
md
lg

ครอบครัวทักษิณคิดจะยื่นอุทธรณ์…อย่าลืม “หลักฐาน” ใหม่ให้ครบถ้วน

เผยแพร่:   โดย: ไทยทน

เมื่อวันตัดสินคดีได้ผ่านไปแล้วผลการพิพากษาชัดเจน “ซุกหุ้น” “เอื้อประโยชน์” และ “ยึดทรัพย์” ค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ และหากครอบครัวทักษิณเห็นว่ามี “หลักฐานใหม่” ที่น่าจะช่วยให้คณะผู้พิพากษาทบทวนคำพิพากษาก็ย่อมได้ แต่น่าจะได้รวบรวม “หลักฐานใหม่” เพิ่มเติม ที่ยังไม่สรุปรวมในคำพิพากษาต่อไปนี้ด้วย

1. “ก่อนการโอนหุ้น ชินคอร์ปฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมานมูลค่า 733.95 ล้านบาท ให้นายพานทองแท้ เพียง 1 วันนั้น ในวันที่ 31 สิงหาคม 2543 นายพานทองแท้ ต้องทำตั๋วสัญญาใช้เงินให้ คุณหญิงพจมาน อีก 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในยอดหนี้รวม 5,056,348,840 บาท” โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตรได้อธิบายว่า “ยอดหนี้ 4,500,000,000 บาทนั้น เป็นหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น (Warrants) ธนาคารทหารไทย (TMB และ TMB-C1) ... โดยถือหลักการเดียวกัน คือ ตามราคาพาร์อันอ้างว่าเป็น “ต้นทุนที่แท้จริงที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสลงทุนซื้อมาตั้งแต่เริ่มแรก”

อันเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า เป็นการ “ให้การเท็จ” ต่อศาลสถิตยุติธรรม โดยคุณหญิงพจมานและพวกครับ

“หลักฐานใหม่” ก็คือ หุ้นธนาคารทหารไทย (TMB)150 ล้านหุ้น มีราคาหุ้นละ 10 บาทจริง แต่ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ฯ (TMB-C1) 300 ล้านหน่วยนั้นเป็น “ของฟรี” ที่แม่ได้มาเปล่าๆ พร้อมหุ้น ต้นทุน “ศูนย์” บาท ในสัดส่วน 2 TMB-C1 ต่อ 1 หุ้น TMB โดยสามารถตรวจสอบได้จากหมายเหตุประกอบงบการเงินของธนาคารทหารไทย ปี 2544-2545 ระบุว่า “ทั้งนี้ผู้ซื้อหุ้นสามัญใหม่ที่ออกจะได้รับหุ้นสามัญใหม่พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์หมวด ข. จากกระทรวงการคลัง โดยมีอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญใหม่ต่อ 2 ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ซึ่งหมายความว่า ซื้อหุ้น จะได้ หุ้น + warrants (TMB 1 หุ้น + TMB-C1 2 หน่วย) ฟรีๆ

แต่แม่กลับขาย “ของฟรี” ให้ลูกด้วยมูลค่า “เท็จ” ถึง 3,000 ล้านบาท จึงไม่ใช่โอนที่ทุนอย่างที่ให้การ!!
คตส.ได้ชี้แจงว่า หนี้ปลอมนี้เป็นถึงประมาณ 60% ของหนี้ทั้งสิ้นที่นายพานทองแท้ทำให้แก่มารดาในช่วงวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2543 รวม 5,056,348,840 บาท ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว เป็นเครื่องมือที่ทำให้นายพานทองแท้ ได้คืนปันผลแทบทุกงวดกลับมาให้แม่ หากถือเป็นหนี้ปลอมและต้องถือเป็นโมฆะ ก็เป็นหลักฐานแสดงว่า การที่นายพานทองแท้ถูกใช้ชื่อถือหุ้นเท่านั้น ปันผลต่างๆ ยังจ่ายกลับมาให้แม่อยู่ดี

หลักฐาน “ความจริง” ใหม่ อีกประการคือ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2543 นั้น หุ้น TMB และ TMB-C1 มีราคาตลาดเพียง 5.70 และ 1.30บาทเท่านั้น ทำให้มูลค่าของ TMB กับ TMB-C1 ที่ซื้อจากแม่นั้น คิดเป็นมูลค่ารวมตามราคาตลาดขณะนั้น ประมาณ 1,245 ล้านบาทเท่านั้น แต่นายพานทองแท้ในฐานะบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว กลับใช้อ้างว่าซื้อจากแม่ที่มูลค่ารวม 4,500 ล้านบาท จึงไม่น่าเชื่อถือ
2. ท่านอ้างว่า ในโอกาสอายุครบ 20 ปี (บรรลุนิติภาวะ) พอดี คุณหญิงพจมาน ได้อ้างว่า ให้ของขวัญวันเกิดน.ส.พินทองทา ชินวัตร ในโอกาสครบรอบ 20 ปี จำนวน 370 ล้านบาท เป็นจำนวนที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นการอำพราง ด้วยใกล้เคียงกับยอดซื้อหุ้นจากพี่ชายจำนวน 367 ล้านบาทพอดี ซึ่งทำให้ พินทองทาถือหุ้น 367 ล้านหุ้น และ พานทองแท้ถือหุ้น 366.95 ล้านหุ้น เท่าๆ กัน พอดีๆ โดยหากไม่ใช่ทำรายการเพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นแทน ก็น่าจะมีของขวัญวันเกิด เมื่อพานทองแท้อายุครบ 20 ปี หรือ แพทองธารอายุครบ 20 ปีด้วยในลักษณะคล้ายกัน โดยมี “หลักฐานใหม่” ตามบันทึกถอดเทปคำให้การของ นายพานทองแท้ ชินวัตร ในการตอบคำถามที่ว่า “ก่อนจะรับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ พยานมีทรัพย์สินส่วนตัวเท่าไหร่?” โดยได้ตอบว่า “มีเป็นหลักสิบล้านบาท แต่ว่าไม่ได้อยู่ในบัญชี เป็นเงินสดที่ได้จากวันเกิด วันปีใหม่ คุณแม่จะให้” ไม่ใช่เป็นหลัก 370 ล้านบาท คล้ายๆ กันแต่อย่างใด และหากมีหลักฐานใหม่เสริมทำนองว่า ตั้งแต่สมัยพินทองทา ได้ปรับเพิ่มให้ ก็อาจแสดงของขวัญวันเกิด น.ส.แพทองธาร ในโอกาสครบรอบ 20 ปีด้วยก็ได้ครับ

มี “หลักฐานใหม่” ยิ่งกว่านั้น พี่พานทองแท้ นอกจากต้องแบกหนี้ปลอมของ TMB-C1 3,000 ล้านบาทแล้วกลับต้องโอนหุ้นชินคอร์ปฯ ให้น้องพินทองทาในราคาถูกๆ คือที่ราคาพาร์ โดยไม่ได้แบ่งหนี้ปลอมไปด้วย ครั้งแรกวันที่ 9 กันยายน 2545 ก็ 367 ล้านหุ้น และครั้งที่ 2 วันที่ 4 มิถุนายน 2546 อีก 73 ล้านหุ้น ทำให้ น.ส.พินทองทา ถือหุ้น จำนวน 440 ล้านหุ้น มากกว่าพี่ชายซึ่งเหลือหุ้นเพียง 293.95 ล้านหุ้นเสียอีก พี่ชายต้องแบกภาระหนี้ปลอมมหาศาล แต่ให้น้องมีหุ้นมากกว่า จะทำให้เชื่อว่าเป็นการโอนกันเยี่ยงผู้บรรลุนิติภาวะที่เป็นอิสระแท้จริงได้อย่างไร

3. “หลักฐานใหม่” ต่อไปคือ หากถือเป็นการแบ่งสมบัติจำนวนใกล้ๆ กัน เมื่อครอบครัวท่านขายหุ้นแล้ว ในเมื่อท่านมีบุตรเป็นพี่น้อง 3 คน ก็น่าจะได้แบ่งเงินสดให้น้องแพทองธารไปด้วย เพราะไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งของบิดาอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้โอนแบ่งแต่อย่างใด ทำให้เชื่อได้มากกว่าว่าเป็นกระบวนการใช้ชื่อบุตรถือหุ้นแทนมากกว่า และที่ไม่ได้แบ่งให้ ก็เพราะภารกิจถือหุ้นแทนจบสิ้นแล้ว พ่อลงจากตำแหน่งแล้ว

4. “หลักฐานใหม่” อีกส่วนคือ การที่ในวันที 27 ตุลาคม 2547 น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นอสังหาริมทรัพย์คืนจากวินมาร์ค 5 บริษัท คือ บริษัท พีที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เวิร์ธ ซัพพลาย จำกัด  บริษัท บี.พี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด และ บริษัท เอส ซี ออฟฟิส ปาร์ค จำกัด โดยทุกบริษัท ทุกหุ้น ที่ราคาพาร์ ทั้งๆ ที่มูลค่าทางบัญชีไม่เท่ากัน กำไร/ขาดทุนไม่เท่ากัน โดยอธิบายว่า เป็นข้อผูกพันตั้งแต่รุ่นพ่อก็ไม่มีสัญญาเดิมมาเป็นหลักฐาน แต่อาการซื้อขายทุกหุ้นที่ราคาพาร์ ไม่มีการต่อรองนั้น สะท้อนความเป็นการโอนโยกย้ายระหว่างนอมินี (ตัวแทนถือหุ้น) มากกว่า

5. สำหรับกรณีนายบรรณพจน์ ดังข้อพิรุธในปี 2542 ซึ่งในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ปฯ หุ้นละ 15 บาท จำนวน 6,809,015 หุ้นนั้น นายบรรณพจน์กับคู่สมรส มีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท แต่การใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นเงิน 102,135,225 บาท เพื่อจะทำกำไร กลับใช้เงินของคุณหญิงพจมาน มาชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยคุณหญิงพจมาน ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ เพื่อนำมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของนายบรรณพจน์ พร้อมกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ พ.ต.ท.ทักษิณและ คุณหญิงพจมาน จำนวน 32,900,000 หุ้น และ 34,650,000 หุ้น ตามลำดับ แม้เศษๆ 135,225 บาท ก็ต้องกู้ทุกบาท และไม่คืนเลยจนได้รับเงินปันผลหุ้น ชินคอร์ปฯ

นอกจากนั้น ยังมี “หลักฐานใหม่” คือ ในช่วงท้าย นายบรรณพจน์ ก็มีการเปิดบัญชีแยกเงินรับปันผลและค่าขายหุ้นจากบัญชีสำหรับชีวิตปรกติของตัว ถ้าเป็นการโอนจริง ก็ไม่น่าจะต้องทำเช่นนั้น เมื่อได้เงินมาก็ใช้ไป ผสมกับเงินส่วนตัวบ้างก็ไม่แปลก แต่กลับแยกชัดเจนต่างหากจากเงินจริงของตัว และโอนเงิน 570 ล้านบาท และ 330 ล้านบาท ซึ่งคงเหลือจากปันผลใหญ่ๆ ก่อนหน้านั้น รวมกับเงินปันผลรอบต่อมา 454.98 ล้านบาท และค่าขายหุ้นรวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท (เฉพาะของนายบรรณพจน์) แยกออกจากบัญชีชีวิตส่วนตัวที่มีรายการเงินเดือนเข้าบัญชีต่างหากจากกัน

ในทางปฏิบัติ มีความเป็นไปได้สูงที่แยกสมุดบัญชี เพื่อให้คนของคุณหญิง พจมาน เช่น นางกาญจนาภา อาจเป็นผู้ดูแลไว้ก็เป็นได้ เพื่อไม่ให้เกิดความโลภจนอาจเอาเงินก้อนใหญ่ที่ถือหุ้นแทนนี้ไปใช้ส่วนตัว จึงต้องแยกจากบัญชีส่วนตัวของนายบรรณพจน์ให้ชัดเจน

หากนับรวมรายการที่มีการซื้อหุ้นในบัญชี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ โดยใช้เงินของคุณหญิงพจมาน ตั้งแต่รายการที่ถูกศาลสั่งว่าผิดในการรับโอนหุ้นที่เคยเก็บไว้ในชื่อโนมินี คือ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี 738 ล้านบาท ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ก็ยังมีรายการคล้ายๆ กันที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งเดียวกัน เป็น “หลักฐานใหม่” เพิ่มเติมว่า มีหุ้นชินอินเตอร์ฯ อีกประมาณ 126 ล้านบาท ใกล้ๆ ช่วงลอยตัวค่าเงินบาท และหุ้น ADVANC-F อีกประมาณ 89 ล้านบาท ก็จะทำให้เห็นภาพในลักษณะที่ว่า มีการยกระดับนอมินีใช้ชื่อถือหุ้นแทน จากระดับ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี มาเป็นระดับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์นั่นเอง ซึ่งกรณี 738 ล้านบาท บอกว่าเป็นการให้ของขวัญที่ได้ลูกครบ 1 ปี (เศษๆ ?) แล้ว อีก 126 ล้านบาท หรือ 89 ล้านบาท จะเป็นค่าอะไรอีก??

6. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ค้างหนี้ค่าหุ้น 20 ล้านบาท บาท เมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรกจำนวน 9 ล้านบาท (ทำให้คงเหลือหนี้ 11 ล้านบาท) ได้สั่งจ่ายเช็คชำระให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เงินปันผลงวดที่ 2 จำนวน 13,500,000 บาท ได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็คผิด จึงแก้ไขไปจาก 13,500,000 บาท เป็น 11,000,000 บาท (มิเช่นนั้นจะเกินหนี้คงเหลือ) โดยเงินปันผลงวดที่ 2 ที่เหลืออีก 2,500,000 บาท ได้สั่งจ่ายเช็คให้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร เป็นการคืนเงินที่ฝากซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ โดย น.ส.พินทองทาให้การว่า ซื้อมาจากการเดินทางไปสิงคโปร์ในเดือนกันยายน 2546 ท่านก็อาจจะต้องหา “หลักฐานใหม่” ว่า (ก) น.ส.พินทองทา เดินทางไปสิงคโปร์ช่วงนั้นจริงๆ หรือ? โดยแสดงได้จากพาสปอร์ต (ข) ในการซื้อนาฬิกาประมาณ 2.4 ล้านบาทตามคำแถลงนั้น ใช้บัตรเครดิตของธนาคารอะไร? ตัดเงินจากบัญชีไหน? รายการใด? หรือ (ค) ใช้เงินสดไปซื้อหรือ? เป็นพฤติกรรมของ น.ส.พินทองทาเป็นปกติเช่นนั้นจริงๆ หรือ? เป็นการหิ้วเงินสดไปซื้อกว่า 2 ล้านบาทหรือ? แต่เวลาก็เป็นช่วงรับและคืนปันผลและจำนวนก็ตรงกับปันผลคงเหลือต้องคืน

ส่วนเงินปันผลงวดที่ 3 ถึงที่ 6 ได้สั่งจ่ายเช็ครวม 44 ฉบับ มีถึง 42 ฉบับ เป็นเช็คเบิกจ่ายเบิกเงินสด รวม 68 ล้านบาท นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวกไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสดจำนวนมากถึง 68 ล้านบาท มาแสดง หลักฐานเหล่านั้น (ถ้ามี) ก็เป็น “หลักฐานใหม่” ได้

7. ท่านอ้างว่า “มีหลักฐานในสำนวนนี้ ซึ่งรับรองโดยศาลรัฐดูไบว่าผู้เป็นเจ้าของบริษัทวินมาร์ค คือ นายมาห์มูด โมฮัมหมัด อัล อันซารี (นายมาห์มูด โมฮัมหมัด) ... โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้กล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2544 แล้ว ก็ไม่มีเอกสารใดๆ ที่แสดงว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เกี่ยวข้องสั่งการเกี่ยวกับธุรกรรมใดๆ ของบริษัทวินมาร์คทั้งสิ้น”

ถือว่ามีการเขียนสำนวนที่แยบยล แต่ก็จับ “ความจริง” ได้ ว่า วินมาร์ค ตั้งมาตั้งแต่ปี 2537 (ตั้งแต่ช่วงเป็น รมว.ต่างประเทศ และมีโอกาสร่วมในนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน 3 ปีก่อนลอยค่าเงินบาท)

ซึ่งมี “หลักฐานใหม่” คือ หนังสือจากทาง กลต. ที่ได้แสดงความเห็นแย้งกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยในหนังสือเรียน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งลงนามโดยเลขาธิการ ก.ล.ต. วันที่ 29 ตุลาคม 2551 ระบุว่า “แต่ก็มีพยานหลักฐานจำนวนมากในสำนวนคดี ทั้งในเรื่องการสั่งการและการรับประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน หรือนิติบุคคลในทอดต่างๆ เชื่อมโยงว่า ในปี 2537 ที่มีการจัดตั้ง Win Mark Limited พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นเจ้าของผู้รับประโยชน์ ตลอดจนมีอำนาจหรืออิทธิพลในการควบคุมจัดการกองทุน OGF และ ODF ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนดังกล่าว จนมีการขายหุ้นบริษัท SC ออกไปในปี 2549 ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่แจ้งเปลี่ยนแปลงเจ้าของผู้รับประโยชน์ในกองทุนทั้งสอง” ในเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ข้อมูลยอมรับแล้วว่า “โดยเฉพาะ..หลังรับตำแหน่ง..” นั้น แสดงว่าเป็นครั้งแรกที่ยอมรับว่า ตนเป็นเจ้าของ และเคยเกี่ยวข้องกับการสั่งการเกี่ยวกับธุรกรรมในวินมาร์คในช่วงก่อนหน้านั้น ดังวลี “โดยเฉพาะ..หลังรับตำแหน่ง..”

ประเด็นสำคัญที่ท่านอ้างถึง นายมาห์มูด โมฮัมหมัดฯ และตามที่ คุณหญิงพจมาน ให้การในวันที่ 15 กันยายน 2552 ว่า “รู้จักกันมาก่อน เป็นเพื่อนกับอดีตนายกฯ มาประมาณ 10 กว่าปี เป็นเพื่อนนักธุรกิจสมัยที่ทำธุรกิจอยู่” แล้วทำไมจึงไม่กล้าเปิดเผย ตั้งแต่ถูกสื่อมวลสอบถามหาว่าโอนไปเกาะฟอกเงินสมัยปี 2543 หรือเป็นเพราะหากอ้างชื่อก่อนหุ้นทั้งหมดถูกขายออกไป ก็อาจถูกหักหลังยึดเป็นหุ้นของตัวก็ได้!!

โดยคำชี้แจงนี้ น่าเชื่อว่าเป็นเท็จ ด้วยก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหนังสือถึง ก.ล.ต. อันเป็นหลักฐานทางราชการและอ้างอิงในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 24 มีนาคม 2549 ว่า “จากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียน บริษัท SC พบชื่อ วินมาร์ค แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับครอบครัว” สะท้อนว่า (ก) ไม่ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นเพื่อนกันกว่าอย่างน้อย 15-16 ปี (กว่า 10 ปีก่อนขายหุ้นในปี 2543) มิเช่นนั้น ทำไมต้องไปสำรวจทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงได้ “พบชื่อ” และ (ข) น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับครอบครัว ชินวัตร แสดงว่าน่าจะได้ตรวจสอบกับพี่ชายคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมานแล้ว หรือหลานที่ซื้อหุ้นกลับมาตั้งแต่ตุลาคม 2547 ก็บอกว่าพบกันบ่อยๆ เป็นเพื่อนของพ่อ แต่กลับชี้แจงว่า “จากการตรวจสอบทะเบียน” “พบชื่อวินมาร์ค” และ “ไม่มีความสัมพันธ์กับครับครัวชินวัตร” ทั้งๆ ที่เป็นช่วงวิกฤต ถูกประท้วงมากมาย ก็ยังไม่เปิดเผยให้กระจ่าง ก็ค่อนข้างสะท้อนว่าเป็นความเท็จ

8. เอกสาร 246-2 ที่ ธ. ยูบีเอส ได้รายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในเดือนสิงหาคม 2544 ก็อาจถือเป็น “หลักฐานใหม่” ซึ่งได้รายงานว่า ธ. ยูบีเอส รับมาจาก Vikers Ballas หุ้น 10 ล้านหุ้น (ตอนนั้น พาร์ 10 บาท) ของแอมเพิลริช (เลขที่บัญชี #119449) ซึ่งเมื่อรวมกับหุ้นอีก 5.4 ล้านหุ้น ของวินมาร์ค (เลขที่บัญชี #121751) เป็นเจ้าของเดียวกันตามกฎหมาย ด้วย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ 2535 มีมานาน และมีภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งหากแอมเพิลริชเป็นของครอบครัวชินวัตร และวินมาร์คเป็นของนายมาห์มูดจริง ครอบครัวชินวัตร ย่อมสามารถทักท้วงให้ ธ.ยูบีเอส ยืนยันว่า 5.4 ล้านหุ้นของวินมาร์คนั้น ไม่มีครอบครัวชินวัตรเป็น Ultimate Beneficiary Owner แทนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะแก้ข้อกล่าวหาปกปิดวินมาร์ค ได้ดีที่สุดแค่ “ธ.ยูบีเอส ‘อาจ’ เข้าใจผิด?” ดังที่ผ่านมา

โดยใน “หลักฐานใหม่” ในเรื่องนี้ คือ ตามที่ นางณัฐยา ผู้อำนวยการฯ สำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้เบิกความว่า “เราถามไปเยอะ แต่เขาตอบมาไม่ครบ ในส่วนที่เขาตอบ เขาตอบว่าเหมือนกับเขารายงานเข้ามาผิด เพราะว่าเขาเป็นเพียง Custodian ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องรายงาน .. คือเขาบอกว่าวันนั้นที่รายงานเข้ามาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 จริงๆเป็นรายการรับหลักทรัพย์จากการโอนหุ้นในฐานะ Custodian ...ในรายงานฉบับนั้น เดิมเขาไปกรอกว่าได้หลักทรัพย์มาในราคา 179 บาทต่อหุ้น ซึ่งจริงๆ เนื่องจากเป็นการโอนแบบ free of payment transfer ก็ไม่ต้องมีราคา เขาก็เลยบอกว่าเขารายงานผิด และ Confirm ว่าเขารายงานเพราะ Acting ในฐานะที่เป็น Custodian ซึ่งในจดหมายฉบับหลังถึงบอกว่าจริงๆ เขาไม่ได้มีหน้าที่ เขาไปจ้าง Law firm อื่นช่วย Confirm transaction นั้น”

เนื่องจากเป็นที่สนใจมากว่า เป็นของคนเดียวกันหรือไม่? คำตอบที่ได้ก็เป็นดังที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณยอมรับและกล่าวอ้างถึงว่า เป็นการแก้ราคาที่ไม่ควรเป็น 179 บาท และไม่ใช่เป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่มีประโยคสำคัญในหนังสือชี้แจงจาก ธ.ยูบีเอสฉบับดังกล่าว เป็น “หลักฐานใหม่” ที่ผูกมัดเข้าไปอีกชั้นหนึ่งว่า “we can confirm that the tansaction which triggered the requirement to make a disclosure was custodian to custodian free of payment..”

และประโยค “We can also confirm that UBS AG Singapore Branch was acting in its capacity as a custodian for its underlying clients when it submitted the Form 246-2” ซึ่งแสดงว่า ทำเพื่อลูกค้า ไม่ใช่ทำหน้าที่รายงานเป็นของตน และที่ทำเพราะเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย (“triggered”) ซึ่งการเติม “ed” ก็แปลว่า เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้ว หากรวมหุ้นของบุคคลเดียวกันตามมาตรา 258 แล้วไม่ผ่าน 5% ตามกฎหมาย ก็ไม่ triggered ซึ่งดีที่ถือได้ว่า หนังสือฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 นี้เป็นหลักฐานที่ทุกฝ่ายใช้อ้างอิงเป็นที่ยุติตรงกัน และแสดงว่า ที่ขอแก้นั้น คือเพียงเรื่อง ราคา 179 บาทและการซื้อขายในตลาดฯ เท่านั้น จริงๆ แล้วหากไม่ใช่ของคนเดียวกัน และไม่ต้องรายงานตามกฎหมายนี้จริง แก้เพียงแจ้งยกเลิกจะไม่ง่ายกว่าหรือ? แต่ยอมรับเพียงว่าแจ้งราคาผิด แต่ไม่ยอมรับว่าเอกสารนี้ ไม่ได้นับรวมตามกฎหมาย กลับยืนยัน (confirm) ว่ามันผ่านเงื่อนไขตามกฎหมาย (“triggered”)

ส่วนเงื่อนไขที่ว่า มีหนังสือจาก Law firm อิสระชี้แจงว่า ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้ง ก็อาจจะจริงว่า ด้วยความเป็น Custodian ของครอบครัวชินวัตร หากมองรวมว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นหุ้นของครอบครัวทั้งสิ้น จะแอมเพิลริช หรือวินมาร์ค ซึ่งการย้ายที่เก็บหุ้นจาก Vickers Ballas มาเป็น ธ.ยูบีเอสนั้น ก็ไม่ต้องรายงาน ก็จริง แต่ไม่ได้แก้ประเด็นว่า ที่รายงานมานั้น เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่? ในเมื่อ ธ.ยูบีเอสยืนยัน (confirm) แล้วว่ามันผ่านเงื่อนไขตามกฎหมาย (“triggered”) แสดงว่านับว่าเป็นของบุคคลเดียวกันตามกฎหมาย ก็เหมือนยามอยู่นอกกะ ถ่ายรูปโจรปล้นได้ จะถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะยามไม่มีหน้าที่เช่นนั้นหรือ?

9. ยังมี “หลักฐานใหม่” ของ คตส. อีกว่า (ก) UBS ได้ส่งหุ้นไปเข้าบัญชี UOB Nominee Private Limited เพื่อบัญชี Win Mark จำนวน 18,048,870 หุ้น ในวันที่ 19 กันยายน 2545 (ข) โดยตัดหุ้นจากบัญชีที่ถือหุ้นของแอมเพิลริช และต่อมา UBS ตัดหุ้นจากบัญชี Pledge A/C – 121751 (Win Mark) จำนวน 17,000,000 หุ้น มาชดเชยบัญชีแอมเพิลริช ในวันที่ 4 ตุลาคม 2545 ทำให้หุ้นในบัญชี Pledge A/C – 121751 ดังกล่าว ลดลงจาก 53,642,130 หุ้น (ตามข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 10 เมษายน 2545) เหลือ 36,642,130 หุ้น (ตามข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 9 เมษายน 2546) เป็นหลักฐานยืนยันว่า แอมเพิลริชและวินมาร์ค เป็นของเจ้าของเดียวกัน จึงตัดหุ้นกว่า 18 ล้านหุ้นจากบัญชีแอมเพิลริช (ที่ทราบเพราะหลังการส่งหุ้นจำนวนนี้ หุ้นในบัญชีที่ ธ.ซิตี้แบงก์ ผู้เก็บหุ้นให้ ธ.ยูบีเอส มีหุ้นเหลือเพียงประมาณ 83,385,000 หุ้นเท่านั้น ซึ่งมีความจริงยุติตรงกันว่า ส่วนแอมเพิลริชรายเดียวก็ต้องมีอย่างน้อย 100 ล้านหุ้นอยู่แล้ว การที่หุ้นเหลือเพียง 83 ล้านหุ้นแสดงว่าต้องตัดหุ้นส่วนของแอมเพิลริชไป) โดยส่งไปเข้าบัญชี วินมาร์ค ที่ UOB และตัดหุ้นจากบัญชีวินมาร์ค มาคืนเพียง 17 ล้านหุ้นก็ทำได้ ทั้งนี้รายการเหล่านี้เป็นรายการที่ไม่มีการชำระเงินแต่อย่างใด (free of payment transfer) เช่นกัน

10. มีความพยายามโต้แย้งว่า การทุจริต ไม่ได้เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง จึงไม่ควรนับมูลค่าหุ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งจากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 แต่มี “หลักฐานใหม่” จากการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 ปี 2544 ว่า ซึ่งมีการ “ขีดฆ่า” ข้อความสำคัญที่ถูกปกปิดไป จากข้อมูลในส่วนที่ 5 ทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ในหัวข้อ สัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ดังนี้ ภายใต้สัญญาร่วมการงานจาก ทศท ที่ได้ลงนามร่วมกันกับบริษัทเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2533 และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาหลัก 6 ครั้ง ดังต่อไปนี้ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2534, ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2536, ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537, ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2539, ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2543 (ข้อตกลงเรื่องการแสวงหาประโยชน์จากระบบสื่อสัญญาณ) , และครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 (ข้อตกลงเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า Pre-paid Card มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544) โดยเป็นการแก้ไขอัตราส่วนแบ่งรายได้สำหรับภาครัฐ จากสัญญาเดิม 25% ตั้งแต่ ตุลาคม 2543-กันยายน 2548 และ 30% ตั้งแต่ ตุลาคม 2543-กันยายน 2558 เป็น 20% ซึ่งการลงนามแก้สัญญาดังกล่าว เป็นเพียงไม่เกิน 3 เดือนหลังรับตำแหน่ง แต่กระบวนการแก้สัญญา ก็น่าจะมีกระบวนการเตรียมการ จนถึงการอนุมัติก่อนหน้าลงนามนั้นนาน จึงถือว่า การเริ่มสะสมการเอื้อประโยชน์กิจการของตนนั้น ตั้งแต่วันรับตำแหน่งหรืออาจจะเตรียมการนานก่อนหน้านั้นก็ได้ การนับแต่วันแรกก็น่าจะถือว่าตัดสินด้วยเมตตาธรรมอยู่แล้ว

หลักฐานใหม่เหล่านี้ ตรงกับ “หลักฐานใหม่” อีกว่า ทักษิณเป็นนักโกหกหลอกลวง ตลอดจน ส.ส. พรรคของตนด้วย ในการสร้างความปั่นป่วนใน กทม. แม้กับคนที่รักตน ปีที่แล้ว อ้างว่า “วันใดเสียงปืนแตก ผมจะมานำประชาชน” แต่ก่อนเสียงปืนแตก ครอบครัวหนีไปต่างประเทศก่อน และเมื่อเสียงปืนแตกแล้วก็ไม่เห็นท่านมาเลย

ครั้งนี้ ครอบครัวก็หนีไปก่อน แต่ท่านกับ ส.ส. ของท่านก็ร่วมกันหลอกประชาชนที่รักท่านว่า ลูกๆ ไปงานนิทรรศการ นี่ก็น่าจะเลิกแล้วนะ ทำไมยังไม่กลับมาล่ะ หากต้องหนีความรุนแรงที่ท่านจงใจสร้าง ท่านก็น่าจะมีมนุษยธรรมพอที่จะบอกกับคนที่รักท่านตรงๆ ว่า ลูกๆ อยู่ต่างประเทศ “หนีความรุนแรง” อย่าหลอกเขามาเสี่ยงโดยจงใจปกปิดข้อมูลนี้ จากคนที่รักท่าน และหลอกครอบครัวของพวกเขาเพื่อตัวท่านเลยครับ

หรือท่านคิดว่า เพื่อชัยชนะของท่าน ท่านและ ส.ส. พรรคท่านเสียสละพี่น้องที่สนับสนุนท่านได้ครับ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น