xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณแถลงปิดคดีแบบไร้ข้อต่อสู้ ต้องพึ่งสื่อให้ปิดคดีในหัวใจประชาชนอย่างเที่ยงธรรม

เผยแพร่:   โดย: ไทยทน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 มกราคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมคณะเดินทางมายื่นคำแถลงปิดคดีความยาว 162 หน้า ที่ลงลายมือชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ สรุปแบบไร้ข้อต่อสู้ว่า

ข้อสรุปส่วนที่ 1 : ข้อกล่าวหาทั้งหมดของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) เป็นเพียงการสันนิษฐาน คาดเดา และการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยไม่มีมูลความจริง ปราศจากหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าว และขัดแย้งกับเอกสารทั้งหมดของราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขัดแย้งคำเบิกความของพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน จึงไม่มีเหตุที่จะฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาให้บุตรและญาติพี่น้องถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน) ไว้แทนโดยไม่เชื่อว่ามีการซื้อขายหุ้นจริง

แต่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งจากทั้งพยานบุคคลและเอกสาร ตลอดจนพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 69,722,880,932.05 บาท และเงินปันผลอีกจำนวน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 76,621,603,061.05 บาทในคดีนี้ เป็นเงินของผู้ที่รับโอนหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสจริง ไม่ใช่เงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสอย่างแน่นอน จึงไม่ใช่เงินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการสูงสุด ผู้ร้องคดีนี้จึงไม่มีสิทธินำมาร้องขอให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ข้อสรุปนี้ ไร้ข้อต่อสู้ต่อหลักฐานมากมาย ดังนี้

1) นายพานทองแท้ ได้รับโอนหุ้นมูลค่า 733.95 ล้าน จากพ่อแม่ โดยทำตั๋วสัญญาใช้เงิน ในวันที่ 1 กันยายน 2543 แต่ต้องทำตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มพิเศษอีก 4,500 ล้านบาท ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2543 เพียง 1 วัน ก่อนวันโอนหุ้น โดยครอบครัวชินวัตรได้เบิกความให้การว่า เป็นค่าหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB)150 ล้านหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ฯ (TMB-C1) 300 ล้านหน่วย รวม 4,500 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อขายทุกหลักทรัพย์ทำที่ “ราคาทุน” แต่ความจริง TMB-C1 นั้นเป็น “ของฟรี” ที่แม่ได้มาเปล่าๆพร้อมหุ้น ในอัตรา 2 TMB-C1 ต่อ 1 หุ้น TMB จึงไม่ใช่โอนที่ทุนอย่างที่ให้การ เพราะราคาทุนของแม่เพียง 1,500 ล้านบาทเท่านั้น

และหากมองมุมที่อ้างว่า นายพานทองแท้ รับโอนอย่างเป็นอิสระในฐานะบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่หุ้น TMB และ TMB-C1 มีราคาตลาดเพียง 5.70 และ 1.30 บาทเท่านั้น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,245 ล้านบาทเท่านั้น แต่นายพานทองแท้กลับใช้อ้างว่าซื้อจากแม่ที่มูลค่ารวม 4,500 ล้านบาท ในเมื่อเป็นหนี้ “อุบาย” อย่างน้อย 3,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% ของหนี้สำหรับมารดา ก็เป็นหลักฐานว่าการคืนปันผลและค่าขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้แม่ด้วยหนี้อุบายนั้น และเป็นหลักฐานการใช้ชื่อถือหุ้นแทนพ่อแม่อย่างชัดเจน

สื่อมวลชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถตรวจสอบข้อมูลการขาย TMB พร้อม TMB-C1ได้จากหมายเหตุประกอบงบการเงินของ ธ.ทหารไทยปี 2544-45 และ ตรวจสอบข้อมูลราคาหลักทรัพย์ทั้งสองได้ง่ายๆ จากระบบ SET Smart ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะซึ่งรวบรวมโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2) ยอดของขวัญวันเกิด น.ส.พินทองทา ชินวัตร จำนวน 370 ล้านบาท เป็นจำนวนที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นการอำพราง ด้วยใกล้เคียงกับยอดซื้อหุ้นจากพี่ชายจำนวน 367 ล้านบาทพอดี ซึ่งทำให้ พินทองทาถือหุ้น 367 ล้านหุ้น และพานทองแท้ถือหุ้น 366.95 ล้านหุ้น เท่าๆ กัน พอดีๆ โดยหากไม่ใช่ทำรายการเพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นแทน ก็น่าจะมีของขวัญวันเกิด เมื่อพานทองแท้อายุครบ 20 ปี หรือ แพทองธารอายุครบ 20 ปีด้วยในลักษณะคล้ายกัน แต่เท่าที่ติดตามข่าวมาก็เชื่อว่าไม่มี เป็นการสร้างรายการเพื่อปรับชื่อในการถือหุ้นเท่านั้น

และหากถือเป็นการแบ่งสมบัติจำนวนใกล้ๆ กันให้บุตรทั้งสาม เมื่อขายหุ้นแล้ว ก็น่าจะได้แบ่งเงินสดให้ น.ส.แพทองธารไปด้วย เพราะไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งของบิดาอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้โอนแบ่งแต่อย่างใด ทำให้เชื่อได้มากกว่าว่าเป็นการกระบวนการใช้ชื่อบุตรถือหุ้นแทนมากกว่า และที่ไม่ได้แบ่งให้ ก็เพราะภารกิจถือหุ้นแทนจบสิ้นแล้ว พ่อลงจากตำแหน่งแล้ว โดยเมื่อโอนไปที่ต่างๆ เช่น ประไหมสุหรี ซื้อหุ้นสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อเหมืองเพชร ก็เป็นที่เห็นประจักษ์กันทั่วโลกว่า ผู้เป็นเจ้าของคือ ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้เงินที่ผ่านจากการซุกหุ้นเหล่านี้มาใช้ในฐานะเจ้าของแท้จริง

3) นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ ได้หุ้นมาโดยไม่มีหลักฐานการชำระเงินค่าหุ้นชินคอร์ปฯ ด้วยเงินของตนเองเลย โดยมีตัวอย่างหนี้จำนวน 102,135,225 บาท เพื่อชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนหุ้น SHIN เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 เป็นเงินที่คุณหญิงพจมาน เป็นผู้ออกเงินชำระทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งแม้นายบรรณพจน์มีเงินเข้าบัญชีหลายสิบล้านบาท ก็มิได้คืนเงินเลย แม้เศษๆ 135,225 บาทก็ไม่ได้คืนนานถึง 3-4 ปีด้วยเงินของตนเอง รอจนรับปันผลหุ้น SHIN จึงนำมาชำระคืน ในช่วงท้าย ก็มีการเปิดบัญชีแยกเงินรับปันผลและค่าขายหุ้นจากบัญชีสำหรับชีวิตปรกติของตัว

4) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ค้างหนี้เพียง 20 ล้านบาท โดยมิได้คืนเงินเลย เป็นเวลา 3-4 ปี ทั้งที่ก็มีเงินไม่น้อย แล้วจึงทยอยชำระด้วยปันผลที่ได้รับจากหุ้นที่ได้รับโอนนั้น โดยไม่ใช้เงินของตนเองเลยเช่นกัน และก็มิได้เคยคืนเงินแต่อย่างใดเป็นเวลาประมาณ 3 ปี แล้วจึง ชำระคืนหนี้ค่าหุ้นดังกล่าว จากปันผลที่ได้รับ 2 ครั้งแรก 9 ล้านบาท และ 11 ล้านบาท โดยครั้งที่ 2 นั้น ได้รับปันผลมา 13.5 ล้านบาท ก็สั่งจ่ายเต็มจำนวน หลังจากนั้นจึงขีดฆ่า (ด้วยคงรู้ตัวว่า จ่ายเกินหนี้แล้ว) และแก้ไขเป็น 11 ล้านบาท นับว่าเป็นการจ่ายด้วยสัญชาตญาณนอมินีจริงๆ และส่วนที่เหลือจากเข้าบัญชี พินทองทา ซึ่งต่อมาบอกว่าเป็นค่านาฬิกาหรูหลายเรือน ก็คงแล้วแต่ว่าใครจะเต็มใจเชื่อว่า หลานเป็นคนซื้อนาฬิกาหลักล้านบาทหลายเรือน แล้วขายต่อให้หรืออย่างไร และช่างเป็นเวลาที่ประจวบพอดีกับการคืนปันผลในจำนวนที่เพิ่งขีดฆ่าบนเช็คเพื่อแก้ไขจำนวนไปอย่างเหลือเชื่อ

5) วินมาร์ค (WM) มีพฤติกรรมซุกหุ้นกลุ่ม SC และบริษัทอสังหาฯ อีก 5 บริษัท คตส. เห็นว่าผิดปรกติด้วยซื้อทุกหุ้น ขายทุกหุ้น ทุกครั้ง ที่ราคาพาร์ ทั้งๆ ที่มูลค่าทางบัญชีไม่เหมือนกันเลย กำไร/ขาดทุนไม่เหมือนกัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลงกรรมการ นอกจากนั้น ยังจ่ายเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน หลายงวด จ่ายกว่า 550 ล้านบาท ในช่วงเดือนพฤษภาคม ล่วงหน้าร่วม 3 เดือนกว่าจะได้หุ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 พิรุธคือ ระยะเวลาชำระเงิน ตรงกับที่ต้องใช้จองหุ้น ธ.ทหารไทย และหากวินมาร์คเป็นของนายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี มหาเศรษฐี ชาวตะวันออกกลางจริง จะต้องยอมจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนรับหุ้นหลายเดือนเชียวหรือ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงวิกฤต ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ก็บอกกับสื่อมวลชนเองว่า เป็นช่วงวิกฤต ขายได้ที่พาร์ก็ดีแล้ว

ที่สำคัญคือ กลต. ตรวจสอบพบว่า ในยอดรวม 1,500 ล้านบาทค่าหุ้น 5-6 บริษัทที่วินมาร์คซื้อจากทั้งคู่นั้น เงินประมาณ 1,200 ล้านบาทมาจากบัญชีที่ใช้ชื่อวินมาร์ค แต่ประมาณ 300 ล้านมาจากบัญชีของตนเอง แต่อ้างชื่อวินมาร์ค!!

โดย ดีเอสไอ และ กลต. พบหลักฐานชัดแล้วตรงกันว่า วินมาร์คและแอมเพิลริชเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ผ่านกองทุนซิเนตร้าทรัสต์ และบลูไดมอนด์ และพบตรงกับ คตส. อีกประการ คือ วินมาร์ค มีรหัสบัญชี 121751 ที่ ธ.ยูบีเอส สิงคโปร์ เคยถือหุ้น SHIN ประมาณ 54 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท = 5.4 ล้านหุ้นช่วงพาร์ 10 บาท) ด้วย !!

6) แอมเพิลริช เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปี 2548 ตามหนังสือรับรองบริษัท มีเงื่อนไขว่า “Any withdrawal is to be authorised by Dr. T. SHINAWATRA solely.” แสดงว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียวในช่วงเวลาดังกล่าว จนถึงปี 2548 จึงได้มีชื่อบุตรทั้งสองปรากฏเป็นผู้มีอำนาจลงนาม ไม่ตรงกับที่ได้อ้างว่าโอนหุ้น ARI ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ในวันที่ 1 ธันวาคม 2543

7) นอกจากนั้น ในวันที่ 24 สิงหาคม 2544 UBS ทำรายงาน 246-2 ต่อสำนักงาน กลต. โดยนับหุ้น SHIN จำนวน 10,000,000 หุ้น ของ ARI รวมกับหุ้นอีกจำนวนอีก 5,405,913 หุ้น ทั้งนี้ มีหลักฐานว่าเป็นหุ้นของวินมาร์ค รวมเป็น15,405,913 หุ้น (พาร์ 10 บาท) คิดเป็นร้อยละ 5.24 ก็เป็นหลักฐานยืนยันการนับหุ้น 10 ล้านหุ้นของ ARI และอีกกว่า 5 ล้านหุ้นของ WM เป็นของเจ้าของเดียวกันตามมาตรา 258 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

ดูเหมือนมีความเห็นในเรื่องรายงาน 246-2 ว่า ในฐานะคัสโตเดียน “ไม่มีหน้าที่ต้องรายงานนี้” แต่ไม่ได้แก้ความจริงบนรายงานนี้เลย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คือประมาณ 5 ปีต่อมา UBS ก็ยังยืนยันว่า เอกสารนี้มีที่ผิดเล็กน้อย คือ ไม่ใช่เป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาหุ้นละ 179 บาทแต่อย่างใด แสดงว่าการนับรวมหุ้นเป็นของบุคคลเดียวกันเกิน 5% (triggered) ไม่ผิด การบอกว่า “ไม่มีหน้าที่” เป็นเหมือนการบอกว่า ยามที่ถ่ายภาพโจรปล้นทรัพย์ได้นอกกะทำงาน ไม่มีหน้าที่ต้องส่งภาพนั้น ก็ไม่เป็นเหตุให้ไม่เอาภาพถ่ายนั้นมาใช้เป็นหลักฐานเอาผิดโจรในภาพแต่อย่างใด

ข้อสรุปส่วนที่ 2 : ข้อเท็จจริงยุติจากการไต่สวนแล้วว่า การออกมาตรการต่างๆ ทั้ง 5 ข้อ คือ

1. การแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตรา พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ.2527) พ.ศ.2546

2. กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ( CELLULAR MOBILE TELEPHONE ) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ ที่ต้องจ่ายให้ บ.ทศท.ฯ จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) แบบบัตรเติมเงิน หรือ Prepaid Card ให้บริษัท AIS เป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบอัตราก้าวหน้าในอัตราร้อยละ 25- 30

3. กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE ) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม ( Roaming ) เอื้อประโยชน์ชินคอร์ปฯ และ AIS โดยแก้ไขให้ AIS เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นที่มีผลให้ AIS ไม่ต้องจ่ายเงินกว่า 18,970,579,711 บาท ให้กับ บ.ทศท ฯ และ กสท.

4. กรณีอนุมัติโครงการยิงดาวเทียม IP STAR การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2547 การอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ เอื้อประโยชน์ บ.ชินคอร์ปฯ และ บ.ชินแซท เทิลไลท์ จำกัด และ

5. กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่า กู้เงินธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ จำนวน 4,000 บาทในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน และขยายเวลาปลอดการชำระหนี้ จาก 2 เป็น 5 ปี เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์การพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า จาก บ.ชินแซท ฯ นั้น ไม่ได้ทำให้หุ้น บมจ.ชินคอร์ปฯ มีราคาสูงขึ้นผิดปกติ แต่ราคาหุ้นขึ้นลงไปทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใน อัตราที่ใก้ลเคียงกันตลอดเวลา ซึ่งเงินที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือได้ทรัพย์มาโดยไม่สมควรตามข้อกล่าวหา

เป็นการสู้คดีที่แปลก ที่อ้างว่า ราคาหุ้นในตลาดของหุ้นอื่นๆ หรือภาพรวมตลาดหลักทรัพย์เป็นดัง “เกราะป้องกัน” ทำให้พ้นผิดไปได้ ด้วยแต่ละหุ้นก็อาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป กลุ่มปตท. มีมูลค่าดีขึ้น เมื่อราคาปิโตรเคมี และราคาน้ำมันดีขึ้น กลุ่มปูนฯ ก็คล้ายกัน กลุ่มธนาคาร หลายธนาคารก็ฟื้นเพราะเพิ่มทุนได้ และมีการดำเนินงานดีขึ้น ไม่ได้แปลว่า ทุกหุ้นต้องขึ้นตามกัน บางธนาคารก็ล้มละลายไปเลย สถาบันการเงินมากมายก็มีมูลค่าหุ้นเป็นศูนย์ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า หุ้นที่ขึ้นด้วยเหตุผลสุจริต ก็ไม่มีปัญหา แต่ขึ้นด้วยการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์กิจการของตนก็ต้องเอาผิด

กล่าวเช่นนี้ อีกไม่นาน ก็จะมีคำว่า “2 มาตรฐาน” ออกมาอีก แต่ต้องบอกว่า หากหุ้นอื่นๆ มีนโยบายรัฐเอื้อด้วยมีรัฐมนตรีเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ก็เอาผิดด้วยเช่นกัน จึงไม่มีปัญหา “2 มาตรฐาน” แต่อย่างใด

เชื่อว่าคดีคงปิดอย่างเที่ยงธรรม ด้วยคำแถลงปิดคดีของผู้โต้แย้งไร้ข้อต่อสู้ที่รับฟังได้ แต่ความปั่นป่วนในบ้านเมืองก็ยังคงอยู่ หากสื่อมวลชนยังยอมปล่อยให้ “ความเท็จ” ออกมากรอกหูประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ไทยทนเชื่อว่า สื่อมวลชนควรเป็นกลางสำหรับทุกฝ่ายทางการเมือง แต่ไม่ควรเป็นกลางให้ “ความเท็จ” เป็นที่รับฟังกัน และปล่อยให้มีคนยังหลงเชื่อ “ความเท็จ” กันมากมาย จนเป็นความวุ่นวายแตกแยกในบ้านเมือง

1.จนบัดนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ยังบอกว่า ผิดแค่เซ็นชื่อให้ภรรยาซื้อที่ดิน หากสื่อปล่อยให้ชาวบ้านเชื่อตาม ก็จะไม่เข้าใจการทุจริตโดยการขัดกันของประโยชน์ผิดอย่างไร

2. หากบอกว่า หุ้นขึ้นเหมือนหลักทรัพย์อื่น หากมีความผิด กลุ่มปตท. กลุ่มปูนซิเมนต์ฯ กลุ่มธนาคารบางแห่ง ก็ควรผิดด้วย มิเช่นนั้นจะเป็น “2 มาตรฐาน” ก็ไม่ควรปล่อยให้ “โกหก” ประชาชนต่อไป ด้วยหากกลุ่มเหล่านั้น มีผู้ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ก็มีความผิดด้วยเช่นกัน

มีผู้กล่าวว่า “สื่อมวลชนมีอำนาจสูง ต้องใช้ด้วยความรับผิดชอบสูงด้วย” จึงหวังว่า สื่อมวลชนจะรับผิดชอบให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เที่ยงธรรม เพื่อรักษาความชอบธรรมในบ้านเมืองที่เรารักร่วมกันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น