xs
xsm
sm
md
lg

กทท.คุมเข้มสินค้าอันตราย1เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กทท.เตรียมประกาศ 1เม.ย. เริ่มใช้มาตรการคุมตู้สินค้าอันตรายต้องขนถ่ายจากเรือเข้าคลังสินค้าอันตรายทั้งหมด เผยต้นทุนเจ้าของสินค้าเพิ่ม 600-700 บาทต่อตู้ เดินหน้าเฟส 2 พัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลมอนิเตอร์สินค้าอันตรายจากต้นทางไปยังโรงงานจนถึงการกำจัดกากใช้ได้ ก.ค.-ส.ค.นี้ “เกื้อกูล” เรียกถกมาตรการประกันบุคคลที่ 3
นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะเร่งสรุปมาตรการในการควบคุมดูแลสินค้าอันตรายในเขตท่าเรือ หลังจากเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลจากตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2553 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะมีการทดลองใช้มาตรการควบคุมตู้สินค้าอันตราย ทุกประเภทต้องนำเข้าคลัง
สินค้าอันตรายทั้งหมด และในวันนี้ (17 มี.ค.) จะประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงการทำประกันภัย ที่ครอบคลุมมากขึ้นโดยจะเพิ่มความรับผิดชอบตั้งแต่สินค้าเข้าสู่น่านน้ำไทย-ท่าเรือ-ขนส่งไปยังโรงงาน และบุคคลที่ 3
นายเฉลิมชัย มีคุณเอี่ยม ผู้อำนวยการฯ กทท. กล่าวว่า มาตรการควบคุมสินค้าอันตรายที่ปรับปรุงใหม่ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยให้สินค้าอันตรายทุกประเภทที่เข้าเทียบท่าเรือต้องขนถ่ายโดยตรงจากเรือไปยังคลังสินค้าอันตรายทันที เพื่อรอเจ้าของสินค้า โดยไม่มีการยกเว้น จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2553 โดยจะออกประกาศชั่วคราว ทดลองใช้ก่อน ระหว่างรอระเบียบประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากพบปัญหาในการใช้บริการก็จะยังสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อควบคุมดูแลสินค้าอันตรายทุกประเภทที่เข้ามายังท่าเรือแหลมฉบังให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่าได้มีระบบ DG Net ที่ให้ผู้ประกอบการติดตั้งเพื่อติดตาม(มอนิเตอร์) ตู้สินค้าทุกตู้ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงประเภทของสินค้า การบรรจุหีบห่อ (Packing) เพื่อสามารถบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อสินค้าเข้าเทียบท่าเรือ โดยได้ประสานให้ผู้ใช้บริการและเจ้าของสินค้าส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมและทดลองใช้แล้ว และในเฟส 2 จะมีการพัฒนาระบบการติดตามตู้สินค้าทั้งกระบวนการ ตั้งแต่จากต้นทางไปสู่ปลายทาง หรือ โรงงานจนถึงการกำจัดกาก เพื่อให้ทราบถึงการนำสินค้าไปใช้อย่างไร จำนวนเท่าไร และมีการกำจัดกากของสินค้าอันตรายอย่างไร ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กรมการขนส่งทางบก โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนก.ค.-ส.ค. 2553 นี้
อย่างไรก็ตาม การให้ตู้สินค้าอันตรายทุกประเภทต้องขนถ่ายจากเรือไปยังคลังสินค้าอันตรายจะทำให้เจ้าของสินค้ามีต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 600-700 บาทต่อตู้ต่อเที่ยว ส่วนท่าเรือแหลมฉบังมีสินค้าอันตรายเฉลี่ยประมาณ 40,000 ตู้ต่อปี โดยคลังสินค้าอันตรายมีพื้นที่รองรับตู้สินค้าได้ถึง 1 แสนตู้ต่อเดือนจึงไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่รองรับแต่อย่างใด
สำหรับสินค้าอันตรายนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. สินค้าอันตรายที่ห้ามไม่ให้นำเข้าประเทศเนื่องจากอันตรายมาก การท่าเรือฯ ไม่อนุญาตให้ทำการบรรทุกหรือขนถ่ายหน้าท่า ได้แก่ วัตถุระเบิด สารกัมมันตรังสี และยูเรเนียม โดยสามารถนำเข้ามาได้เฉพาะที่ใช้ในการแพทย์ โดยอนุญาตเป็นคราวๆ 2.สินค้าอันตรายที่อนุญาตให้นำเข้าได้แต่ต้องนำออกจากท่าเรือเลยหรือต้องนำเข้าคลังสินค้าอันตรายทันที ไม่อนุญาตให้วางพักไว้ในบริเวณท่าเรือ ได้แก่ ก๊าซไวไฟ ก๊าซพิษ ของเหลวไวไฟ ของแข็งไวไฟ สารที่ลุกไหม้ได้เอง สารที่เมื่อเปียกน้ำจะเกิดก๊าซไวไฟ สารอ็อกซิไดซ์ สารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ สารพิษ สารแพร่เชื้อ และสารกัดกร่อน และ 3.สินค้าอันตรายที่สามารถพักในพื้นที่นอกคลังสินค้าอันตรายได้ 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น