xs
xsm
sm
md
lg

เล็งยื่นศาลปกครอง ระงับ"มอเตอร์เวย์" 1.5แสนล้านทั่วปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 ก.พ.) ที่พรรคการเมืองใหม่ ถ.พระสุเมรุ ย่านสะพานวันชาติ จัดสัมมนาเวทีประชาชนกำหนด (Pepople Forum) หัวข้อ “มอเตอร์เวย์ 1.56 แสนล้าน ใครเข้มแข็ง!?” มีนางสุรางค์ เอกโชติ ที่ปรึกษาอนุกรรมการธิการศึกษาผลกระทบมอเตอร์เวย์ วุฒิสภา นายอำนาจ พละมี รองเลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ร่วมเสวนา
นางสุรางค์ กล่าวว่า มอเตอร์เวย์สายบางประอิน-โคราช ที่มีการคัดค้านตรงนี้ถือเป็นขั้นที่ 1 ซึ่งจริงๆ แล้วจะเป็นสายบางประอิน-หนองคาย เพื่อไปภูมิภาคอินโดจีน แต่ช่วงที่ 1 งบประมาณไทยเข้มแข็งกว่า 29,000 ล้านบาท แต่มาเพิ่มเป็น 59,000 ล้านบาท คิดได้กิโลเมตรละ 300 ล้านบาท
ทั้งนี้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จะใช้งบประมาณตามนโยบายไทยเข้มแข็งใน 5 สายทางหลวงพิเศษ มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 156,840 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม.
2. มอเตอร์เวย์หมายเลข 81 สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 98 กม. 3. มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 89 กม. 4. มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ ระยะทาง 118 กม. และ 5. มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 206 กม. ทั้งนี้เป็นไปตามแผนแม่บทปี 2553 ถึงปี 2559 และแผนแม่บท 20 ปี ระหว่างปี 2540-2559
"มอเตอร์เวย์ที่คนปากช่อง จ.นครราชสีมา เขาต่อต้านการทำประชาพิจารณ์ของกรมทางหลวงที่ผ่านมา เขาก็เชิญคนที่คัดค้านออกจากห้อง อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ เขาคัดค้าน เช่นที่ดินบางผืนจะเล็กหรือใหญ่ พี่น้องเขาถูกตัดถนนผ่าชุมชน ถูกแบ่งพี่น้องเกิดความแตกแยก หากจะไปหากันก็ต้องผ่านทางต่างระดับถึง 9 จุด หากจะผ่านด่าน ก็ต้องจ่ายเงินถึง 9 ด่าน เพราะแต่ละด่านจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 200 บาทต่อหนึ่งเที่ยว ก็จะกลายเป็นผลกระทบด้านสังคม"
นางสุรางค์ กล่าวว่าในปี 2547 มอเตร์เวย์ ผ่านประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตามมาตรา 67 วรรคสอง ระบุว่า โครงการเหล่านี้จะต้องผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผ่านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) โดยองค์กรอิสระ ไม่ใช่เป็นการจ้างบริษัทมาทำ หรือให้จังหวัดทำ หรือกรมทางหลวงทำ แต่จะต้องให้องค์กรอิสระ หรือสถาบันศึกษาทำด้านนี้ ให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งทางอนุกรรมาธิการชุดนี้ ได้สอบถามไปยังกรมทางหลวง และได้คำตอบว่ายังไม่ได้ทำตาม มาตรา 67วรรคสอง และได้คำตอบว่าปีนี้คงไม่สามารถสร้างได้
อย่างไรก็ตาม ทางอนุกรรมาธิการฯเห็นว่า เราคงรอไม่ได้ ดังนั้นต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยขณะนี้กำลังเตรียมการยื่นศาลปกครองให้ระงับโครงการนี้ชั่วคราว และเตรียมการขอให้รัฐบาลระงับร่างกฤษฎีกา ว่าด้วยการเวรคืนพื้นที่ก่อสร้างมอเตอร์เวย์
"เรื่องนี้ประชาชนต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่ให้ใครเข้มแข็ง คนปากช่องแม้จะเป็นผู้ใหญ่บ้านกำนัน เขาก็เห็นด้วย อย่างกรณีที่พื้นที่ตามแผนมีการสร้างไปเฉี่ยวพื้นที่เขาใหญ่ ที่เป็นมรดกโลก นักวิชาการก็บอกว่า หากรัฐบาลจะดำเนินการ ก็คงต้องยกเลิกมรดกโลกเขาใหญ่ก่อน พื้นที่นี้จะไปกระทบกับวัดพระขาว ที่เข้าสู่บล็อกโซน วัดมิตรภาพ ชุมชนมิตรภาพ จะหายไป หรือแหล่งหินตัดใน อ.สีคิ้ว ที่เราสามารถขอเป็นมรดกโลกได้ เพราะเป็นแหล่งอารยะธรรม และเป็นหินที่ไปสร้างปราสาทหินพิมาย ต้องถามว่ารัฐบาลจะเลือกเอาระหว่างมอเตอร์เวย์เพียง 5 ก.ม. กับมรดกโลก"
นางสุรางค์ กล่าวว่า มอเตอร์เวย์ สายชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ชุมชนห้วยใหญ่ ชลบุรี ก็ออกมาคัดค้าน หรือคนเขาย้อย นครปฐม-ชะอำ วังน้อย เขาก็คัดค้าน และเท่าที่รับทราบจากคนปากช่อง เขาเอาหลักฐานมาให้ดูว่า มีเจ้าหน้าที่บริษัทเอาแบบสอบถามไปถามเพื่อให้เลือก แนวทาง โดยบวกโครงการก่อสร้างรถไฟ มีมอเตอร์เวย์ โดยมีของแจกเป็นปากกาเลเซอร์
ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณ 70 ล้านบาท ที่จะนำมาทำประชาพิจารณ์โครงการนี้ รวมทั้งงบประมาณที่อยู่ในระหว่างร่างกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินที่จะต้องใช้เงินถึง 7 พันล้านบาท หากไปบวกกับค่าทำประชาพิจารณ์ เชื่อว่าจะมีการเพิ่มงบประมาณเพิ่มอีกมาก และประชาชนเขาก็ไม่เห็นด้วย
"สาเหตุที่มีการเพื่มงบประมาณจาก 2.9 หมื่น เป็น 6 หมื่นล้านบาท สองเท่าตัว เพราะมีการคำนวณแล้วว่า หากมีการเลือกตั้ง แล้วจะใช้เท่าไร เมื่อเห็นแล้วว่าโครงการ เอ็นจีวี 4 พ้นคันทำท่าจะจอด จึงเอาโครงการนี้มาแทน และยังพบว่า มอเตอร์เวย์ 9 จุด ก็จะลงสู่พื้นที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนคนประเภทนั้นทั้งหมด เมื่อเราไม่เอารถเมล์ ก็ยังมายัดเยียดมอเตอร์เวย์มาให้อีก ดังนั้นจึงอยากให้นำประชาชนไปบอกรัฐบาลว่า เราจะลงมือทำให้ดู ไม่เอามอเตอร์เวย์ เราจะเบิกเท่าที่เราจำเป็น มาทำให้รัฐบาลดู จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส"
นายอำนาจ กล่าวว่า รถไฟรางคู่ ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เช่น รถไฟชั้น 3 หากเป็นรางคู่ที่ใช้รางขนาด 80 ปอนด์ ถ้าปรับพื้นที่ให้ดี ก็จะวิ่งได้ถึง 140 กม.ต่อชั่วโมง ไปโคราชจะวิ่งได้เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น หรือหากมีตู้สินค้าก็จะสะดวกกว่า โดยเฉพาะถนนก็อาจจะต้องซ่อมทุกปี แต่รถไฟไม่ได้ซ่อมทุกปี
ขณะที่เส้น ชลบุรี –มาบตาพุด , บ้านโป่ง-เมืองกาญฯ หรือนครปฐมไปถึงชะอำ ก็สามารถทำได้ในลักษณะเดียวกันคือใส่ราง 1 เมตร 34 ซม. เพราะประเทศบ้านเรา ก็ทำกัน หากให้ชุมชนเป็นเจ้าของที่แท้จริงในการทำรถไฟรางคู่ น่าจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น อบต. หรือ อบจ. เข้ามามีส่วนร่วมเขียนทีโออาร์ ว่า ให้ท้องถิ่นเท่านั้นเป็นผู้ก่อสร้าง และคนเหล่านี้ก็จะมาบำรุงรักษาให้กับเรา คนอีสานจะได้ไม่ไปนอนรอรถ หรือต้องมานับตามงานเทศกาลว่า จะมีคนตายกี่คน เชื่อว่าไม่มีอะไรที่สะดวกและปลอดภัยเท่ารถไฟ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่าโครงการประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมี แต่หากสร้างรถไฟรางคู่ 1.3 แสนล้านบาท ครอบคลุม 47 จังหวัด จะเป็นการลดต้นทุนอย่างมหาศาล
"ถือว่า เป็นข้อปฏิปักษ์อย่างรุนแรงกับเศรษฐกิจพอเพียง เพราะต้นทุนสูงกว่า 172 เท่า ระหว่างรถไฟ กับรถยนต์ ถ้าตัดถนนให้พวกนี้ไปขูดรีดเกษตรกร ก็ฟังได้ แต่ถ้าบอกว่าจะตัดถนนให้เกษตรกรเป็นไป ถามว่าตัดถนนแล้วได้อะไร ต้องออกมาสอบถามว่าเราจะได้อะไร สร้างความยุ่งยากลำบากให้ชุมชน อย่างครบถ้วนจะไปยอมได้ยังไง ฉะนั้นจะต้องทำให้สอดคล้องกับ ม.67 วรรคสอง ให้ประชาชนรับรู้โดยเร่งด่วนที่สุด" นายสมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น