xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:อีโคคาร์...มิติใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

อีโคคาร์นับเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากประชาชนไทยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้มีโอกาสซื้อรถยนต์ขนาดเล็กและประหยัดน้ำมัน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้รถยนต์แบบนี้เป็นเสาอีกแท่งหนึ่งควบคู่ไปกับรถยนต์ปิกอัพ เพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยสามารถยืนอยู่บน 2 ขาอย่างแท้จริง

ปัจจุบันแนวโน้มสำคัญของอุปสงค์ต่อรถยนต์ทั่วโลกหันไปนิยมรถยนต์ขนาดเล็กแบบประหยัดพลังงานมากขึ้น เนื่องจากสังคมชนบทได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมือง ทำให้ความต้องการรถขนาดเล็กมีมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในเขตเมือง ประกอบกับน้ำมันมีราคาแพง ดังนั้น การใช้รถยนต์ขนาดเล็กจะส่งผลดี ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาด้านมลพิษ และลดปัญหาด้านการจราจรติดขัดอีกด้วย

สำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับอีโคคาร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อนายพินิจ จารุสมบัติ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ยานยนต์ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2546 เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาให้ไทยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย โดยวางเป้าหมายหลักในปี 2549 ว่าไทยจะประกอบรถยนต์ในประเทศไทย 1 ล้านคัน และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 400,000 คัน ซึ่งปรากฏว่าผลการดำเนินการจริงทะลุเป้า โดยสามารถประกอบรถยนต์ในปี 2549 ได้เป็นจำนวนมากถึง 1.18 ล้านคัน และส่งออก 539,206 คัน

โดยมาตรการที่นำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น คือ อีโคคาร์ ซึ่งเป็นรถยนต์ราคาย่อมเยา ประหยัดน้ำมัน ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นับเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์หลัก (Product Champion) อีกอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย เพิ่มเติมจากรถยนต์ปิกอัพที่เราเก่งอยู่แล้ว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยสามารถยืนอยู่ได้บนขา 2 ข้าง

อย่างไรก็ตาม สามารถจำแนกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของรถยนต์ประเภทนี้ได้เป็น 3 กลุ่มคือ

กลุ่มแรก ตลาดภายในประเทศ เป็นการสร้างตลาดกลุ่มใหม่ให้เกิดขึ้น สำหรับผู้มีรายได้ประมาณ 4,000 – 5,000 บาท/เดือน ซึ่งเดิมกลุ่มนี้ต้องขับรถจักรยานยนต์หรือซื้อรถยนต์มือสอง เนื่องจากสู้ราคารถใหม่ที่มีราคา 500,000 – 600,000 บาทไม่ไหว

กลุ่มที่สอง ตลาดในประเทศ เป็นกลุ่มประชาชนที่แม้มีอำนาจซื้อรถยนต์ราคาแพง แต่ต้องการรถยนต์ขนาดเล็กลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการใช้งานในเขตเมือง ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน และมีความห่วงใยในสิ่งแวดล้อม

กลุ่มที่สาม ตลาดต่างประเทศ โดยจะส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของรถยนต์แบบนี้เพื่อการส่งออก ดังนั้น จะต้องกำหนดคุณลักษณ์ของรถยนต์ให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ด้วย

โครงการนี้ได้มีการทบทวนกันหลายครั้ง แม้บางครั้งเรื่องได้เงียบหายไป แต่เมื่อน้ำมันมีราคาแพง ก็ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังริเริ่มแนวคิดรถยนต์ประเภทนี้เป็นเวลา 4 ปี ก็ได้ฤกษ์คลอดในปี 2550 เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบในการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ประเภทนี้ ภายใต้ชื่อภาษาไทยว่า “รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล” โดยได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขซึ่งแตกต่างจากเดิมที่คิดตั้งแต่ปี 2546 ไปบ้าง เป็นต้นว่า

ประการแรก เดิมได้กำหนดมิติของรถยนต์ว่าต้องยาวไม่เกิน 3.6 เมตร กว้างไม่เกิน 1.6 เมตร แม้ต่อมาเห็นควรขยายขนาดความกว้างเป็น 1.63 เมตร แต่ได้มีการคัดค้านจากค่ายโตโยต้าว่าไม่ควรกำหนดขนาดของรถยนต์ ควรกำหนดเฉพาะในส่วนความสิ้นเปลืองน้ำมันเท่านั้น ต่อมาจึงได้เปิดเสรีในเรื่องขนาดของรถยนต์

ประการที่สอง เงื่อนไขความสิ้นเปลืองน้ำมัน เดิมกำหนดเอาไว้ไม่เกิน 5.6 ลิตร/100 กิโลเมตร แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนสเปกให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้นเป็นไม่เกิน 5 ลิตร/100 กิโลเมตร

ประการที่สาม กำหนดมาตรฐานมลพิษในระดับมาตรฐานสากล กล่าวคือ มาตรฐาน EURO 4 หรือสูงกว่า ปริมาณ CO2 ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร

ประการที่สี่ กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล คือ UNECE Reg. 94 และ 95 Rev.0 หรือสูงกว่า สำหรับป้องกันผู้โดยสารกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการชนด้านหน้า และด้านข้างของรถยนต์

ประการที่ห้า จะต้องผลิตชิ้นส่วนหลักของเครื่องยนต์อย่างน้อย 4 ใน 5 ชิ้น ได้แก่ ฝาสูบเครื่องยนต์ (Cylinder Head) เสื้อสูบเครื่องยนต์ (Cylinder Block) เพลาข้อเหวี่ยง (Crank Shaft) เพลาลูกเบี้ยว (Cam Shaft) และก้านสูบ (Connecting Rod) โดยอย่างน้อยจะต้องมีการผลิตในขั้นตอนการ Machining

ประการที่หก กำหนดผลิตรถยนต์ไม่น้อยกว่า 100,000 คันตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป

ประการที่เจ็ด เงินลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

เดิมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ตั้งเป้าหมายเจรจากับกระทรวงการคลังเพื่อขอให้กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตอีโคคาร์ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10 แต่ในที่สุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดลงเหลือร้อยละ 17 เท่านั้น ทำให้รถยนต์อีโคคาร์มีราคาไม่ต่ำลงมากอย่างที่คิด

                       “มีบริษัทรถยนต์มากถึง 6 ค่าย
    ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์
    คือ นิสสัน โตโยต้า ซูซูกิ มิตซูบิชิ ฮอนด้า และทาทามอเตอร์
            แต่มีเพียงค่ายนิสสันเท่านั้นที่เดินหน้าอย่างเต็มตัว”

โครงการอีโคคาร์ได้รับการตอบสนองอย่างดียิ่ง มีบริษัทรถยนต์มากถึง 6 ค่าย ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ คือ นิสสัน โตโยต้า ซูซูกิ มิตซูบิชิ ฮอนด้า และทาทามอเตอร์ แต่เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ประสบภาวะวิกฤตตั้งแต่ปลายปี 2551 ทำให้โครงการอีโคคาร์ของค่ายรถยนต์เกือบทั้งหมดต้องชะลอออกไปเพื่อรอดูสถานการณ์ให้ตลาดรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นก่อน ยกเว้นค่ายนิสสันที่เดินหน้าอย่างเต็มตัว

การที่ค่ายนิสสันผลักดันโครงการอีโคคาร์อย่างมากนั้น เนื่องจากกำหนดให้เป็นผลิตภัณฑ์หลักตัวใหม่ของนิสสันในประเทศไทย เพื่อทวงคืนความยิ่งใหญ่ตั้งแต่สมัยเดิมซึ่งใช้ชื่อว่า “ดัทสัน” โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทย จากเดิมที่มีอยู่เพียงร้อยละ 5 ให้ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 ภายในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2555

สำหรับฐานการผลิตในประเทศไทยตั้งเป้าหมายผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไว้ที่ร้อยละ 45 และส่งออกอีกร้อยละ 55 ซึ่งกำหนดใช้ชื่อว่า “มาร์ช” สำหรับการจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศไทยด้วย แต่จะใช้ชื่อ “ไมครา” สำหรับจำหน่ายในตลาดยุโรป ทั้งนี้ รถยนต์อีโคคาร์ของนิสสันนั้น กำหนดใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูง คือร้อยละ 80 ของชิ้นส่วนทั้งหมด และนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาของนิสสันในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการออกแบบรถยนต์แบบนี้ด้วย

รถยนต์ใหม่นี้ใช้เครื่องยนต์ 3 สูบในรหัส HR12 ที่มีความจุ 1200 ซีซี กำลัง 79 แรงม้า พร้อมด้วยระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อรถยนต์จอดนิ่งอยู่กับที่ (Idling Stop) เพื่อประหยัดน้ำมัน โดยจะดับเครื่องอัตโนมัติเมื่อรถยนต์จอด และเมื่อเร่งเครื่องยนต์ เครื่องยนต์จะสตาร์ทโดยอัตโนมัติ

นอกจากรถยนต์มาร์ชของค่ายนิสสันแล้ว ในอนาคตบริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะร่วมวงศ์ไพบูลย์กิจการอีโคคาร์เป็นรายต่อไป ปัจจุบันได้เริ่มเดินหน้าโครงการแล้ว โดยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง บนพื้นที่ขนาดประมาณ 1,000 ไร่ ด้วยเงินลงทุนเฟสแรกประมาณ 7,500 ล้านบาท คาดว่าในส่วนของโรงงานจะก่อสร้างและพร้อมเปิดดำเนินการผลิตได้ในช่วงปี 2555 อย่างแน่นอน

เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้พยายามสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็ก ตัวอย่างหนึ่ง คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ขนาดเล็กประเภท Minicar เป็นกรณีพิเศษ โดยกำหนดให้มีขนาดของเครื่องยนต์ไม่เกิน 660 ซีซี ความยาวไม่เกิน 3.7 เมตร กว้างไม่เกิน 1.48 เมตร สูงไม่เกิน 2 เมตร พร้อมกับจำกัดไม่เกิน 64 แรงม้า

สำหรับประเทศจีน รัฐบาลได้ประกาศลดอัตราภาษีรถยนต์เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 เป็นต้นไป โดยลดภาษีรถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1000 ซีซี จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1 ขณะที่เพิ่มภาษีสำหรับรถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 3000 – 4000 ซีซี จากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 25 ขณะที่เครื่องยนต์เกิน 4000 ซีซี เก็บเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40

สำหรับกรณีของเกาหลีใต้ รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมการใช้รถยนต์ขนาดเล็กเช่นเดียวกัน โดยให้สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรแก่รถยนต์ขนาดเล็กที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 800 ซีซี

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรมีมาตรการรณรงค์อย่างจริงจัง ในการให้หันมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กหรือรถยนต์แบบไฮบริดเพื่อประหยัดน้ำมันและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้บริหารของหน่วยราชการที่รับผิดชอบในด้านนี้ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน ฯลฯ ควรดำเนินการเป็นตัวอย่าง หาซื้อรถยนต์อีโคคาร์หรือรถยนต์ใช้พลังงานหมุนเวียนมาใช้งาน

สำหรับตัวอย่างสำคัญในต่างประเทศ คือ ผู้บริหารของหน่วยราชการสิ่งแวดล้อมของประชาคมยุโรป ได้ประกาศเมื่อปี 2550 เกี่ยวกับการเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งจากเดิมเป็นแบบหรูหราราคาแพง คือ เมอร์ซิเดส-เบนซ์ ซึ่งกินน้ำมันมากและปล่อยไอเสียจำนวนมาก มาเป็นรถยนต์โตโยต้าแบบไฮบริดซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น