xs
xsm
sm
md
lg

ครส.ยื่น จม.ให้กำลังใจตุลาการ หลัง“สัตว์นรก”ปาบึ้มบ้าน “จรัญ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ทำหนังสือถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้กำลังใจในการทำงาน หลังคนร้ายปาระเบิดบ้าน “จรัญ ภักดีธนากุล” ระบุเป็นการคุกคามบุคคลในกระบวนการยุติธรรม เป็นภัยร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (3 พ.ย.) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ทำหนังสือถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กำลังใจในการทำงาน หลังจากเกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดใส่หน้าบ้านพักนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเช้ามืดวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา จดหมายดังกล่าว มีใจความว่า

“สืบเนื่องจากวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงทางสังคมในหลาย มิติ หากสังคมไทยยังไม่สามารถตั้งสติเอาชนะความรุนแรงดังกล่าวได้อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางสังคมที่ขยายตัวกว้างขวางขึ้น

ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว สังคมไทยส่วนใหญ่คาดหวังว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยจะเป็นที่พึ่งหวังของความยุติธรรมและทางออกที่ชอบธรรมจากความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งฝักฝ่ายดังกล่าวได้ แต่อย่างใดก็ตาม กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองก็พยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อบั่นทอนกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เป็นผลกระทบต่อตนเองอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ตามที่ปรากฏว่า มีการคุกคามโดยการปาระเบิดบ้านพักของประธานศาลปกครองสูงสุด และล่าสุด เกิดเหตุระเบิดบ้านพักของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในซอยปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือเป็นการข่มขู่คุกคามการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้วิธีการลอบก่อการร้ายอย่างชัดเจน แม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่ก็ถือเป็นการก่อสถานการณ์ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการคุกคามบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก หากกระบวนการยุติธรรมถูกเลือกปฏิบัติ บีบบังคับ หรือบุคคลไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันได้แล้ว ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน

ดังนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนสืบสวนเหตุการณ์ข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นดังกล่าวโดยเร็วที่สุด และขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการทำงานตามหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นอิสระ เพื่อผลประโยชน์ของชาติและสังคมโดยรวม เพื่อเป็นทางออกหนึ่งจากความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วในปัจจุบันนี้ และเป็นที่พึ่งหวังของสังคมต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น