xs
xsm
sm
md
lg

ฝายกักน้ำ 12 แห่งที่ชุมพรแห้งขอดหลังนายทุน-นักการเมือง-ชาวบ้านรุกป่าเสียหายกว่า 2 หมื่นไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุมพร - ฝายกักเก็บน้ำ 12 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชุมพร กำลังประสบปัญหาไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เหตุไม่มีน้ำจากแหล่งธรรมชาติ หลังถูกนายทุน นักการเมืองท้องถิ่น บุกรุกทำลายผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม-กรมหลวงชุมพร แนวชายแดนไทย-พม่า เสียหายนับหมื่นไร่ ส่งผลให้เกษตรกร ชาวสวน และประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

จากกรณีที่จังหวัดชุมพร ร่วมกับทหารสนธิกำลังหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจยึดผืนป่า ที่ถูกกลุ่มนายทุน นักการเมืองท้องถิ่น ว่าจ้างแรงงานต่างด้าว เข้าไปตัดโค่นไม้ใหญ่แปรรูปทำไม้เถื่อน และบุกรุกแผ้วถางทำลายผืนป่า เพื่อยึดครองที่ดินไปกว่า 20,000 ไร่ บริเวณป่าต้นน้ำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม-กรมหลวงชุมพรฯ แนวชายแดนไทย-พม่า บริเวณบ้านสะตงบน และบ้านพันวาล ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร นั้น ปรากฏว่า ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบแล้วเนื่องจากฝายกักเก็บน้ำตามเส้นทางไหลจากป่าต้นน้ำ จำนวน 12 ฝาย ไม่มีสามารถกักเก็บน้ำได้ ทำให้ปริมาณน้ำแห้งขอด มีเกษตรกร ชาวสวน และประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชุมพร กล่าวว่า ในจำนวนฝายทั้งหมด 12 ฝาย และในจำนวนนั้นมีอยู่ 1 ฝาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินมาให้ดำเนินการก่อสร้างให้แก่ประชาชน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ขณะนี้หลังจากที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ไม่มีน้ำที่จะกักเก็บไว้ได้เหมือนที่ผ่านมา

จากการสำรวจในปัจจุบันปรากฏว่า น้ำในฝายต่างๆ ไม่มีน้ำที่จะกักเก็บเหมือนเช่นปีที่ผ่านมาได้อีก เนื่องจากป่าต้นน้ำได้ถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป ฝนที่เคยชุ่มฉ่ำ กลับไม่ตกตามฤดูกาล และเมื่อฝนตกลงมา ก็ไม่สามารถที่จะเก็บกักได้เช่นกัน เนื่องจากฝนได้ชะเอาดิน ทราย ลงมาทับถมลำคลอง ส่งผลให้ตื้นเขิน จนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้

อย่างไรก็ตาม จำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง การบริหารจัดการน้ำก็จะต้องตรวจสอบให้มากขึ้น ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือตามหลักการ เก็บน้ำให้อยู่กับดิน เก็บดินให้อยู่กับที่ จึงฝากให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชน ร่วมมือกันบูรณาจัดการเฝ้าระวัง ดูแล ไม่ทำลายป่า และช่วยกันฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น