เพชรบุรี....
จังหวัดเพชรบุรีมีต้นตาลมากที่สุดในประเทศไทย ดังปรากฏหลักฐานจาก “นิราศเมืองเพชร” ของสุนทรภู่ ความตอนหนึ่งว่า ทุกประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล ด้วยเหตุนี้ ต้นตาลจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีคู่กับเขาวัง หรือพระนครคีรี ปรากฏเป็นตราและธงประจำจังหวัดเพชรบุรี สืบมาจนถึงทุกวันนี้
ต้นตาลเมืองเพชร ให้ผลผลิตน้ำตาลโตนดที่ดีที่สุดมาตั้งแต่สมัยโบราณตราบจนถึงปัจจุบัน จึงมีชื่อเสียงติดปากคนทั่วไปว่า “น้ำตาลเพชรบุรี” เพราะมีรสหวานหอมอร่อย มีรสชาติกลมกล่อมชวนรับประทาน จนเป็นที่มาของคำว่า “หวานเหมือนน้ำตาลเมืองเพชร”
ดังนั้น ต้นตาลจึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี โดยทั่วไปชาวชนบท ชาวนาจะปลูกข้าวและทำตาลควบคู่กันไป ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกต้นตาลไว้บริเวณคันนา
แต่ปัจจุบันมีการทำนา 2 ครั้ง เป็นผลให้ต้นตาลปรับสภาพไม่ทัน เพราะพื้นที่มีน้ำมากเกินไป กลายเป็นที่มีน้ำท่วมขัง ต้นตาลไม่ได้พักตัวที่เรียกว่า “แต่งตัว” ในที่สุดก็ต้องยืนต้นตายภายในเวลาไม่นานนัก เพราะระบบนิเวศเปลี่ยนจากเดิม ไม่เป็นไปตามธรรมชาติส่งผลให้ต้นตาลนับพันต้นเริ่มที่จะมีใบที่แห้ง และสุดท้ายตาลเหล่านี้ก็จะยืนต้นตายในที่สุด
“ปีนี้นับว่าเป็นวิกฤตรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ต้นตาลเมืองเพชรไม้คู่บ้าน คู่เมือง ของจังหวัดเพชรบุรี กำลังยืนต้นตาย อันสาเหตุหลักเกิดจากการที่เกษตรกรปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรังจนพื้นที่นาไม่มีการพักผ่อนทำให้มีน้ำท่วมขังโคนต้นตาลตลอดทั้งปี”
และนี่เป็นคำพูดของ นายชาญณรงค์ พวงสั้น เกษตรอำเภอบ้านลาด จ.เพชรบุรี ที่ออกมาเปิดเผยว่าหลังจากที่มีการติดตามและสำรวจต้นตาลในพื้นที่อำเภอบ้านลาด และอำเภอใกล้เคียง ซึ่งพบว่าปัญหาของต้นตาลสะสมมานานนับหลายสิบปีแล้ว โดยต้นตาลมีการแช่น้ำสะสมมานานจากภาวะการปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกรติดต่อกัน โดยไม่มีการพักช่วงระยะการทำนาข้าวโดยพบว่ามี 3 อำเภอ ที่กำลังประสบปัญหาหนัก
ประกอบด้วย อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.ท่ายาง โดยที่อำเภอบ้านลาดพบในเขตพื้นที่ ต.ลาดโพธิ์ ต.สะพานไกร และ ต.ไร่โคก ที่พบต้นตาลเริ่มยืนต้นตายแล้วประมาณ 3,000 ไร่ เขต อ.เมือง ประกอบด้วย ต.ไร่ส้ม ต.หัวสะพาน ต.บางจาน และ ต.หนองขนาน กินพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ และเขตพื้นที่ ต.ปึกเตียน อ.ท่ายาง ประมาณ 500 ไร่ รวมพื้นที่ที่พบต้นตาลกำลังประสบปัญหาหนักประมาณ 6,500 ไร่
ส่วนตาลที่พบมีการยืนต้นในลักษณะลำต้นเล็ก แคระแกรน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตาลแหยง” โดยต้นตาลลักษณะดังกล่าวจะนำอาหารที่สะสมเดิมภายในลำต้นมาใช้หล่อเลี้ยงใบจนทำให้ลำต้นเริ่มเล็กแกรนและไม่ออกผล จนในที่สุดก็จะเริ่มยืนต้นตาย เนื่องจากรากของต้นตาลเหล่านี้จะไม่สามารถดูดซึมอาหารได้ซึ่งเกิดจากดินที่อยู่ในพื้นที่เกิดภาวะเป็นกรดหรือที่เรียกว่าดินเปรี้ยวนั่นเอง ทั้งนี้ จะสังเกตได้ง่ายโดยจะพบว่าพื้นที่ใดเกิดภาวะดินเปรี้ยวจะมีต้นหญ้ากระเทียมขึ้นอยู่ในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งหากมีน้ำแช่ขังน้ำจะใส แต่จะไม่มีปลา หรือสัตว์น้ำอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย
แต่เสียงสะท้อนจากด้านของเกษตรกร ที่บอกว่า จำเป็นต้องมีการทำข้าวนาปรัง เนื่องจากชาวนาได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักทุกปีโดยช่วงระยะเวลานั้นเป็นช่วงที่ชาวนาต้องปลูกข้าวนาปี และเป็นช่วงหน้าฝนจนเกิดน้ำหลากไหลท่วมเสียหายทั้งหมด ด้วยเหตุผลนี้เกษตรกรจึงต้องอาศัยช่วงเวลาหน้าแล้งมาปลูกข้าวนาปรังแทนเพราะหากไม่ทำข้าวนาปรังเกษตรกรก็จะไม่มีกินมีใช้
สำหรับ ตาล เป็นพันธุ์ไม้พวกปาล์มขนาดใหญ่ สกุล (Genus) Borassus ในวงศ์ (Family) Palmae เป็นปาล์มที่ แข็งแรงมากชนิดหนึ่ง และเป็นปาล์มที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น ต้นสูงถึง 40 เมตร และโตวัดผ่ากลางประมาณ 60 ซม.ลำต้นเป็นเสี้ยนสีดำแข็งมาก แต่ไส้กลางลำต้นอ่อน บริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเหมือนพัดขนาดใหญ่ กว้าง 1-1.5 เมตร มีก้านเป็นทางยาว 1-2 เมตร ขอบของทางของก้านทั้งสองข้าง มีหนามเหมือนฟันเลื่อยสีดำแข็งๆ และคมมาก
โคนก้านแยกออกจากกันคล้ายคีมเหล็กโอบหุ้มลำต้นไว้ ช่อดอกเพศผู้ใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มคล้ายนิ้วมือ เราเรียกว่านิ้วตาลแต่ละนิ้วยาวประมาณ 40 ซม.และโตวัดผ่า กลางประมาณ 1.5-2 ซม.โคนกลุ่มช่อจะมีก้าน ช่อรวม และมีกาบแข็งๆ หลายกาบหุ้มโคนก้านช่ออีกทีหนึ่ง ช่อดอกเพศเมียก็คล้ายๆ กัน แต่นิ้วจะเป็นปุ่มปม ปุ่มปมคือดอกที่ติดนิ้วตาล ดอกหนึ่งๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 2 ซม.และมีกาบแข็งๆ หุ้ม แต่ละดอก กาบนี้จะเติบโตไปเป็นหัวจุกลูกตาลอีกทีหนึ่ง ผลกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 15 ซม.ผลเป็นเส้นใยแข็งเป็นมัน มักมีสีเหลืองแกมดำคล้ำเป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลืองไว้ภายใน ผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดใหญ่แข็ง 1-3 เมล็ด
ตาลโตนดเมืองเพชร นอกจากจะให้ลูก ซึ่งก่อเกิดประโยชนทางเศรษฐกิจมากมายแก่ชาวเมืองเพชร ใช้ได้ทั้งลำต้นและทั้งใบ หรือแม้แต่ปีกไม้ตาล ก็ยังทำประโยชน์อื่นๆ ได้อีกสุดจะคณานับ ประโยชน์ของตาลนี้ ถ้าจะบันทึกกันให้ละเอียดจริงๆ ก็คงจะอีกหลายเล่มสมุดไทย คนเมืองเพชรจึงเชื่อมั่น รักและนับถือ “ตาล” หรือ “โตนด” เป็นอย่างมาก เวลาจะผูก หรือพาดพะอง ไว้ขึ้นตาล จึงต้องมีการสวดมนต์ ชุมนุมเทวดา เพื่อความเป็นศิริมงคล และเพื่อปกป้องรักษา เขาจะต้องยกมือไหว้ก่อนขึ้นตาลทุกครั้งไป
เฉกเช่นเดียวกับเนื้อเพลงที่มีคำร้องที่ว่า “...แรกรักกันมันหวานดั่งตาลเมืองเพชร ช่างหวานสะเด็ดไม่มีอะไรเปรียบปาน...” ซึ่งเป็นบทเพลง ยับเยินของวงซูซู อันเป็นที่โจษขานกันมานานแล้วว่า ตาล (โตนด) เมืองเพชรนั้นให้รสหวานนัก อีกทั้งความอร่อยก็ไม่เป็นสองรองใคร แต่น่าเสียดายที่วันนี้ “ต้นตาล” ไม้คู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรี กลับมีจำนวนลดน้อยถอยลงไปมาก เช่นเดียวกับวิถีการทำตาลของชาวเมืองเพชรที่นับวันยิ่งลดน้อยลงทุกที