xs
xsm
sm
md
lg

แผนเพิ่มขนส่งตู้สินค้าทางรางทลฉ.อืดลุ้นครม.ไฟเขียวลงทุน2พันลบ.ในปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กทท.รอความเห็น สศช. ดันแผนลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ทลฉ.มูลค่า 2,025.3 ล้านบาทเข้าครม. ชงให้สัมปทานเอกชนบริหารตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 35 เผยโครงการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภาคขนส่งโดยรวม เพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ลดขนส่งทางถนนมาใช้ทางรถไฟเพิ่ม

นายเฉลิมชัย มีคุณเอี่ยม ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มูลค่าประมาณ 2,025.3 ล้านบาทว่า หลังจากคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีมติเห็นชอบและได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งเบื้องต้น กทท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้สัมปทานเอกชนเข้ามาลงทุนเครื่องมือขนาดเล็กและบริหารโครงการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ต้องรอความเห็นของสศช. ก่อน โดยเฉพาะรูปแบบ การให้สัมปทานเอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งเป็นรูปแบบที่กทท.ดำเนินการกับหลายโครงการ แต่เนื่องจากขณะนี้มีการลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnershipหรือ PPP ซึ่งนำมาใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้ว ว่าสศช.จะมีความเห็นอย่างไร โดยทราบว่าคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เลื่อนประชุมจาก 15 มี.ค.ที่ผ่านมาเป็นปลายเดือนมี.ค.นี้

สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ทลฉ. จะดำเนินการบริเวณพื้นที่โซน 4 (อยู่ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และชุด C ) ซึ่งสำรองไว้สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Rail Transfer Terminal) ของ ทลฉ.จำนวน 600 ไร่ โดยกทท.จะลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การรื้อย้ายและก่อสร้างระบบราง ลานขนถ่ายและลานกองตู้สินค้า ระบบสาธารณูปโภค งานอาคาร

รวมทั้งทางรถไฟรางคู่จากสถานีแหลมฉบังเข้าสู่ลานขนถ่ายในท่าเรือ และจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือยกขนหลัก
(Major Equipments) ได้แก่ ปั้นจั่นชนิดเดินบนรางสำหรับยกตู้สินค้าขึ้น - ลงรถไฟ (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งสามารถยกขนคร่อมรางรถไฟได้ทั้ง 6 ราง สามารถจอดขบวนรถไฟบรรทุกตู้สินค้าขบวนละ 34 แคร่ ได้รางละ 2 ขบวนรวม 12 ขบวน โดยให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนบริหารประกอบการเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือย่อย (Minor Equipments) อาทิ รถหัวลาก - หางลาก รถยกตู้สินค้า และจัดหาระบบ Operation (IT)

โดยแบ่งการลงทุนเป็น 2 ระยะระยะที่ 1 วงเงิน 1,090.675 ล้านบาท (2553-2554) เป็นการพัฒนาเพื่อรองรับตู้สินค้าจนถึงระดับจำนวน 1 ล้านทีอียู./ปี และระยะที่ 2 วงเงิน 934.625 ล้านบาท (2560-2561 ) จะสามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่มเป็น 2 ล้านทีอียู./ปี

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ปัจจุบันทลฉ.มีการขนส่งตู้สินค้าทางรางประมาณ 4แสนทีอียู./ปี ที่เหลือใช้ขนส่งทางถนน ซึ่ง การพัฒนาศูนย์การขนส่งฯ ดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในระบบการขนส่งโดยรวม โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายรวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนนมาใช้ทางรถไฟเพิ่มขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น