xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อลดภาครัฐชื่นมื่นเพิ่มทางเลือกรับมือวิกฤตมะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางความหวั่นวิตกของหลายฝ่ายต่อปัญหาวิกฤติในภาคการเงินของสหรัฐฯ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ยิ่งหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2551 บ่งชี้ถึงการชะลอตัวแทบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกซึ่งชะลอตัวลงไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามสัญญาณบวกอย่างหนึ่งที่ปรากฏคือแรงกดดันราคาสินค้าที่ชะลอลงดังจะเห็นได้จากตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนกันยายน 2551 ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มภาวะเงินเฟ้อ โดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการชะลอลงจากร้อยละ 6.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อนหน้า ก็นับว่าต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.0-3.5 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

โดยการปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ เป็นผลมาจากราคาข้าวและธัญพืชที่ลดต่ำลง ขณะที่ราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดีราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาล จึงส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนกันยายน 2551 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.2 สำหรับค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงจากในไตรมาสที่ 2 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.5 และ 2.8 ตามลำดับ

ทั้งนี้แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดๆ ไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ในเดือนตุลาคมจะมีปัจจัยหนุนให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากผลของราคาอาหารสดที่สูงขึ้น เนื่องจากพืชผลเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้มีความต้องการบริโภคพืชผลประเภทผักสูงขึ้นแต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนน่าจะยังคงปรับตัวลดลง เพราะฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนและราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมจะต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.4-5.7 และอาจชะลอลงอีกในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ถ้าราคาน้ำมันยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับปัจจุบัน

"อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะรักษาระดับใกล้เคียงกับเดือนล่าสุดที่ประมาณร้อยละ 2.6 ซึ่งต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.3 และ 1.1 ตามลำดับ"

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงนับได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้านภาระค่าครองชีพที่ลดลง ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ในด้านการดำเนินนโยบายการเงินของภาครัฐนั้น ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญปัญหาวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงของสหรัฐฯ และกำลังลุกลามมาสู่ภูมิภาคยุโรป ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลงลึกและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงนี้ จะทำให้ทางการมีทางเลือกในเชิงนโยบายมากขึ้นเพื่อรับมือกับความผันผวนภายนอกประเทศ ที่อาจจะส่งผลกระทบสะท้อนมาสู่ภาคธุรกิจส่งออก รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุนของไทย

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องติดตามก็คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่แม้ว่าจะได้ปรับตัวลง แต่เป็นที่สังเกตว่าราคาน้ำมันเคลื่อนไหวในลักษณะที่มีความผันผวนสูง เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะเดียวกันยังต้องติดตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร ที่ภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ประมงและปศุสัตว์ ซึ่งหากสถานการณ์ภัยธรรมชาติยังคงดำเนินต่อไป ก็อาจเป็นตัวแปรให้ราคาสินค้าเกษตรกลับไปมีระดับสูงขึ้นได้

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงอัตราเงินเฟ้อที่ได้มีการประกาศออกมาว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้และใกล้เคียงกับประมาณการของบริษัท อย่างไรก็ตามประเด็นหลักในขณะนี้คือ วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่อุปสงค์ทั่วโลกต่างชะลอตัวลงหลังจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันพุ่งทำสถิติสูงสุด โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งทำให้บริษัทได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้เป็น 5.0% และของปี 2552 เป็น 4.0% เพื่อสะท้อนสมมติฐานที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้นับว่ายังเป็นที่น่ากังวลว่าอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมากนั้นเป็นตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ค่อนข้างมีความผันผวนอย่างมาก ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้สะท้อนความจริงที่ว่าความต้องการลดน้อยลงอย่างชัดเจน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนที่ปรับตัวลงยังเป็นผลจากมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ดูเหมือนเล่นกลกับตัวเลข ส่งผลให้การคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดขนส่งปรับตัวลงจากระดับ 12.52% จากช่วงเดียวกันของ

ปีก่อน เหลือ 8.12% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และหมวดไฟฟ้า น้ำมัน และน้ำประปา ปรับตัวลง 38.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน, การให้โดยสารรถเมล์ร้อนฟรีและการลดค่าน้ำค่าไฟ

"ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนที่ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ ทำให้บลจ.เชื่อว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อปลายปีใหม่ของเราที่ระดับ 4.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนยังสมเหตุสมผล โดยประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ Nymex ที่ระดับ 110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้คาดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่ กนง. จะปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับเดิมที่ 3.75% ในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 8 ตุลาคม 2551"

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น