ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังเข้าโครงการ "เมกะพอร์ต" ร่วมมือสหรัฐฯ เอกซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์หาอาวุธและสิ่งผิดกฎหมาย พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจจับกัมมันตภาพสีหวังสกัดกั้นการใช้ท่าเรือขนาดใหญ่เป็นเส้นทางขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ
นายหาญศักดิ์ วัลลศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือขนาดใหญ่อันดับที่ 20 ของโลก ในแต่ละปีตู้สินค้าสินค้าส่งออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังราว 5 ล้านตู้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านตู้ ในปลายปี 53 จึงมีการนำเครื่องเอกซ์เรย์คอนเทนเนอร์ (X-ray Container) มาใช้ในการตรวจตู้สินค้า เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย
ปัจจุบันสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังใช้เครื่องเอกซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์แบบติดตั้งถาวร จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 540 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดรังสีเอ็กซ์จากใช้ไฟฟ้า ให้รังสีเอ็กซ์พลังงานสูง 9 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ สามารถทะลุแผ่นเหล็กที่มีความหนาได้สูงสุด 36 เซนติเมตร มีประสิทธิภาพในการสแกนตู้คอนเทนเนอร์ 25 ตู้ต่อชั่วโมง มีความปลอดภัยสูงแม้ในขณะที่ไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากไม่มีสารกัมมันตรังสีในตัวเครื่อง
"ปัจจุบันการค้าทั่วโลก 99% ยังใช้วิธีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบสินค้าภายในตู้ โดยจะเป็นการสุ่มตรวจจากระบบฐานข้อมูลความเสี่ยง แต่เครื่องเอกซ์เรย์ช่วยให้การตรวจ สะดวก รวดเร็วและโปร่งใสยิ่งขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าส่งออกทุกตู้จะต้องผ่านการชั่งน้ำหนักก่อนเข้าสู่เครื่องเอกซ์เรย์ โดยจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 60 ตัน และหากเอกซ์เรย์แล้วพบว่ามีความผิดปกติภายในตู้ หรือภาพเอกซ์เรย์ที่ได้ไม่ตรงกับรายละเอียดของสินค้าที่ได้มีการแจ้งไว้ จึงจะเปิดตู้ออกเพื่อตรวจ" ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรฯ กล่าว
"การตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์สามารถตรวจสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ได้ว่าตรงกับที่สำแดงหรือไม่ โดยไม่ต้องเปิดตรวจตู้ จึงสะดวกและรวดเร็วกว่าการเปิดตรวจตามปกติ และไม่ทำให้สินค้าภายในตู้เกิดความเสียหายด้วย และยังสามารถตรวจสอบอาวุธ วัตถุระเบิด หรือสารกัมมันตรังสีที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตู้สินค้าได้อย่างปลอดภัย" นายหาญศักดิ์ กล่าวในระหว่างที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) นำคณะสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
การตรวจตู้คอนเทนเนอร์ด้วยเครื่องเอกซ์เรย์ยังเป็นการรองรับมาตรการตามโครงการว่าด้วยความปลอดภัยเบื้องต้นในการขนส่งตู้สินค้า หรือซีเอสไอ (Container Security Initiative: CSI) ของสหรัฐฯ ที่มีความร่วมมือกับไทย เพื่อป้องกันการก่อการร้ายในสหรัฐฯ จากการขนส่งอาวุธและเคมีภัณฑ์ทางทะเล
ล่าสุดสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังยังมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในโครงการความริเริ่มในการสร้างความปลอดภัยทางการขนส่งตู้สินค้า ณ ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ทั่วโลก หรือ โครงการเมกะพอร์ต (Megaports Initiative: MI) เพื่อป้องกันการก่อการร้ายที่จะใช้ท่าเรือขนาดใหญ่ในการขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย และตรวจหาอาวุธนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี เพื่อสกัดการขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ทั้งขาเข้าและขาออก และทำการขัดขวางก่อนที่จะถูกนำไปใช้ก่อความเสียหายให้ประเทศชาติ
ทั้งนี้ โครงการเมกะพอร์ต เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค การติดตั้งอุปกรณ์ และฝึกอบรมบุคลากร โดยติดตั้งเครื่องตรวจจับกัมมันตภาพรังสีอาร์พีเอ็ม (Radiation portal monitors: RPM) จำนวน 20 เครื่อง เพื่อตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านเข้าและออกจากท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งตู้สินค้าถ่ายลำหรือเปลี่ยนเรือระหว่างท่าเทียบเรือ
"หากตรวจพบสัญญาณกัมมันตภาพรังสีแผ่ออกมาจากตู้ เครื่องอาร์พีเอ็มจะส่งสัญญาณไปยังสถานี โดยแสดงทั้งค่าปริมาณรังสี และตำแหน่งของแหล่งกำเนิดรังสี แต่สินค้าบางอย่างที่มีการแผ่รังสีแต่ไม่เข้าข่ายเป็นอาวุธนิวเคลียร์ เครื่องอาร์พีเอ็มก็สามารถตรวจและรายงานผลได้ เช่น กล้วยหอม เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น" นายหาญศักดิ์ อธิบาย
นอกจากนี้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังยังนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อาทิ ระบบบริหารความเสี่ยงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สินค้าและผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำ การยื่นเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ระบบอาเอฟไอดี (RFID) เครื่องตรวจวัดความหนาแน่น เครื่องตรวจจับวิถีเลเซอร์ และกล้องไฟเบอร์ออปติก