xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีแดงเดือด งุบงิบสัมปทาน รัฐเสียรายได้ 5 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท
25 มีนาคมนี้ จับตาดูการทำสัญญาระหว่าง อสมทกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (BEC) ในฐานะผู้ผลิตรายการให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ความผิดปกติหลายประการในเอกสาร ส่งผลให้ช่อง 3 ได้เปรียบในคู่สัญญา แต่รัฐจะเสียรายได้มากกว่า 4 พันล้านบาท กับการต่อสัญญา 10 ปี และโดยรวมแล้ว รัฐอาจจะเสียมากว่านั้นถึงหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว !!

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระผู้กัดเรื่องดังกล่าวแบบไม่ปล่อย อาสานั่งลงเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับเราแบบไม่กั๊ก หลังจากที่เขาได้ไปยื่นเรื่องค่อป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของสัญญาที่เกิดขึ้นมาแล้ว มาคราวนี้เขาขอให้ประชาชนคนไทยจับตาดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลัง วันที่ 25 มีนาคมนี้ให้ดีว่า อสมท จะกล้าแอ๊บแบ๊วต่อสัญญากับบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์หรือไม่

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 นายปานเทพพบว่ามีการเจรจาระหว่าง อสมท กับบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ หลังจากนั้นก็เกิดข้อตกลงว่าบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จะมอบเงินจำนวน 405 ล้านบาทให้แก่ อสมท โดยที่ในวันนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร

“ตอนนั้นในเอกสารยังไม่มีใครรู้ว่ามีความพยายามในการต่อสัญญา รู้แต่ว่ามีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้น ผมก็เลยศึกษาแล้วก็พบว่า มีความพยายามที่จะต่อสัญญากับไทยทีวีสีช่อง 3 หรือบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์อีกสิบปี หลังจากวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งจะเป็นวันสิ้นสุดสัญญาระหว่าง อสมท กับบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ นับไปอีก10 ปีข้างหน้า ซึ่งผลตอบแทนที่บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จะจ่ายให้กับ อสมท รวมทั้งสิ้น 2,002 ล้านบาท ทีนี้เงินจำนวน 2,002 ล้านบาท ถ้าบวกกับเงินอีก 405 ล้านบาทที่เขาจ่ายเพิ่ม รวมกัน 10 ปีก็จะตกประมาณสองพันสี่ร้อยกว่าล้านบาท ซึ่งไอ้สองพันสี่ร้อยกว่าล้านบาทนั้นพอหารสิบปีก็ตกปีละ 240 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าเทียบกับทรูวิชั่นส์ซึ่งเป็นโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก คนดูน้อยกว่า โฆษณาก็แย่กว่า เรตติ้งก็แย่กว่าช่องสาม เขายังจ่ายให้แก่ อสมท650 ล้านต่อปี สูงกว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสัญญาในอีกสิบปีข้างหน้าของช่องสาม ที่ต่างกันกว่าสามเท่าตัว ตรงนี้ถือว่ามีพิรุธอย่างมาก พอเห็นพิรุธแบบนี้ก็ทำให้ไปตรวจดูทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น”

พบ 3 ประเด็นพิรุธ

พิรุธที่เกิดจากค่าตอบแทนที่บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จ่ายให้อสมท ก้อนนั้น ทำให้นายปานเทพสามารถสาวไปถึงต้นตอของปัญหาซึ่งเกิดจากสัญญาฉบับปัจจุบัน(ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 25 มีนาคม) ซึ่งเต็มไปด้วยพิรุธ และปัญหาอีกมากมาย

“เราพบถึงสามประเด็นที่เกี่ยวกับพิรุธในการต่อสัญญาครั้งนี้ อันที่หนึ่งคือพิรุธว่า อาจจะผิดกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าทำไม่ได้ มีทั้งผิดกฎหมายทั้งในแง่ของตัวกฎหมายพระราชกฤษฎีกาในการตั้ง อสมทเอง มีการลงนามสัญญาที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี แล้วก็ยังมีการกระทำที่อาจจะนำไปสู่การที่ทำให้สัญญาเป็นโมฆะได้ด้วย เช่น วันลงนามสัญญาเอกสารไม่ครบ และวัตถุประสงค์ของบริษัทบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ของตระกูลมาลีนนท์ วันลงนามสัญญานั้นไม่มีวัตถุประสงค์ในการทำกิจการวิทยุโทรทัศน์เลย แม้จะมีในภายหลังก็ขัดต่อกฎหมายหลักคือพระราชกฤษฎีกาในตอนนั้น สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การทำให้สัญญาทั้งหมดเป็นโมฆะได้ นี่คือข้อแรกที่ตรวจเจอ”

“ข้อที่สองที่ตรวจเจอคือ พบว่ามีการกระทำผิดต่อสัญญาสองเรื่องสำคัญ คือหนึ่งพบว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะของ BTO คือ Build –Transfer – Operation หมายความว่าบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์มีหน้าที่สร้างและจัดหาอุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโทรทัศน์ แล้วก็ส่งมอบให้แก่อสมท ทันที เมื่อส่งแล้วจึงขออนุญาต่ อสมท เพื่อใช้งาน แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงกลับไม่เคยมีการทำอย่างนั้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ใช้วิธีให้ทรัพย์สินเหล่านั้นตกเป็นของตัวเองก่อน แล้วค่อยๆ ทยอยโอนตรวจรับทีหลังซึ่งผิดเงื่อนไขทางสัญญาอย่างสิ้นเชิง”

“หนำซ้ำยังพบว่ามีกรณีการผ่องถ่ายให้แก่บริษัทลูกอื่นๆ อีก รวมไปถึงบริษัทแม่คือบีอีซีเวิลด์ ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ทรัพย์สินจำนวนมากไม่ตกอยู่ในมือของ อสมท พิรุธในการเซ็นสัญญาครั้งนี้ไม่ใช่ผมคิดเองคนเดียว แต่มีรายงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรายงานที่มาจากคณะกรรมการตรวจสอบชุดหนึ่ง ซึ่งแต่งตั้งโดยรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ อสมทในสมัย อ. พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ซึ่งแต่งตั้งคุณจรัญ ภักดีธนากุลขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งพบความผิดปกติอย่างหนึ่ง แล้วก็ยังมีของคณะกรรมการกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งเป็นของ ส.ส. ก็ตรวจเจออีกว่ามีความผิดปกติในสัญญาดังกล่าวเช่นกัน นี่เฉพาะเรื่อง BTO นะครับ”

ความผิดปกติประการต่อไปที่นายปานเทพตรวจพบ นั่นคือการถ่ายโอนและให้ผู้อื่นเช่าเวลาไปดำเนินงานแทน ซึ่งในตัวสัญญาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ต้องดำเนินการเอง ไม่สามารถให้ผู้อื่นเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอสมท เสียก่อน

“ปัญหาก็คือว่ามันไม่เกี่ยวกับว่าจะปล่อยให้เช่าช่วงได้ไหม จะขายเวลาได้ไหม ทำได้ครับ แต่ต้องได้รับอนุญาตจาก อสมท ก่อน ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมาเป็นการกระทำที่ไม่ได้ขออนุญาตจาก อสมท เกือบทั้งหมดเลยในทุกกรณี นี่เป็นการผิดสัญญาสาระสำคัญข้อที่สองครับ”

บอร์ด อสมท กลับลำ

นายปานเทพเผยว่า การทำผิดสัญญาดังกล่าวไม่ใช่เพียงเขาคนเดียวที่ตรวจพบ แต่คณะกรรมการของ อสมท เองก็เป็นผู้ที่รับรู้ จนนำไปสู่ความพยายามที่จะเขียนเกษียนหนังสือไปขอยกเลิกสัญญาฉบับดังกล่าว โดยมีลายมือของ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท เป็นคนเซ็นกำกับด้วยตัวเอง

แต่ทว่า ในภายหลังประธานบอร์ด อสมท รายนี้กลับกลับลำกลางอากาศ ออกมาแถลงข่าวยอมรับสัญญาฉบับดังกล่าวว่าชอบโดยกฎหมายแล้ว มิหนำซ้ำยังข้ามหัวคณะกรรมการชุดที่เขาแต่งตั้งขึ้นจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานราชการต่างๆ แล้วไปเจรจาต่อสัญญาด้วยตัวเอง

“หลังจากปี พ.ศ.2535 ที่ผ่านมาเรามีพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 บัญญัติเอาไว้ว่าโครงการใดก็ตามที่เกินหนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งไม่ใช่คนใน อสมท หรือบอร์ด อสมท เข้าไปพิจารณา วางขั้นตอนการประมูล แต่ปรากฏว่าเที่ยวนี้ทางอสมท ดำเนินการทุกอย่างเอง ทั้งๆที่ได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาแล้วจากหน่วยงานข้างนอก ซึ่งถือว่ามีพิรุธ และถือว่าเป็นการกลับลำของตัวเองอย่างแท้จริง เพราะตัวเองตั้งคณะกรรมการประมูลเองแท้ๆ แต่กลับไปต่อรองราคาเอง ซึ่งมันมีพิรุธมากในเรื่องนี้”



ส่วนแบ่งต่ำกว่าราคาตลาด

และพิรุธที่สำคัญที่สุดก็คือ ภายหลังจากเจรจาตกลงเรื่องราคานั้น อสมท กลับได้ส่วนแบ่งในจำนวนที่ต่ำกว่าราคาตลาดหลายเท่าตัวอีกด้วย

“เราพบว่ามีการเพิ่มเงินอีกแค่ 405 ล้านบาท เพื่อต่อสัญญาช่อง 3 ไปอีกสิบปี ด้วยการให้บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จ่ายเพียง 2,002 ล้านบาท(เหมาจ่ายตลอด 10 ปี) ซึ่งถือว่าต่ำมาก เราก็ไปตรวจดูพบว่ามันมีพิรุธหลายเรื่อง เพราะว่ามีการคำนวณโดย อสมท คำนวณรายได้ในอนาคตของบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น อยู่ดีๆ ก็คาดการณ์ว่าปี 2552 จะปิดงบไม่สำเร็จ จะมีรายได้ต่ำกว่าปี 2551 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่มองโลกในแง่ร้ายผิดปกติ จากสายตาของ อสมท และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย แล้วก็คำนวณต่อไปในอนาคต อันที่สองก็คือ อสมท คิดว่ารายได้ของบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์อีก 10 ปีข้างหน้ารวมกันไม่เกินสี่หมื่นหนึ่งพันล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่คณะกรรมาการกิจการการสื่อสารและโทรคมนาคม ของส.ส. เขาประเมินแบบอนุรักษนิยม เขาพบว่าบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์น่าจะมีรายได้รวมกันอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าเก้าหมื่นหกพันล้านบาท ซึ่งคนละเรื่องกันเลย ซึ่งการคำนวณต่างๆ ก็เป็นผลทำให้การคำนวณรายได้ต่างๆ ซึ่งต้องจ่าย อสมท เหลือแค่ 405 ล้านบาทเท่านั้น”

พิรุธทั้งหลายเหล่านี้ ศ.ดร.สุรพลได้อธิบายเอาไว้ในรายการคนในข่าว ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี – ทีวีของประชาชน แต่เพียงว่า เป็นสัญญาที่สืบทอดมาจากการเปลี่ยนแปลงตัวสัญญาในสมัยที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด อสมท เมื่อปี พ.ศ. 2532

สัญญาขัดพระราชกฤษฎีกา

ซึ่งนายปานเทพก็ได้ตอกกลับไปว่า “ที่มาที่ไปของการทำสัญญาฉบับนั้นขัดต่อพระราชกฤษฎีกาอย่างเห็นได้ชัด”
“ในสัญญานั้นมีพิรุธมากเรื่องนี้ ข้อที่หนึ่งสัญญาในสมัยคุณเฉลิมเขาตัดค่าตอบแทน 6.5% ซึ่งเป็นอัตราที่เทียบกับรายได้ออกไป การตัด 6.5% หายไปเท่ากับว่าทำให้ 20 ปีที่ผ่านมา อสมท สูญเสียรายได้ตรงนี้ประมาณห้าพันสองร้อยล้าน แล้วอีกสิบปีถ้าต่อไปอีกก็จะหายไปอีกประมาณสี่พันกว่าล้านบาท รวมเป็นหมื่นล้าน ปัญหาก็คือ แล้วมันทำได้หรือเปล่าในการทำให้ อสมท เสียประโยชน์ภายใต้สัญญาดังกล่าว เราพบว่าพระราชกฤษฎีกาในการจัดตั้ง อสมท ไม่อนุญาตให้กระทำการใดก็ตามที่ผูกพันกับเอกชนแล้วทำให้ อสมท เสียประโยชน์ เพราฉะนั้น เราเชื่อว่าสัญญาดังกล่าวขัดต่อพระราชกฤษฎีกาในการจัดตั้ง อสมท ”

“ข้อที่สองที่ถือว่ามีพิรุธมากๆ ก็คือ เวลาเสนอ ครม. ไปเสนอครม.อย่างหนึ่ง แต่เวลาลงนามสัญญา ไปลงนามสัญญาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าการทำอย่างนั้นเท่ากับว่าสัญญานั้นไม่ชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้เป็นโมฆะได้ เช่น สัญญานี้ตามมติ ครม. บอกว่า การต่อสัญญาต้องขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อยสองปี แต่อยู่ดีๆ ไปตัดเขาออกสองปี เท่ากับว่าเป็นความขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง แล้ววันนี้ทางช่อง 3 ก็ไม่ได้ไปขอสัญญาล่วงหน้าที่จะต่อ 2 ปีนั้น ก็กลายเป็นว่าต่อสัญญาไม่ได้แล้ว และประการที่สองถ้ายึดตามมติครม. เขาบอกว่า ค่าตอบแทนที่ให้แก่ อสมท ตลอดทั้งปี ต้องไม่น้อยกว่าสองพันสองล้านบาท ซึ่งก็เป็นประการที่สองเช่นเดียวกัน แล้วเขาไม่ได้ระบุว่า ห้ามไม่ให้เกินเท่าไหร่ อัตราเงินเฟ้อเท่าไหร่ เป็นอันว่าตามมติ ครม. ขอให้ได้เงินไม่น้อยกว่าสองพันสองล้านบาท จะเป็นเงินเท่าไหร่ก็ได้ตามราคาตลาด แต่สัญญากลับไปลงเพิ่มเติมว่า ต้องมีการควบคุมว่าไม่เกิน 10% ตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเราเห็นว่ามันเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี”

ย้อนกลับไปก่อนวันที่ ศ.ดร. สุรพลเปลี่ยนใจ กลับลำออกมาพูดหน้าตาเฉยว่า เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เขาได้ไปนั่งจับเข่าคุยกับนายประวิทย์ มาลีนนท์ บอสใหญ่ของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จนเป็นที่มาของการจ่ายเงินเพิ่มเติมจำนวน 405 ล้านบาท แล้วความคิดเห็นของประธานบอร์ด อสมท. คนนี้ก็เปลี่ยนไป

ตรงจุดนี้นายปานเทพไม่ขอวิเคราะห์เจาะลึกว่ามีนอกมีในอะไรหรือไม่ แต่เขาขอให้ประชาชนทุกคนที่มีสถานะเป็นเจ้าของ อสมท เช่นกันจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า เมื่อเกิดความไม่โปร่งใสมากมายถึงขนาดนี้ อสมท จะยังหน้ามึนต่อสัญญากับช่อง 3 อยู่อีกหรือเปล่า

“จริงๆ แล้วถ้าอสมท. ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา เพราะเห็นว่าการกระทำที่ผ่านมาผิดสัญญาก็ดี สัญญานั้นผิด ครม ก็ดี สัญญานั้นขัดต่อกฎหมายก็ดี อสมท จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลเลย คือสามารถเข้าไปดำเนินการต่อ แล้วสามารถไปร่วมดำเนินการในช่วงเวลาต่างๆ เช่าก็ได้ ขายก็ได้ ตามสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว มันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทาง อสมท เพิ่มเติมขึ้นมาเกือบถึงหมื่นล้านต่อปีนะครับ แต่อสมท ตัดสินใจไม่เอา กลับเลือกรายได้ต่อปีประมาณสองร้อยสี่สิบล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่ามันไม่สมเหตุสมผลเลย” นายปานเทพกล่าวทิ้งท้าย

……………………………………………………

สัญญาระหว่างบ.บีอีซี กับ อสมท. ที่ถูกแก้ไขในสมัยที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุงเป็นประธานบอร์ด อสมท (พ.ศ. 2532)

1. จากเดิมที่ในสัญญาระบุว่า บีอีซีจะต้องจ่ายเงินให้กับอสมท. เป็นจำนวนเงิน 6.5% ของรายรับทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 1,205 ล้านบาท ถูกแก้ไขเป็นให้จ่ายรายได้เป็นจำนวนเงิน 1,205 ล้านบาทต่อปี

2. จากเดิมที่เขียนว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของ บีอีซี จะเพิ่มทุนหรือลดทุน ต้องได้รับความเห็นชอบจาก อสมท ก่อน ถูกแก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบีอีซี บีอีซี ต้องแจ้งให้ อสมท ทราบใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งต่อมามติครม.ได้เปลี่ยนใหม่ให้ ช่อง 3 ไม่ต้องแจ้งให้ อสมท ทราบเลย

3. ในการแก้ไขสัญญาปี พ.ศ. 2532 ข้อความที่ระบุว่า “จะพิจารณาให้สิทธิแก่บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์เป็นรายแรก โดยบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์จะต้องแจ้งความประสงค์พร้อมข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรมายัง อสมท. ก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี” ถูกตัดออกไป


คำต่อคำประธานบอร์ด อสมท. แถหน้าตาย


สาระสำคัญที่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท. พยายามย้ำนักย้ำหนาตลอดการสนทนาในรายการคนในข่าว ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี หลังจากที่เขาได้รับเชิญให้มาชี้แจงกรณ๊การต่อสัญญาระหว่าง อสมท กับช่อง 3 ที่ส่อแววว่าจะเต็มไปด้วยปัญหาความไม่โปร่งใส ก็คือ สัญญาฉบับดังกล่าวมีการรับรองอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายมาตั้งแต่สมัยที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด อสมท แล้ว

ดังนั้นทุกสิ่งที่ อสมท กำลังจะปฏิบัติต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะสัญญาฉบับเดิมได้เขียนกำหนดเอาไว้แล้วว่า ถ้าบริษัทบีอีซีไม่ได้ทำผิดกฎกติกาอะไร เขาจะได้รับการยินยอมให้ต่อสัญญาไปอีก 10 ปี

“ในเวลานั้นได้มีการแก้ไขข้อตกลงว่า ถ้าหากดำเนินการออกอากาศครบ 20 ปีไปแล้ว และบีอีซี ไม่ผิดสัญญา อสมท ตกลงให้บีอีซี ออกอากาศไปอีก 10 ปี เป็นสัญญา อสมท เวลานั้น ที่ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัณ) อนุมัติให้ดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งยังมีการระบุว่า บ.บีอีซี ต้องให้ค่าตอบแทนแก่ อสมท ไม่น้อยกว่า 2,002 ล้านบาท และต้องปรับปรุงอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท”

“ถ้าพูดในความหมายทางกฎหมาย อสมท ตกลงให้สัญญานี้ขยายไปอีก 10 ปีแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 แต่คำถามตอนนี้มีคนสงสัยกันมาก คือ อสมท ต่อสัญญาให้แก่ช่อง 3 หรือยัง หรือไม่ก็ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งผมอยากชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างมันถูกกำหนดไว้หมดแล้วจากมติ ครม.เมื่อปี 2532”

“นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขสัญญาอีกข้อ จากเดิมช่อง 3 ต้องจ่าย 6.5% ของรายรับ หรือต้องไม่น้อยกว่า 1,205 ล้านบาท โดยการแก้สัญญาใหม่ ให้ยึด 1,205 ล้านบาทเป็นหลัก เนื่องจากรายได้ บีอีซีฯ ตอนนั้นน้อยมาก หากคิดว่าต้องจ่าย 6.5% แล้ว อย่างไรก็น้อยกว่าที่จ่ายในอัตราขั้นต่ำ ดังนั้น จึงเป็นมติครม. อีกรอบ คือ ไม่ต้องยึด 6.5% แต่ให้เอาอัตราขั้นต่ำ 1,205 ล้านบาทเป็นหลัก”

สำหรับกรณีที่เจ้าตัวเคยเกษียนหนังสือไปบอกยกเลิกสัญญากับบีอีซี แต่หลังจากเข้าไปพูดคุยกับนายประวิทย์ มาลีนนท์บอสใหญ่บีอีซีแล้ว เขาก็กลับลำ 360 องศาออกมาแถลงยอมรับว่าสัญญาฉบับดังกล่าวถูกต้องแล้วนั้น ศ.ดร.สุรพลก็ขอชี้แจงดังนี้

“ประเด็นผิดสัญญาไหม ก็มีอยู่ 2 ข้อ ซึ่งกรรมการสงสัยว่าจะผิดสัญญา ซึ่ง อ.ปานเทพ พูดไม่ผิดหรอกครับว่าผมเป็นคนเขียนจดหมายฉบับนี้เอง ข้อหนึ่งคือ เราสงสัยว่า บีอีซีไม่ได้ดำเนินกิจการเอง เอาไปให้เช่าช่วงซึ่งเป็นข้อห้ามตามสัญญาหรือไม่ ก็แจ้งไปเลยว่าเราสงสัย เพราะรายงานประจำปีที่ บีอีซี เวิลด์ ส่งตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง บีอีซี เวิลด์เป็น บ.แม่ของบีอีซีอีกที และมีบริษัทลูกอีก 20 บริษัท เราสงสัยว่ารายงานประจำปีก็มีโลโก้ของช่อง 3 เราก็สงสัยว่า บีอีซี เวิลด์ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ อสมท จะมาอ้างว่าเป็นคนมาทำช่อง 3”

“มีคนซื้อมาเยอะ ทำรายการ ทำละคร แต่เจ้าของรายการ (บ.บีอีซี คู่สัญญา อสมท) เขายังไม่ได้ขายทั้งหมด เขาก็ดำเนินการโดยขายเวลาบางช่วง รายการอื่นเขาก็ดำเนินการเอง ซึ่งก็จริง เพราะถ้าไปดูงบดุลของเขาจะพบว่า บีอีซี มีระดับผลประกอบการ มีรายได้ในปี 51 ประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่รายได้จะต่ำกว่าบีอีซี เวิลด์ทั้งกลุ่ม” ศ.ดร.สุรพล กล่าว และว่า เพราะฉะนั้นตนและบอร์ด อสมท จึงไม่กล้าปฏิเสธ

“นอกจากนี้ เขายืนยันว่า ทำอยู่เอง ตลาดหลักทรัพย์เขาก็แจ้ง ข้อที่บอกว่า ไม่ได้ส่งอุปกรณ์ เขาตอบเรามาว่า ทรัพย์สินทุกอย่างมีการตรวจนับกันทุกปี โดยผู้แทนจาก อสมท ไปตรวจนับกับเขา แล้วก็มีบันทึก มีลายเซ็นของบุคลากร อสมท แต่งตั้งไปตรวจนับ ล่าสุด เพิ่งตรวจนับเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา พอได้ไปตรวจสอบข้อมูล ก็พบว่าจริง”

“ผมเรียนว่า จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม จะเห็นด้วยหรือไม่ แต่นี่เป็นสัญญาที่ ครม.ลงมติ ในฐานะที่ อสมท เป็นหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องถือปฏิบัติตามสัญญาอันนี้” นี่คือข้อสรุปของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ในฐานะประธานบอร์ด อสมท. คนปัจจุบัน

..............................................................

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น