เนื่องด้วยการจากไปของ “สายัณห์ เล็กอุทัย” ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค เอเอสทีวี และคอลัมนิสต์ “คารวะบรรพบุรุษ” นำเสนอปรัชญาภูมิปัญญาตะวันออก ที่รู้จักกันดีในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันนี้ “เซกชันมอเตอริ่ง” ขอย้อนรำลึกถึงความเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ และนักสะสมรถตัวยงของ “สายัณห์ เล็กอุทัย” ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2544 และวันที่ 14 สิงหาคม 2545 เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงชีวิตอีกมุมหนึ่งของเขา ดังนี้
โฟล์ค บีทเทิล ร่องรอยแห่งภูมิปัญญาตะวันออก
สายตาหลากคู่จับจ้องมาที่รถยนต์คันหนึ่ง ทุกคนรู้ว่านี่คือ “โฟล์คเต่า” แต่ที่มิอาจละสายตาได้ เพราะเต่าตัวนี้ไม่เหมือนตัวอื่นที่โลดแล่นอยู่บนท้องถนนทั่วโลกมากกว่าครึ่งศตวรรษ “สายัณห์ เล็กอุทัย” นักเขียนจากคอลัมน์ “ภูมิปัญญาตะวันออก” ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน คือ เจ้าของรถคันที่ว่า
ความโดดเด่นอันไม่เหมือนใครของรถยนต์ในครอบครองของเขา ทำให้เกิดความอยากรู้ถึงแนวคิดของผู้เป็นเจ้าของเพราะหากมองในรายละเอียดของรถยนต์แต่ละคันแล้วจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ให้รถแต่ละคันมีเอกลักษณ์พิเศษอย่างที่เห็น ไม่ได้เป็นแค่รถเก่า ๆ ที่ถูกทิ้งขว้าง ขาดการดูแล จนหาความเงางามเช่นรถใหม่ไม่เจอ
ก่อนจะหันมาลงมือกับรถโฟล์คอย่างในปัจจุบัน เขาเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลมนต์เสน่ห์ของรถสปอร์ตไม่ผิดอะไรกับผู้ชายทั่วไป และยังได้มีโอกาสเป็นเจ้าของรถในฝันของคนทุกยุคทุกสมัยอย่างปอร์เช่ 911 อีกด้วย
“สมัยก่อนเคยมีปอร์เช่ 911 อยู่ถึง 5 คัน และก็มีเมอร์เซเดส-เบนซ์อีก 5 คัน เป็นธรรมดาของวัยรุ่นที่มักจะมีรถสปอร์ตเป็นความฝันสูงสุด จำได้ว่ายังขับปอร์เช่ไปเรียนที่จุฬาฯในสมัยนั้น จนกลับมาเมืองไทยหลังจากเรียนต่อที่อเมริกาจบก็คลุกคลีอยู่กับความสุขแบบนั้นมาเรื่อยๆ หมดเงินกับปอร์เช่ไปไม่รู้เท่าไหร่ แต่พอช่วงหลังที่เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้เราเริ่มคิดได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความสิ้นเปลืองเราก็พิจารณาตัวเองใหม่ เดินผิดทาง เล่นรถแพงและต้องคอยไปให้อู่ซ่อม เสียเงินแยะ เราทำไมไม่ทำเอง เริ่มแคร์ตัวเอง ไม่แคร์คนอื่นแล้ว”
ปรัชญากับการเปลี่ยนแปลง
กาลเวลาผ่านไปรถสปอร์ตที่เคยจอดเรียงรายอยู่ที่บ้านนับสิบคันเริ่มทยอยถ่ายโอนไปเป็นของคนอื่น ด้วยเหตุผลที่เขาบอกว่า “เสียเงินเปล่า”
จากนั้นมาจึงเกิดความคิดที่จะนำรถยนต์โฟล์คสวาเกนมาตกแต่งแต่ไม่ได้ทำไว้เพื่อใช้งานนอกเหนือไปจากการขับขี่บนถนนทั่วไปและการเอารถโฟล์คเต่ามาทำนี่เอง ทำให้เขาตระหนักว่าการแต่งรถเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิดมากเป็นการลงแรง ลงสมองแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Do it yourself
เขาตัดสินใจเลือกใช้สีเขียวแบบลายพรางของทหารกับรถโฟล์คทุกคัน เพราะเป็นสีที่เขาคิดว่าสวยที่สุด ทำยากที่สุด แต่ใช้งบประมาณเพียง 2-3 พันบาทต่อคัน
“ครั้งแรกเข้าไปที่อู่สี บอกว่าจะทำลายพรางไม่มีใครรับทำเลย มันยากมาก ค่าใช้จ่ายก็สูง แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะผมไม่ต้องการความเนี้ยบไม่ต้องการทำให้มันออกมาเงาวับเหมือนรถใหม่ ใช้สีด้านนี่ละสะดวกที่สุด ไม่เห็นแปลก ไม่มีใครกำหนดว่ารถจะต้องมีสีที่เงางาม คิดกันเอาเองมาตลอด”
การได้ลงมือทำสีเอง จึงทำให้เขารู้ว่าไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ยิ่งเป็นรถโฟล์คเต่าด้วยแล้วทำได้เต็มที่แบบไม่ต้องเสียดายเลย แต่ทำทั้งที่ต้องทำให้แปลกและดูสมจริงสมจังในตัวด้วย สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่สวยอย่างเดียวแล้วจอดโชว์เฉย ๆ ไม่มีประโยชน์
“เรื่องพ่นสีแบบทหารนี่ ผมว่าผมเป็นที่หนึ่งในไทยนะ”
สวยเพราะใช้งาน ถึงจะมีคุณค่า
อย่างคันที่นำมาลงในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในจำนวนประมาณ 10 คัน ที่เป็นผลงานของเขาโดยได้รับการตกแต่งในสไตล์รถสปอร์ตเปิดประทุนแบบ Speedster ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นโฟล์คคันเดียวในไทยที่มีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ สำหรับรายละเอียดการดัดแปลงตัวถังภายนอกนั้นเริ่มจากการนำฝากระโปรงหน้าของคันที่เป็นอะไหล่ไปไว้ด้านหลังแทน ทำให้ดูลาดและส่วนท้ายที่เหมือนจะยาวขึ้นตามแบบรถ Speedster
“ตอนนี้มีโฟล์คอยู่ทั้งหมด 20 คัน เอามาแต่ง 10 คัน และทั้ง 10 คันจะมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ส่วนอีก 10 คันเก็บไว้เป็นอะไหล่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าถูกกว่าซื้ออะไหล่เป็นชิ้น ๆ หลายเท่า จะดึงชิ้นส่วนไหนมาใช้ก็ได้ทันที ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของเราเท่านั้น”
ด้านหน้ารถคันนี้ เขาตั้งใจทำให้ออกไปในลักษณะคล้ายรถจิ๊ปในสมัยก่อน มีการนำยางอะไหล่มาวางบนฝากระโปรงหน้าที่เจาะช่องรอไว้สามารถยกออกมาเปลี่ยนได้ทันทีที่ต้องการ ส่วนตะแกรงหน้ากระจกรถนั้น นอกจากจะช่วยให้รถดูขึงขังขึ้นแล้ว ยังได้ประโยชน์ที่สามารถกันแมลง กันเศษหินกระเด็นขึ้นมากระทบกระจกหน้าได้ด้วย เขาเน้นว่าทุกอย่างที่ออกแบบจะต้องใช้งานได้หมด ไม่ได้ประดับไว้เล่น ๆ
ไม่รวมแม้กระทั่งจักรยานคันไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ที่อยู่ข้างรถซึ่งสามารถถอดออกมาขี่ไปไหนมาไหนก็ได้ เขาบอกว่ามันมีประโยชน์ในยามฉุกเฉินเหมือนกัน เกิดรถเสียกลางทางก็ขี่ไปขอความช่วยเหลือได้
จุดเด่นอีกจุดของรถคันนี้ อยู่ที่หลังคาผ้าใบที่เปิดได้ง่ายกว่าปกติ หากมองเผินๆ ยังไม่เห็นความแตกต่างจากประทุนรถทั่วไป แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นตัวหนังสือ “ตชด.” บนผืนผ้าใบนี้ เพราะที่มาของมันคือเสื้อฝนของ ตชด.ตัวละ 200 บาท นำมาเย็บติดกันแค่ 2 ตัว ก็ออกมาอย่างที่เห็นแล้ว
“หลังคานี่ทำง่ายมาก และผมยังทำให้มันเปิด-ปิดได้ง่ายกว่ารถทั่วไปด้วย ใช้เวลาแค่เดี๋ยวเดียว สำหรับกระจกด้านข้างก็ใช้พลาสติกใส จะเปิดก็รูดซิปออก สะดวกดี ส่วนเรื่องน้ำเข้านั้น มันเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งผมไม่แคร์ เพราะคนเราเกิดมาบนโลกนี้แล้วก็ไม่รู้จะกลัวมันไปทำไมกับน้ำฝน คิดกันไปเอง ทุกอย่างมันก็คือธรรมชาติ”
มีอยู่อย่างเดียวที่เขาไม่คิดจะไปแตะต้องนั่นก็คือเครื่องยนต์ เหตุผลหนึ่งเพราะเขาไม่มีความชำนาญด้านเครื่องยนต์ อีกเหตุผลหนึ่งถ้าทำเมื่อไหร่ก็จะทำไม่จบ เดี๋ยวจมไปกับรถกลายเป็นการไม่ปล่อยวาง
เขาบอกว่า “เพราะเราไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตเราไม่ต้องไปยึดติดกับมันมาก ไม่สะดวกที่จะต้องไปอนุรักษ์ให้เหมือนเดิมทั้งหมด การที่ทำได้ออกมาขนาดนี้ นับเป็นภูมิปัญญาตะวันออกอย่างแท้จริง เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเป็นนายของมัน ไม่ใช่ให้มันเป็นนายเรา ทำไมต้องหมดเปลืองไปกับมัน”
แต่รถทุกคันของเขา ยืนยันว่าสภาพของเครื่องยนต์ยังใช้งานได้ดี แอร์เย็น วิทยุดัง
“ในภาษาญี่ปุ่นมีอยู่คำหนึ่งคือ SABI หรือ WABI หมายถึง ความสวย เพราะมาจากการใช้งาน ไม่ใช่สวยเพราะความใหม่ อย่างของโบราณจะสวยก็ต้องมีร่องรอยของเก่า ภาษาไทย ไม่มีคำนี้ ไม่เห็นความงาม ของใช้เก่า ใช้งานมานาน เราทิ้งหมด”
................................................
ประวัติ
สายัณห์ เล็กอุทัย จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนต่อทางด้านศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) ใช้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริกา 15 ปี
“ขืนอยู่นานกว่านี้ เขาคงจับเป็นประธานาธิบดีไปแล้ว”
กลับมาเมืองไทย เริ่มทำโฆษณา ทำโทรทัศน์ กับบริษัทไนท์ สปอร์ต ทำไทยสกาย ตำแหน่งผู้จัดการ ดูแลเกือบทั้งหมด หลังจากนั้นก็หันไปทำอาชีพอิสระ
ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ให้ที่ หนังสือพิมพ์“ผู้จัดการ” อย่างเดียวเลย แล้วก็ทำรถ จิบน้ำชา ฟังเพลงมหายาน เพลงสวด คิดปรัชญาชีวิตฯ
“ผมเป็นคนที่เขียนเรื่องจากประสบการณ์ ต่างกับคนอื่น อย่างที่ทำรถนี่ เพื่อที่จะสร้างสมดุลกับข้อเขียนที่เขียนลงในผู้จัดการอันหนึ่งเป็นวัตถุ เป็นของเทคโนโลยีของตะวันตก อันหนึ่งเป็นปรัชญา เป็นปรัชญาบรรพบุรุษเลย คือการผสมผสานกัน เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าไม่เฉพาะแค่เขียนอย่างเดียว เราทำออกมาให้ดูด้วย”
เรื่องราวที่เขียนลงในคอลัมน์ “ภูมิปัญญาตะวันออก” เกิดจากภรรยาป่วยเป็นโรคมะเร็ง ทำให้เริ่มไปศึกษาการรักษาโรคมะเร็ง ศึกษาปรัชญาตะวันออก จนออกมาเป็นงานเขียนอย่างที่เห็น
ข้อมูลเกือบทั้งหมดมาจากห้องสมุดที่ยูซีแอลเอ ไม่ได้มาจากเมืองจีนเลย เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคิดจะนำมาเปิดเผย เขาต้องแอบถ่ายเอกสารอยู่นาน และเก็บมาจนถึงวันนี้ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไรตอนนั้น แต่รู้ว่าวันหนึ่งต้องเขียนเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้อ่าน เขารู้สึกเหมือนถูกกำหนดไว้แล้ว
งานเขียนที่มาจากความใคร่รู้ยังคงถูกถ่ายทอดออกมาบนหน้าหนังสือโดย “สายัณห์ เล็กอุทัย” อย่างไม่มีวันจบ
เขียนเมื่อ วันพุธที่ 14 มีนาคม 2544