เพชรบุรี - นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจสอบ "ตาลเมืองเพชร" หลังเกิดปัญหาใบแห้งและเริ่มยืนต้นตายกว่า 6,500 ต้น ยันต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลและวิจัยนานเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงการตายของต้นตาล
หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับต้นตาลเมืองเพชรบุรี ที่พบว่าต้นตาลเริ่มมีใบแห้งเป็นสีน้ำตาลจนในที่สุดจะยืนต้นตาย ที่เบื้องต้นเกษตรจังหวัดเพชรบุรีสรุปว่าเกิดภาวะของดินเป็นกรดจากสาเหตุที่เกษตรกรปลูกข้าวตลอดทั้งปีแบบไม่มีวันหยุดพักพื้นที่นา อันส่งผลให้รากของต้นตาลไม่สามารถดูดน้ำเลี้ยงได้จนในที่สุดต้นตาลจะนำอาหารที่สะสมในลำต้นมาใช้ในการหล่อเลี้ยงใบและยอดแทน เมื่ออาหารที่เก็บสะสมไว้หมดลงก็จะทำให้ใบของตาลเริ่มแห้ง และยืนต้นตายในที่สุด ซึ่งขณะนี้จากการคาดการณ์พบว่ามีต้นตาลที่อยู่ในพื้นที่เขต อ.เมือง อ.บ้านลาด และ อ.ท่ายาง ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 6,500 ต้น
ล่าสุดนายศักดิ์ชาย วังทอง เกษตรกรจังหวัดเพชรบุรีได้เชิญ ดร.อัมพร วิโนทัย นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เข้ามารับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับต้นตาลเมืองเพชรบุรี และร่วมเสวนาโดยมีผู้มีความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรจำนวนหนึ่งเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย
นายศักดิ์ชาย วังทอง เกษตรจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ต้นตาลเมืองเพชรที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนเมืองเพชรและเป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดเพชรบุรีมาช้านาน ที่จากเดิมที่มีสถิติจากการสำรวจต้นตาลเมื่อครั้งอดีตที่นายสยุมพร ลิ่มไทย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีสถิติเมื่อปี 2551 ที่ทั้งจังหวัดสำรวจปริมาณต้นตาลพบว่ามีจำนวนทั้งหมด 334,000 ต้น และมีการส่งเสริมให้ปลูกใหม่อีก 469,000 ต้น โดยปัจจุบันเหลือปริมาณต้นตาลประมาณ 800,000 ต้น
ทั้งนี้ปัจจุบันพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับต้นตาลเมืองเพชรที่เรียกว่า “ตาลแหยง” โดยต้นตาลจะมีลำต้นที่คอดเล็กลง และเริ่มมีใบแห้งจนในที่สุดจะยืนต้นตาย ที่คาดการณ์จากการลงพื้นที่พบว่ามีตาลที่เริ่มจะยืนต้นตายแล้วประมาณ 6,500 ต้น เหตุผลหลักคาดว่าเกิดจากภาวะน้ำท่วมแช่ขังบริเวณโคนต้นตาลติดต่อกันเป็นเวลานาน อันเกิดขึ้นจากที่เกษตรกรทำนาข้าวตลอดทั้งปีทั้งนาปีและนาปรังแบบไม่มีหยุดพัก นอกจากนี้ยังพบอีกหนึ่งปัญหาคือพบร่องรอยการกัดกินของด้วงปีกแข็งที่กัดเจาะเข้าไปทำลายลำต้นและกัดกินยอดของต้นตาลจนยอดด้วนและยืนต้นตายในที่สุดเช่นกัน
ด้านนายถนอม ภู่เงิน ชาวบ้านต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี บอกว่าอาการตาลแหยงเกิดจากสมัยก่อนมีนาปักดำอย่า'เดียว น้ำแช่โคนต้นตาลประมาณ 150-180 วันแล้วจะแห้งไป ตาลจะเจริญดี แต่สมัยนี้ทำนาตลอดทั้งปี รากตาลแช่น้ำตลอด ส่วนรากตาลโตนดมี 5 ชนิด รากใหญ่ขนาดนิ้วก้อย จนถึงรากฝอย และมีรากที่ขดอยู่โคนตาล ซึ่งรากที่ 5 เป็นรากที่ใช้สำหรับหายใจ ถ้ารากนี้โดนน้ำแช่ตลอดก็จะตาย ภายใน 5 ปี เนื้อไม้ใช้ประโยชน์ไม่ได้ อนาคตตาลเพชรบุรีน่าเป็นห่วงมากถ้ามีการทำนาตลอดปี ต้นตาลก็จะตายทั้งหมด
ด้าน ดร.อัมพร วิโนทัย นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ได้ดูจากรูปภาพในห้องประชุมพร้อมรับฟังสภาพปัญหาและได้ลงพื้นที่จริงบริเวณท้องทุ่งนา ต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี พบว่ามีต้นตาลที่เริ่มมีใบเป็นสีน้ำตาล บางต้นเริ่มแห้งและยืนต้นตายแล้วกินพื้นที่บริเวณกว้าง แต่ทั้งนี้จากการดูด้วยตาเปล่าและรับฟังข้อมูลยังไม่สามารถสรุปชี้ชัดได้ว่า ปัญหาหลักที่ทำให้ต้นตาลเมืองเพชรเริ่มยืนต้นตายนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ โดยจะต้องทำการเก็บข้อมูลและวิจัยอย่างจริงจังซึ่งต้องใช้เวลานาน
“เรื่องปัญหาของตาลเมืองเพชร เท่าที่ทราบว่าเป็นตาลที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนา มีการปลูกข้าวตลอดทั้งปีน้ำท่วมรากตาล เมื่อเกิดปัญหาซ้ำ ๆ กันหลายปี จะเกิดปัญหาที่ตาลมีใบเหลืองและยืนต้นตาp หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตาลแหยง จากข้อมูลทางวิชาการยังไม่มีข้อมูลบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าสาเหตุที่ต้นตาลมีลักษณะดังกล่าวเกิดมาจากที่ได้รับแจ้ง ซึ่งจะต้องทำการเก็บข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อที่จะได้ทราบปัญหาอย่างแท้จริง “
ศฎฆณํฐวิธีการแก้ปัญหาต้องแบ่งส่วนว่า หากชาวบ้านต้องการนาต้องการข้าวก็ต้องเสียต้นตาลไปบ้าง ส่วนพื้นที่ไหนต้องการอนุรักษ์เป็นพื้นที่ปลูกตาลจะต้องหลีกเลี่ยงการทำนาซ้ำๆกันตลอดปี ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะหนึ่ง ในที่สุดแล้วการแก้ปัญหาให้ได้ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อน เมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงจะแก้ได้ถูกจุด
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า เป็นพื้นที่กว้างพอควรในพื้นที่มีการทำนาตลอดเวลา โดยใบตาลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและยืนต้นตายมีมาก ดังนั้น จะทำอะไรต้องคุยและตกลงให้รู้เรื่อง
ปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังอีกอย่างสำหรับตาลมืองเพชร คือ หนอนหัวดำที่กำลังระบาดในพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเท่าที่ทราบกำลังระบาดมาถึง อ.หัวหิน แล้ว ซึ่งอีกไม่นานหากไม่เฝ้าระวังให้ดีอาจจะเข้ามาถึงพื้นที่ของ จ.เพชรบุรี โดยการเฝ้าระวังดูว่าอย่ามีการนำต้นมะพร้าว ต้นตาล หรือปาล์มประดับที่มีหนอนหัวดำจากแหล่งที่มีหนอนหัวดำระบาดเข้ามาในพื้นที่ และเมื่อพบแล้วต้องรีบกำจัดโดยการตัดใบเผาฝังทันที วิธีนี้ก็จะช่วยสกัดกั้นไม่ให้หนอนหัวดำมาระบาดในเมืองเพชร
นอกจากนี้ ยังพบสภาพต้นตาลที่มีด้วงแรดเจาะทำลายจำนวนมาก ซึ่งหากว่าต้องการที่จะรักษาต้นตาลให้ปราศจากการทำลายของด้วงแรด คือ ต้องทำสวนให้สะอาด โดยการเก็บซากต้นไม้ กิ่งไม้ หรือต้นตาลที่ตายแล้วออกนอกพื้นที่โดยการเผาและฝัง จะช่วยให้ปริมาณของด้วงแรดลดลงได้ นอกจากนี้ หากพบแล้วต้องรีบทำกล่องล่อ กล่องล่อ คือ วิธีการตั้งกับดักล่อให้แมลงมาวางไข่แล้วใส่เชื้อราสีเขียวลงไป โดยเชื้อราสีเขียวจะช่วยทำลายหนอนทำให้หนอนตายไปและไม่กลายเป็นด้วงที่จะบินขึ้นไปทำลายต้นตาล อันจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยในการรักษาต้นตาลไม่ให้เสียหายจากการถูกด้วงแรดกัดกิน