เชียงราย– น้ำโขงวิกฤตแห้งสุดรอบชั่วอายุคน ไม่เคยปรากฏมาก่อน ระดับน้ำเหลือลึกไม่ถึง 1 เมตรเท่านั้น จากเดิมที่เคยแล้งสุดจะอยู่ที่ 2 เมตร ขณะที่เกาะแก่ง-หาดทรายโผล่เพียบ เรือสินค้า-ท่องเที่ยวขนาดใหญ่ต้องจอดแช่กันระนาว คาดเขื่อนจีนทำพิษ
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง บริเวณชายแดนไทย-สปป.ลาว เหือดแห้งลงอย่างไม่เคยปรากฏ จนทำให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ทุกชนิดไม่สามารถแล่นไปมาเพื่อค้าขายได้ตามปกติ มีเพียงเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กเท่านั้นที่วิ่งให้บริการได้ เรือสินค้าขนาดใหญ่ต้องจอดติดตามตลิ่งกันระนาว ส่วนสภาพกลางแม่น้ำก็เกิดเกาะแก่งใหม่ๆ และหาดทรายอย่างที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยพบมาก่อน
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา เปิดเผยว่า แม่น้ำโขงเริ่มแห้งมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระดับน้ำในหลายจุดไม่น่าจะลึกถึง 1 เมตรแล้ว จากเดิมที่ความลึกในฤดูแล้งจะอยู่ที่ประมาณ 2 เมตร ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและจากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีประสบการณ์ในพื้นที่ต่างระบุว่าในรอบชั่วอายุคนมานี้ไม่เคยเห็นแม่น้ำโขงแห้งถึงระดับนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้คือเกิดเกาะแก่งใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเพราะน้ำแห้ง โดยหลายแห่งชาวบ้านก็ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเช่นกัน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายฯได้ร่วมกับชาวบ้านสำรวจเกาะแก่งตั้งแต่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ชายแดนไทย-สปป.ลาว ก็พบว่ามีประมาณ 60-70 แห่ง แก่งใหญ่อยู่บริเวณคอนผีหลง ต.ริมโขง อ.เชียงของ แต่ปัจจุบันกลับมีเกาะแก่งมากขึ้นจนต้องมีการสำรวจกันใหม่แล้ว
ด้านผลกระทบเชื่อว่า จะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป เพราะน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติและน้ำแห้งมากเช่นนี้ก็จะส่งผลต่อความชุ่มชื้น การหาปลา การเกษตรริมฝั่ง ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2538-2539 แต่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่แม่น้ำโขงเขต สปป.ลาว จนต้องชักลากเรือกันกลางแม่น้ำ แต่ก็ไม่แห้งมากเท่านี้และไม่เคยปรากฏขึ้นในฝั่งไทยมาก่อน
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์เมื่อปี 2538-2539 เกิดขึ้นหลังการก่อสร้างเขื่อนม่านหวานที่จีนตอนใต้แล้วเสร็จเป็นเขื่อนแรกในแม่น้ำโขง และเริ่มมีการกักเก็บน้ำ ส่วนเหตุการณ์ในปัจจุบันเกิดขึ้นหลังจากการเปิดใช้งานเขื่อนจิ่งหง ที่เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ เมื่อเร็วๆ นี้
รวมทั้งมีการกักเก็บน้ำจากเขื่อนเชี่ยวหวาน เขื่อนอันดับที่ 4 ในแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนจิ่งหงขึ้นไปทางเหนือนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าน่าห่วงอย่างมาก ดังนั้นนอกจากจะเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วทางเครือข่ายจะออกสำรวจพื้นที่ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ไปจนถึง อ.เวียงแก่น ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์
"ปัจจุบันแม่น้ำโขงไม่ได้แห้งเพียงสายเดียวแต่แม่น้ำสาขาก็กระทบหนัก สังเกตได้ง่ายคือแม่น้ำอิงซึ่งไหลจาก จ.พะเยา-เชียงราย ลงแม่น้ำโขง พบว่าแห้งหนัก สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยคือจากแม่น้ำโขงแห้งทำให้ดูดน้ำจากลำน้ำสาขาลงไปมาก และเกิดจากการใช้น้ำในปริมาณมากเพื่อการเกษตร"นายสมเกียรติ กล่าว
ด้านนายจิระศักดิ์ อินทะยศ แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้เรือสินค้าในแม่น้ำโขงได้ปิดทำการเดินเรือไปอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว เพราะเกรงว่าเรือจะเกยตื้น ส่วนเรือท่องเที่ยวก็มีข่าวว่าเส้นทางระหว่างเชียงของ-หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกในแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ติดกับแม่น้ำโขง และนักท่องเที่ยวใช้เป็นเส้นทางจาก อ.เชียงของ ไปยังหลวงพระบางได้รับผลกระทบ เพราะได้มีการประกาศงดเรือท่องเทียวขนาดใหญ่แล้ว หลังเกิดอุบัติเหตุไปเมื่อเร็วๆ นี้จนทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตไป 2 คน
ส่วนเรือเร็วขนาดเล็กหรือสปีดโบตก็ให้ลดจำนวนคนโดยสารลงจากเดิม 6 คนเป็น 4 คน ด้านความเป็นอยู่ของประชาชนก็ได้รับผลกระทบ การหาปลา ไม่ค่อยได้เหมือนเดิม ไก-สาหร่าย แห้งตายเพราะน้ำแห้งเกินไปจนไกเกาะอยู่ตามโขดหินเหนือน้ำ