เลย - จนท.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม้ภูหลวงกว่า 50 นายบุกยึดพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลายเป็นพื้นที่กว้างกว่า 100 ไร่ พบต้นไม้ใหม่อายุ 2-3 ปี ถูกตัด 1,500 ต้น และต้นไม้อายุมากกว่า 5 ปี อีกประมาณ 200 ต้น ขณะที่จับผู้ต้องหาไม่ได้สักราย เผยเป็นการทำลายป่าต้นน้ำหลายสายก่อนที่จะที่จะไหลลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แฉเล่ห์นายทุนจ้างชาวบ้านถางป่าเพื่อทำสวนยาง-ไร่ขิง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 12.00 น.วันนี้ (25 ม.ค.) เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง สนธิกำลัง ประมาณ 60 นายเข้าตรวจสอบ และทำการตรวจยึดพื้นที่บุกรุกป่าประมาณ 100 ไร่บนพื้นที่ต้นน้ำปาสัก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ ในพื้นที่จังหวัดเลย และไหลไปสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายชัยณรงค์ ดุดดื่ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง กล่าวว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์ป่าภูหลวง มีพื้นที่ทั้งหมด 560,593 ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำเลย แม่น้ำป่าสัก น้ำทบ น้ำสาน น้ำป่าสักนั้นไหลจากบริเวณบ้านหินสอ (ที่เกิดเหตุการทำลายป่า) เลียบเลาะภูเขา ลงไปสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และไหลมาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นับความยาวได้ประมาณ 513 กิโลเมตร
การเข้าทำการตรวจสอบจับกุมพื้นที่ต้นน้ำป่าสักแห่งนี้ พบต้นไม้ที่ตัดเป็นจำนวนมาก เป็นต้นไม้ขนาด 2-3 ปี ที่เป็นป่าใหม่ประมาณ 1,500 ต้น และต้นไม้อายุมากกว่า 5 ปี อีกประมาณ 200 ต้น
ทั้งนี้ ต้นน้ำป่าสักและต้นน้ำอื่นๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีราษฎรอาศัยอยู่ 12 หมู่บ้าน รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ปัจจุบันชาวบ้านทำการบุกรุกป่าต้นน้ำเป็นจำนวนมาก มีการจับกุมดำเดินคดีไปแล้ว 16 คดี สำหรับการจับกุมครั้งนี้นั้น ผู้ต้องหาได้หลบหนีเมื่อได้ยินเสียงรถเจ้าหน้าที่
สำหรับพื้นที่ต้นน้ำป่าสัก มีพื้นที่ 83,488 ไร่ หรือประมาณ 133.58 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีชาวบ้านบุกรุกป่าต้นน้ำป่าสักแห่งนี้ไปแล้วประมาณ 10,000-15,000 ไร่ ซึ่งมากเกินกว่าที่จะถูกทำลายไปมากกว่านี้แล้ว การเข้าจับกุมแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะถูกชาวบ้านโวยวายหาว่ากลั่นแกล้งชาวบ้านมาตลอด ซึ่งทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงเองนั้นก็ไม่นิ่งนอนใจ ออกประกาศประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงการซื้อที่ดินในเขตป่าสงวนเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และยกคดีตัวอย่างให้เห็นในหลายคดีแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ศาลนั้นได้พิพากษาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และยึดกลับเป็นพื้นที่ป่าเช่นเดิม
นายชัยณรงค์กล่าวอีกว่า การทำลายป่าต้นน้ำแห่งนี้จะส่งผลต่อความแห้งแล้งในฤดูแล้ง และการเกิดอุทกภัย รวมทั้งการเกิดดินโคลนถล่มในพื้นที่เหล่านั้น อันมีสาเหตุมาจากการทำลายป่า ต้นน้ำระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง โดยมีนายทุนเข้าทำการกว้านซื้อทำการปลูกสวนยาง ปลูกขิง โดยจะจ้างให้ชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ในพื้นที่ต้นน้ำป่าสักที่มีความอุดมค่อยๆ โล่ง เตียนจนหมดสภาพป่าไปในที่สุด