ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – คุณภาพอากาศภาคเหนือตอนบนนับวันจะเลวร้ายยิ่งขึ้น ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กทะลุเกิน 300 ไมโครกรัม/ลบ.ม.แล้ว ประชาชนทั่วไปเริ่มเข้าสู่โหมดอันตรายแล้ว
จนถึงวานนี้(16 มี.ค.) ปัญหาวิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังคงเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด-รัฐบาล ยังไม่สามารถแก้ไขใด ๆ ได้ หลายจังหวัดมีปริมาณฝุ่นละอองทะลุเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไปแล้ว
รายงานข้อมูลสารพิษค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คำนวณ ณ เวลา 09.00 น.วานนี้(16 มี.ค.)พบว่า ที่สถานีตรวจวัดสาธารณสุขแม่สาย จ.เชียงราย มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน(PM10) พุ่งทะลุไปถึง 311.0 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือAQI ก็เพิ่มขึ้นไปยืนอยู่ที่ 183.0 ส่วนในตัวเมืองเชียงรายค่า PM10 อยู่ที่ 245.9-AQI 155.0 และคาดว่าในวันนี้(17 มี.ค.) สถานการณ์จะเลวร้ายมากกว่านี้อีกอย่างแน่นอน
หลังจากช่วงคืนที่ผ่านมา วันที่ 15 มีนาคม ได้เกิดไฟป่าลุกไหม้อย่างหนัก บริเวณเทือกเขาดอยนางแล เขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก จ.เชียงราย บริเวณน้ำตกโป่งพระบาท ต.บ้านดู่ อ.เมือง ติดต่อกับ ต.นางแล ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย จนสามารถมองเห็นเปลวเพลิงในเวลากลางคืนได้อย่างชัดเจน หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พยายามจะนำรถดับเพลิงเข้าไประงับเหตุแต่เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นภูเขาและเป็นช่วงเวลากลางคืนทำให้ไม่สามารถเดินเข้าไปถึงพื้นที่ได้โดยสะดวก ขณะที่เปลวเพลิงลุกไหม้เป็นบริเวณกว้างบนภูเขาสูง ทำให้ต้องรอให้ถึงช่วงเช้า(16 มี.ค.)จึงได้ระดมรถดับเพลิงเข้าไประงับเหตุได้ แต่ก็ทำให้พื้นที่ป่าเสียหายไปหลายสิบไร่ ก่อให้เกิดหมอกควันฟุ้งกระจายเพิ่มเติมทั่วเมือง
ส่วนที่เชียงใหม่ ผลการตรวจวัดจากทั้ง 2 สถานี ของกรมควบคุมมลพิษ คือ ศาลากลางเชียงใหม่ และโรงเรียนยุพราช (กลางเมืองเชียงใหม่) ล้วนแต่มีปริมาณเกินกว่า 200 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ทั้งสิ้น โดยที่ศาลากลางค่า PM10 วัดได้ที่ 220.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI วัดได้ 144.0 และที่โรงเรียนยุพราช PM10 วัดได้227.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI อยู่ที่ 147.0
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่โดยสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาสูงล้อมรอบ เป็นอีกท้องที่หนึ่ง ที่อากาศเข้าขั้นเลวร้ายแล้ว โดยพบว่า PM10 วัดได้สูงถึง 292.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI ก็สูงถึง 175.0
เช่นเดียวกับที่ลำพูน แหล่งอุตสาหกรรมของภาคเหนือ ก็มีค่า PM10 สูงถึง 261.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 161.0 , ตามมาด้วยจังหวัดพะเยา ที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เพิ่มสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานติดต่อกันมานานหลายสัปดาห์ ล่าสุด PM10 วัดได้ 259.8 และAQI อยู่ที่ 161.0
ขณะที่ลำปาง ล่าสุดสถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด โดยมีค่า PM10 อยู่ที่ 180.0 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 126.0 รวมถึงเมืองน่าน จังหวัดชายแดนที่มีเขาล้อมรอบอีกพื้นที่หนึ่ง ก็มีค่า PM10 สูงติดต่อกันมาตลอด จนล่าสุดวัดได้ 159.3 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI อยู่117.0
สถานการณ์ดังกล่าวนี้ นอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปแล้วเกือบทุกจังหวัดแล้ว จากเดิมที่จะมีผลต่อกลุ่มเสี่ยงมากกว่า ยังส่งผลต่อสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของภาคเหนือโดยรวมด้วยอย่างแน่นอน ถือเป็นวิกฤตซ้ำเติมนอกเหนือจาก วิกฤตทางการเมือง ที่กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังปลุกระดมคนประท้วงรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีจังหวัดไหน ยอมประกาศว่า เป็นพื้นที่ภัยพิบัติใด ๆ นอกเหนือไปจากการรณรงค์ลด เลิกการเผา / แจกผ้าปิดจมูก ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ช่วยให้ประชาชนทั่วไปรอดพ้นอันตรายจากหมอกควันในครั้งนี้
ขณะที่การทำฝนหลวง ที่เริ่มปฏิบัติการกันตั้งแต่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ เนื่องจากความชื้นในอากาศอยู่ในระดับต่ำเกินไป