เพชรบุรี - ต้นตาลเมืองเพชรใกล้สูญพันธุ์ หลังพบนับพันต้นกำลังยืนต้นตายหลังดินเป็นกรด จากสาเหตุที่ชาวนาปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรัง จนผืนนาไม่ได้หยุดพัก อีกทั้งผลพวงจากการเกิดน้ำท่วมขังติดต่อกันหลายปี จึงทำให้ต้นตาลเริ่มยืนต้นตายจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ พบว่าต้นตาลหลายพันต้นของ จ.เพชรบุรี ที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี สร้างผลผลิตและรายได้ เป็นน้ำตาลโตนด ที่ขึ้นชื่อของเมือเพชร กำลังยืนต้นตาย โดยสภาพใบเริ่มแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาลไหม้ปนเหลือง ตั้งแต่บริเวณปลายใบและเริ่มจากใบที่อยู่ล่างสุด จนถึงส่วนยอดของต้นตาล
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวนาได้มีการทำนาอย่างต่อเนื่องทั้งนาปีและนาปรัง โดยนาข้าวจะมีน้ำแช่ขังอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาเกิดภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.เพชรบุรี เป็นเวลาติดต่อกัน ทำให้ดินที่เป็นที่ลุ่มและมีต้นตาลขึ้นเป็นกรดมากเกินไป ทำให้ต้นตาลขาดอากาศและดูดอาหารไม่ได้อย่างเต็มที่ โดยในปีนี้พบว่าต้นตาลเริ่มยืนต้นตายกินบริเวณกว้างอย่างน่าตกใจ
นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี หลังทราบเรื่องได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดเข้าตรวจสอบเร่งด่วนหวั่นเกิดโรคที่เกิดจากแมลง
ด้านนายศักดิ์ชาย วังทอง เกษตรจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า หลังจากรับทราบข้อมูลว่ามีต้นตาลเริ่มยืนต้นตายจำนวนมากบริเวณพื้นที่ทุ่งนาในต.ไร่ส้ม และอีกหลายพื้นที่ จึงส่งเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบเพราะหวั่นจะเกิดการระบาดของโรคหนอนหัวดำ ที่กำลังระบาดหนักกัดกินยอดมะพร้าวของชาวไร่ในพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์จำนวนมาก ซึ่งหนอนหัวดำมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดถึงต้นตาลซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของเมืองเพชรได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพบว่า ต้นตาลที่กำลังยืนต้นตายนั้นมีผลพวงมาจากการที่เกษตรกรทำนาไม่มีการหยุดพัก ที่มีทั้งการทำนาปีและนาปรังทำให้มีน้ำท่วมขังโคนต้นตาลตลอดทั้งปี และติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งผลพวงมาจากน้ำที่ท่วมขังติดต่อกันหลายปีด้วย
ทั้งนี้ เมื่อต้นตาลแช่น้ำนานๆ จะทำให้รากไม่สามารถดูดอาหารได้ และขาดอากาศในที่สุด ที่สำคัญดินมีกรดมากเกินไปจึงทำให้ต้นตาลเริ่มที่จะยืนต้นตาย โดยปีนี้พบว่ามีต้นตาลเริ่มจะยืนต้นตายมากที่สุดกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา
“ต้นตาลเป็นไม้ใหญ่จึงไม่ตายทีเดียวเมื่อมีการแช่น้ำนาน ๆ แค่เดือน 2 เดือน แต่จะตายต่อเมื่อต้นตาลมีการแช่น้ำนานติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีโดยจะเริ่มแห้งและตายลงในที่สุด “
สำหรับปัญหาดังกล่าว สำนักงานเกษตรจะเร่งลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจ และชี้แจงต่อชาวบ้านถึงการเปลี่ยนแปลงของต้นตาลว่า การทำนาตลอดปีของเกษตรกร ได้ส่งผลให้พืชเศรษฐกิจอย่างต้นตาลได้รับผลกระทบ
พร้อมกันนี้จะขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้เลิกปลูกข้าวนาปรัง เพราะจะทำให้ต้นตาลตายเพิ่มมากขึ้นหากยังมีการทำนาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีวันหยุด ทั้งนี้หากภาวะการตายของต้นตาลเข้าสู่วิกฤตที่ไม่สามารถควบคุมได้จะนำนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาอีกครั้ง