xs
xsm
sm
md
lg

ผักผลไม้ไม่กดดันเงินเฟ้อก.ย.เพิ่ม6% “ศิริพล”มั่นใจทั้งปี6.5-6.9%คุมได้แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-เงินเฟ้อ ก.ย.เพิ่ม 6% สูงขึ้นในอัตราที่ลดลง ส่วนผัก ผลไม้แพงจากน้ำท่วม ไม่กดดันเงินเฟ้อมากนัก เหตุยังได้รับอานิสงค์จาก 6 มาตรการ 6 เดือนรัฐบาล และราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง “ศิริพล”มั่นใจเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกิน 6.5-6.9% แน่นอน หลังผ่าน 9 เดือนสูงขึ้น 6.5%

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนก.ย.เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นหลังจากที่เคยปรับตัวลดลงถึง 3% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2550 สูงขึ้น 6% เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเช่นเดียวกัน และเมื่อเทียบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงขึ้น 6.5%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อก.ย.ที่สูงขึ้น 0.2% นั้น เป็นเพราะดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.7% จากการสูงขึ้นของผักและผลไม้ 7.4% เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักชี กะหล่ำปลี มะนาว ส้มเขียวหวาน มะม่วง องุ่น และทุเรียน เป็นต้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเป็นช่วงปลายฤดู ขณะที่ไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้น 1.5% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.6% เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 0.2% โดยเฉพาะกับข้าวสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และแฮมเบอร์เกอร์ แต่อาหารประเภทข้าว เนื้อสุกร และสัตว์ปีก ราคาลดลง

ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.8% เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงลดลง และยังได้รับอานิสงค์ต่อเนื่องจาก 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 4.2% ค่าโดยสารรถไฟ ลดลง 51.4% ค่าโดยสารรถประจำทางสูงขึ้น 7.2% เนื่องจากมีการยกเลิกการระงับขึ้นค่าโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตั้งแต่ 1 ก.ย. ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สูงขึ้น 1.2% ของใช้ส่วนบุคคล เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู สูงขึ้น 0.4%

“เงินเฟ้อในเดือนส.ค. ลดลงมากถึง 3% เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง และยังได้รับอานิสงค์จาก 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล พอมาเดือนก.ย. น้ำมันตลาดโลกก็ยังชะลอตัว 6 มาตรการ 6 เดือนก็ยังมีผลช่วยดึงเงินเฟ้ออยู่ แต่สินค้าหมวดผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากภาวะน้ำท่วม ผลผลิตน้อยลงจากปลายฤดู ทำให้เงินเฟ้อพลิกกลับมาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2%”นายศิริพลกล่าว

สำหรับเงินเฟ้อก.ย.เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2551 สูงขึ้น 6% นั้น ปัจจัยหลักยังคงเป็นการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง 19.4% เพราะเมื่อเทียบราคาของปีก่อนซึ่งยังไม่ปรับตัวสูง โดยดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มโดยเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 15.7% เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 27.1% ผักและผลไม้ สูงขึ้น 25.8% เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 16.2% เนื้อสัตว์เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 13.4%

นายศิรพลกล่าวว่า เงินเฟ้อรวม 9 เดือนสูงขึ้น 6.5% สูงขึ้นในอัตราที่เริ่มชะลอตัวลง และมั่นใจว่าเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ในระดับ 6.5-6.9% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยจนถึงขณะนี้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 96.01 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.17 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสมมติฐานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก

ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนก.ย. ซึ่งหักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงาน ซึ่งคิดเป็น 24% ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดออก เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เทียบกับเดือนก.ย.2551 สูงขึ้น 2.6% และเทียบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) กับช่วงเดีวกันของปีที่แล้ว สูงขึ้น 2.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น