เพชรบุรี - “ต้นตาล”เมืองเพชรวิกฤตหนัก พบปัญหาใหม่ "ด้วงปีกแข็ง" เจาะกินต้น ทำให้ตาลตายเร็วกว่าปัญหาเก่าที่ยืนต้นตายด้วยการแช่น้ำจากการทำนาปรังของเกษตรกร
จากสภาพปัญหาของต้นตาลเมืองเพชร ที่ขณะนี้พบว่ามีการยืนตายแล้วจำนวนมากที่เกิดจากภาวะการยืนต้นตายเนื่องจากการแช่น้ำเป็นเวลานานติดต่อกันนานนับหลายสิบปี ของการทำนาแบบไม่มีหยุดพักของเกษตรกรที่พบว่ามีต้นตาลเริ่มที่จะยืนต้นตายแล้วนับพันต้นกินพื้นที่กว่า 6,000 ไร่นั้น
ล่าสุดนายศักดิ์ชาย วังทอง เกษตรจังหวัดเพชรบุรี นำทีมนักวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจสอบต้นตาล พบว่ามีต้นตาลเริ่มยืนต้นตายจำนวนมากบริเวณ อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยต้นตาลส่วนใหญ่เป็นตาลที่ปลูกในพื้นที่ตามหัวคันนาที่มีเกษตรกรปลูกข้าวอยู่โดยรอบ โดยมีน้ำแช่ขังบริเวณโดยรอบของรากตาล ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการที่ทำให้ต้นตาลเริ่มยืนต้นตาย แต่พบว่าปีนี้มีวิกฤตที่รุนแรงมากที่สุด
นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นกับต้นตาล คือ ปรากฏร่องรอยการถูกเจาะทำลายเด่นชัด ซึ่งพบว่ามีด้วงปีกแข็งเข้ากัดกินและเจาะเข้าไปวางไข่ในลำต้นของต้นตาล โดยมีต้นตาลบางส่วนเริ่มมีอาการยอดด้วนเนื่องจากด้วงปีกแข็งจะเข้าไปกัดกินทำลายยอดอ่อนของต้นตาล
นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าตามลำต้นของต้นตาลที่ถูกด้วงปีกแข็งเจาะ จะมีน้ำยางของต้นตาลไหลเป็นทางและมีสีน้ำตาลดำ โดยต้นตาลที่ถูกด้วงเจาะเข้าไปกัดกินทำลายนั้นจะมีอาการยอดด้วนและตายในที่สุด และจะตายเร็วกว่าต้นตาลที่แช่น้ำเป็นเวลานานจากการทำนาข้าวตลอดทั้งปีของเกษตรกร
นายศักดิ์ชาย วังทอง เกษตรจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า พื้นที่เมืองเพชรนับเป็นพื้นที่ที่มีต้นตาลมากที่สุดกว่า 700,000 ต้น โดยพื้นที่ อ.บ้านลาด และอำเภอเมืองจะมีต้นตาลขึ้นมากและหนาแน่นที่สุด
จากการสำรวจและลงพื้นที่จริงในครั้งนี้พบว่าต้นตาลเมืองเพชร ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมือง และสามารถทำเงินทำรายได้ให้แก่จ.เพชรบุรีมายาวนาน ขณะนี้กำลังประสบกับวิกฤตปัญหาที่รุนแรงจากภาวะของดินเป็นกรดและต้นตาลเกิดการแช่น้ำที่เกษตรกรทำนาข้าวตลอดทั้งปีแบบไม่มีพักช่วง
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจสาเหตุการยืนต้นตายของต้นตาล และจากการพูดคุยกับเกษตรกร พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญของต้นตาล แต่ให้ความสำคัญต่อการทำนาข้าวมากกว่า เนื่องจากการปลูกข้าวสามารถให้ผลผลิตเร็ว แต่การทำตาลหรือเก็บผลตาลนั้นได้ผลผลิตช้า อีกทั้งต้นตาลในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถให้ผลผลิตได้มาเป็นเวลานานแล้ว
นอกจากนี้ ต้องตกใจเมื่อพบปัญหาที่เพิ่มขึ้นมากับต้นตาลอีกสิ่งหนึ่งคือพบว่า ต้นตาลจำนวนมากมีร่องรอยจากการถูกทำลายของแมลงปีกแข็ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นด้วงปีกแข็งแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นแมลงปีกแข็งชนิดใด เนื่องจากพบร่องรอยการกัดเจาะบริเวณโคนกาบใบ และตามลำต้นของต้นตาล ทั้งนี้ จะประสานนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังพบว่าต้นตาลที่ถูกแมลงปีกแข็งเจาะเข้าไปเริ่มมียอดยุบตัวและด้วนในที่สุดก็จะตาย