ASTVผู้จัดการรายวัน- นายกฯ เคลียร์อีกรอบ หลังกฤษฎีกายกร่างตั้งองค์การอิสระ (ถาวร) ลดทอนอำนาจ ย้ำต้องการให้ยึดตามเจตนารมย์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ ยันไม่มีเกาเหลา แต่ความคิดอาจไม่ตรงกัน เปิดร่างข้อเสนอเอกชนเบื้องต้นเกี่ยวกับกิจการรุนแรงที่เตรียมประชาพิจารณ์ 19 ก.พ.นี้ ค้านร่าง 19 กิจการเดิมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะยื่นถอดบัญชี 18 ออก หวั่นไทยถูกมองปลูกพืชGMOs
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ (16ก.พ.) ได้หารือกับคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงขอบข่ายอำนาจขององค์การอิสระ (ถาวร) ที่ยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ และได้ส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ แต่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงขอให้มีการทบทวนเพื่อให้ร่างดังกล่าวตรงกับเจตนารมย์ที่รัฐบาลกำหนดไว้
“ที่กฤษฎีกาเขียนไว้นั้น จะยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบจะให้บทบาทขององค์กรอิสระมากกว่าที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ ให้สามารถทำงานในการช่วยให้เกิดความสมดุลได้ เพราะต้องการที่จะเห็นองค์การที่เกิดขึ้นเป็นที่ยอมรับเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาในเรื่องมวลชนและสิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรมจะไม่สำเร็จ หากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตอะไรในเชิงกฎหมายที่อาจจะเกินเลยไปกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด ก็จะทำบันทึกเป็นข้อสังเกตกลับ มาให้ครม.พิจารณา”นายอภิสิทธิ์กล่าว
สำหรับกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในเรื่องการทำประชาพิจารณ์ประเภทกิจการรุนแรงที่กำหนดไว้ 5 ครั้ง และครั้งแรกจะเป็นที่เชียงใหม่วันที่ 19 ก.พ.นี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ได้พบกับคณะกรรมการ 4ฝ่าย ซึ่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อยู่ด้วย ก็ได้ซักซ้อมความเข้าใจกันแล้ว และต้องการให้ทุกฝ่ายทำงานไปในทิศทางเดียวกันและไม่ให้มีปัญหาระหว่างกัน และสาเหตุที่เดินทางไปร่วมประชุมด้วย เพราะความคิดเห็นในบางประเด็นไม่ตรงกัน มีความสับสนในบางเรื่อง ก็อยากให้มีความชัดเจนว่าและรัฐบาลคิดอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่องค์การอิสระถูกลดทอนอำนาจ ทางกฤษฎีกาเขียนไว้แทบไม่มีความสำคัญและมีอำนาจตามที่ครม.เคยเห็นชอบไว้ เช่น การไม่สามารถเรียกข้อมูลหรือหน่วยงานมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่ให้ใบอนุญาต คณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ข้อมูลเพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีความซ้ำซ้อน เนื่องจากอนุญาตให้องค์การอิสระเป็นผู้มีสิทธทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้
นายโกศล ใจรังสี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือความพร้อมของข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งปะรเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่จะร่วมรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุงรายการ”โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ”ที่จะเปิดเป็นเวทีแรกวันที่ 19 ก.พ.นี้ที่เชียงใหม่
หลักการของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้กำหนดบัญชีกิจการรุนแรงที่ชัดเจนโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นกิจการที่รุนแรงเพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติได้ง่ายโดยไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก และส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ชุมชนร้องเรียนกิจการรุนแรงเพื่อให้วินิจฉัยนั้นควรจะเป็นการร้องเรียนได้ในช่วงก่อนอนุญาตเพราะหลังดำเนินงานแล้วหากมีปัญหาสามารถพึ่งระบบศาลได้อีก
รายงานข่าวจากส.อ.ท. แจ้งว่า ส.อ.ท.ได้ทำข้อเสนอและเหตุผลขอปรับแก้ของกลุ่มอุตสาหกรรมภายหลังการรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเบื้องต้น โดยความเห็นเบื้องต้นคัดค้านร่างเดิมที่กำหนดไว้ 19 กิจการเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่
1. กิจการที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ กลุ่มปูนซิเมนต์ ส.อ.ท.เสนอให้กรณีขอใหม่ซ้ำในพื้นที่ที่เคยได้รับอนุญาตมาก่อนไม่ถือเป็นกิจการรุนแรง
2.การถมทะเล หรือทะเลสาบนอกเขตชายฝั่งเดิม เอกชนเสนอให้พื้นที่ตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไปเป็นกิจการรุนแรงตามที่ต่างประเทศดำเนินการเช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย
3.การก่อสร้างกันคลื่นหรือกระแสน้ำในทะเล เอกชนเสนอไม่ถือเป็นกิจการรุนแรงเพราะสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
4.เหมืองแร่ใต้ดิน เสนอเหมืองถ่านหินแบบเปิด แร่หินปูน แร่เกลือ แร่โปแตซไม่ถือเป็นกิจการรุนแรง
5.เหมืองแร่โลหะทุกชนิด สภาการเหมืองแร่เสนอไม่จัดเป็นกิจการรุนแรงทุกชนิด
6.นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการ เอกชนเสนอให้นิคมฯที่มีโรงงานปิโตรเคมีหรือเหล็กที่มีกำลังผลิตสอดคล้องกับกลุ่มปิโตรฯและเหล็กที่กำหนด
7.โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลางทุกขนาด ข้อเสนอไม่เห็นด้วยที่จะเป็นกิจการที่อาจมีผลรุนแรง
8.โรงงานถลุง เหล็ก หรือเหล็กกล้า ข้อเสนอโรงถลุงเหล็กกำลังผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไปเป็นโครงการที่อาจรุนแรง
9.การผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี ไม่มีความเห็น
10.โรงบำบัดหรือกำจัดหรือรีไซเคิลกากของเสีย ข้อเสนอของอุตสาหกรรม ให้โรงกำจัดกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมประเภทฝังกลบและเตาเผาเป็นกิจการท่อาจมีผลรุนแรง โรงรีไซเคิลกากของเสีย เตาเผาปูนซิเมนต์ และการขนส่งของเสียอันตรายไม่เป็นกิจการที่อาจมีผลรุนแรง
11.สนามบินรวมการขยายทางวิ่งทุกขนาดเป็นกิจการรุนแรง ไม่มีความเห็น
12.ท่าเทียบเรือขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไป ข้อเสนอไม่เห็นด้วยควรพิจารณาเฉพาะกิจกรรมบนท่าเรือที่มีการขนสารก่อมะเร็ง 1000 ตันต่อวันหรือมากกว่าอาจเข้าข่ายกิจการรุนแรง
13.เขื่อนกักเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ หรือฝายหือเขื่อนทดน้ำ ตั้งแต่ 100 ล้านลบ.ม.ขึ้นไป ไม่มีความเห็น
14.การชลประทาน พื้นที่ตั้งแต่ 8 หมื่นไร่ ไม่มีความเห็น
15.โรงไฟฟ้าทุกประเภท กำลังผลิตตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ข้อเสนอยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และใช้ก๊าซธรรมชาติ
16.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด ไม่มีความเห็นเพิ่มเติม
17.การผันน้ำในลุ่มน้ำหลักหรือข้ามลุ่มน้ำนานาชาติ ไม่มีความเห็นเพิ่มเติม
18.การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ
GMOs ที่ได้จากการปรับแต่งหรือดัดแปรสารพันธุกรรมโดยใช้เทคนิคการตัดต่อยีนทางพันธุวิศวกรรม เสนอให้ถอดออกจากรายการกิจการรุนแรงเพราะหากกำหนดจะทำให้เข้าใจผิดว่าไทยมีการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม (พืชจีเอ็ม) เพื่อการค้าแล้ว ประกอบกับพืชจีเอ็มทุกชนิดได้รับอนุญาตให้ปลูกเชิงการค้าในประเทศต่างๆ ได้ผ่านการประเมินว่าปลอดภัยแล้ว
19.สนามกอล์ฟ ตั้งแต่ 9 หลุมไม่มีความเห็นเพิ่มเติม