xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าแพงดันเงินเฟ้อก.พ.3.7%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สินค้าดาหน้าขึ้นราคา ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ สินค้าเกษตร ดันเงินเฟ้อก.พ. พุ่งพรวด 3.7% เพิ่มขึ้น5 เดือนติดต่อกัน “พาณิชย์” ฟุ้งเศรษฐกิจฟื้นตัว กำลังซื้อคืนชีพ คนกล้าจับจ่ายใช้สอย เล็งขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าต่อ สกัดเงินเฟ้อขยับแรง หลังเศรษฐกิจฟื้น ส่งออกดี สินค้าเกษตรราคาขึ้น
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนก.พ.2553 ที่สำรวจจากสินค้าและบริการ 417 รายการ เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2552 เป็นการเพิ่ม 5 เดือนติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2553 เพิ่มขึ้น 0.56% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนระหว่าง ม.ค.-ก.พ.2553 เพิ่มขึ้น 3.9% สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และกำลังซื้อจากภาคประชาชนที่กลับมาเป็นบวก
ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.พ.เมื่อเทียบปีต่อปีเพิ่มขึ้น มาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม 5.1% สินค้าสำคัญที่เพิ่ม ได้แก่ ข้าวและผลิตภัณฑ์ทำจากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่สัตว์น้ำเพิ่ม ผัก ผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม อาหารสำเร็จรูป รวมถึงดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 7.7% ได้แก่ ยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า น้ำประปา ค่ายาเวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาล ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ส่วนสินค้าที่ลดลงมีเพียงเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หมวดการบันเทิงการศึกษาและการศาสนา
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2553 มาจากราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.39% สินค้ารายการสำคัญ ได้แก่ เนื้อสุกร เป็นผลจากอากาศร้อนทำให้หมูน้ำหนักลดลงจึงปริมาณออกสู่ตลาดน้อย รวมถึงผัก ผลไม้ ไก่สด ข้าวสาร ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ปลาและสัตว์น้ำ ขณะที่สินค้าราคาลดลง ได้แก่ อาหารสด นมข้นหวาน นมผง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง
ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวขึ้น 0.07% เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน และดีเซลเพิ่ม รวมทั้งค่ายานพาหนะ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์ ค่าใช้จ่ายสินค้าส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน ครีมนวดผม กระดาษชำระ ผงซักฟอก ขณะที่สินค้าลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ
“ภาวะเงินเฟ้อเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ประกอบกับค่าครองชีพยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แม้สินค้ากลุ่มอาหารจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่งผลให้คนกล้ากลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง ขณะที่ผู้ผลิตมีแรงจูงใจผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาด และอาจเกิดการจ้างงานเพิ่มเติม ส่วนการทำงานภาครัฐควรเน้นใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็งให้ได้ตามแผน โดยนโยบายดอกเบี้ยเชื่อว่ายังไม่น่ามีการปรับในไตรมาสแรก”
นายยรรยงกล่าวว่า แม้เงินเฟ้อ 2 เดือนแรกสูงถึง 3.9% เกินเป้าหมายปี 2553 ที่ตั้งไว้ 3-3.5% แต่เชื่อว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีทำตามได้เป้าหมายแน่นอน โดยเงินเฟ้อมี.ค. มีโอกาสปรับตัวบวกอยู่ และไตรมาสแรกจะเฉลี่ยที่ 3.7% แต่หลังจากนั้นจะค่อยปรับลดลงจนเท่ากับที่คาดการณ์เอาไว้ โดยมีสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลคงมาตรการลดค่าครองชีพต่อไป แต่ยอมรับว่า การชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน หากรุนแรงก็ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้
“จะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงกว่าเป้า โดยขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนตรึงราคาสินค้า 3 เดือน ถ้าต้นทุนยังไม่เพิ่มขึ้น ก็ขอให้ตรึงราคาต่อไปถึงไตรมาสสองปีนี้ โดยแนวโน้มเงินเฟ้ออนาคตขึ้นมีปัจจัยบวก จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่เร็วกว่าคาดการณ์ไว้ ยอดส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีขึ้น รวมถึงการใช้งบไทยเข้มแข็ง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงบางอุตสาหกรรมเริ่มขาดแคลนแรงงาน”นายยรรยงกล่าว
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน 117 รายการ เดือน ก.พ.2553 เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับก.พ.2552 และเพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2553 มีสาเหตุจากราคาสินค้าสูงขึ้นและลดลงใกล้เคียงกัน โดยสินค้าที่เพิ่ม เช่น ยานพาหนะ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์ ของใช้ส่วนบุคคล สินค้าราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องถวายพระ และอุปกรณ์การสื่อสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น