xs
xsm
sm
md
lg

จับตาพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่าวด้าวเอกชนหวั่นเปิดช่องเก็บค่าใช้จ่ายพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- สายแรงงานส.อ.ท.มองนโยบายแก้แรงงานเถื่อนด้วยการผลักดันการพิสูจน์สัญชาติของรัฐล้มเหลวแน่ แถมยังอาจเพิ่มช่องทางการเรียกเงินดำเนินการที่สูงขึ้นหลังล่าสุดพบต้องมีค่าใช้จ่ายสูงถึงรายละ 5,000บาทขณะที่แรงงานต่างด้าวมีมากกว่าล้านคน เคยเสนอมาตรการแก้ไขแต่หน่วยงานรัฐกลับเพิกเฉย

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีความวิตกเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายของกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการผลักดันแรงงานต่างด้าวที่กำหนดให้มีการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติเช่น ลาว พม่าและกัมพูชา ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มอาจจะล้มเหลวได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติออกไปเป็นวันที่ 28 ก.พ.55 จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบทั้งหมดมากกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานจากพม่าที่ในช่วง 1-2 เดือนนี้มีการพิสูจน์สัญชาติเพียงแค่ 1-2 หมื่นคนเท่านั้น

“ เอกชนกังวลว่าจะกระทบค่าใช้จ่ายต้นทุนการจ้างแรงงานให้สูงขึ้น เพราะถ้าผู้ประกอบการต้องการแรงงานต่างด้าวก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ เพราะตัวแรงงานเองก็คงไม่อยากที่จ่ายในส่วนนี้เอง ซึ่งหากไม่ทำแบบนี้ก็จะกลับสู่ปัญหาเดิมกลายเป็นแรงงานเถื่อนอีก เห็นว่าการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ลง ทั้งนี้รัฐบาลควรจะต้องดูแลเรื่องนี้ไม่ให้เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่มีผลประโยชน์เพราะแรงงานต่างด้าวในระบบมี 1 ล้านคนล่าสุดพบว่ามีค่าใช้จ่ายรวมกันเฉลี่ย 5,000 บาทต่อราย”นายทวีกิจกล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ นายจ้างหรือตัวลูกจ้างต่างด้าวจะต้องไปยื่นเจตจำนงแสดงความประสงค์ที่จะขอพิสูจน์สัญชาติ แต่ในส่วนของกระบวนการนั้นจะไปดูอีกทีใน 2 ปีตามที่รัฐกำหนดไว้ ซึ่ง ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะการเสนอให้มีการตั้งศูนย์รับแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนเป็นจุดๆและมีกฎบังคับว่า

เมื่อมีผู้ประกอบการรายใดไปรับแรงงานต่างด้าวจากศูนย์ฯแล้ว แรงงานต่างด้าวนั้นต้องห้ามเปลี่ยนนายจ้างหรือห้ามย้ายมาทำงานข้ามจังหวัดที่แจ้งไว้ เพราะหากเกิดมีปัญหาขึ้นมาก็จะสามารถส่งแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นกลับศูนย์ฯเพื่อทำการผลักดันกลับสู่ประเทศเดิมได้ ซึ่งคิดว่าแนวทางนี้น่าจะแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรจะมีการถกถึงประเด็นนี้ ซึ่งตนจะเข้าร่วมชี้แจงด้วยในฐานะวิทยากร เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและต้องยอมรับว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอยู่อีกเป็นจำนวนมากแต่การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มาแบบแรงงานเถื่อน

นายสกล ศิกษมัต นายกสมาคมรองเท้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประเภทช่างฝีมือ 4,000ราย เนื่องจากผู้ประกอบการได้เพิ่มกำลังการผลิตตามคำสั่งซื้อที่ปรับตัวสูง คาดว่าในปี 53 ยอดส่งออกรองเท้ามีมูลค่า 2.8 -3.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5% โดยเฉพาะรองเท้าแฟชั่น และรองเท้าตลาดบน ในตลาดญี่ปุ่น ยุโรปที่ต้องการทดแทนสินค้าจากจีนที่มีคุณภาพต่ำกว่าไทย ดังนั้นอยากให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กร หรือสถาบันที่สอนการออกแบบตัดเย็บรองเท้า เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความชำนาญเฉพาะทางรองรับการแข่งขันในตลาดโลก หลังจากที่ผู้ผลิตรองเท้าได้รับคำสั่งซื้อใหม่จาก 20 แบรนด์ระดับโลกเช่น เคสวิส ลาคอสท์ ทิมเบอร์แลนด์ ไทเกอร์ เจออฟ แชมเปี้ยน เป็นต้น เพื่อทดแทนแบรนด์ไนกี้ที่ประกาศย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น