xs
xsm
sm
md
lg

มาร์ค สั่งอัยการยื่นศาลฯ เร่งมาบตาพุดสร้างต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลสั่งอัยการเร่งยื่นศาลฯเปิดทางกิจการในมาบตาพุดก่อสร้างได้แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจนกว่าจะทำตามมาตรา 67 วรรค 2 ครบถ้วนภายใน 1-2 วันนี้หวั่นนักลงทุนเผ่นหนีไทย เผยฟอร์ด-ดาวเคมีคอลจากสหรัฐกระอักนายกฯเร่งอุ้ม ขณะที่จี้สผ.ให้เร่งชัดเจนกิจการที่ไม่ต้องทำEIA ใน 1-2 สัปดาห์

วานนี้ (2 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้อัยการยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลฯกรุณาชี้กิจการในมาบตาพุดที่ถูกระงับกิจการให้สามารถก่อสร้างได้ต่อไปโดยยังไม่สามารถประกอบกิจการได้ เพราะขณะนี้ต้องหยุดกิจการกันหมดซึ่งได้มีการร่างคำร้องไว้แล้วคาดว่าจะยื่นได้ 1-2 วันนี้โดยเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จจะได้รับการอนุญาตหรือไม่ โดยจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบมาตรา 67 วรรค(2) แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)รายงานผลกระทบสุขภาพ(HIA) เป็นต้น

สำหรับ 30 กิจการที่ศาลฯได้พิจารณายกคำร้องแต่ได้ชี้ช่องถึงกิจการที่ไม่ต้องจัดทำ EIAสามารถส่งเรื่องให้สำนักโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เป็นผู้พิจารณาได้ทันทีซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดกลุ่มกิจการเหล่านี้ไว้แล้วซึ่งคาดว่าจะเร่งให้เสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะต้องขอความชัดเจนการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ส่วนกลุ่มที่ 3 พยายามนำมาเทียบเคียงกับ 11 กิจการที่ศาลฯยกเว้นการระงับกิจการซึ่งศาลฯระบุว่าประเด็นนี้ได้วินิจฉัยแล้ว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด ต้องหยุดชะงักไปด้วยเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชซึ่งถูกระงับกิจการ ขณะที่นิคมฯเหมราชมีพื้นที่คล่อมอยู่ระหว่างจังหวัดชลบุรีและระยองจะต้องมาพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า นายก ฯได้แสดงความเป็นห่วงกรณีของบริษัทดาวเคมีคอล จำกัด และฟอร์ด มอเตอร์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรณีของฟอร์ด มอเตอร์ ที่มีเงินลงทุนมากถึง 20,000 ล้านบาท และจำเป็นต้องลงนามเพื่อใช้ฟื้นที่ภายในนิคมฯเหมราช ให้ได้ภายในวันที่ 15 ก.พ. นี้ หากไม่ได้เช่นนี้จะย้ายการลงทุนไปที่อื่น นายกฯยังสั่งการให้อัยการเร่งหาช่องทางกฎหมายที่จะทำอย่างไรเพื่อให้ฟอร์ดฯสามารถลงนามกับเหมราชให้ได้ภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ รวมทั้งนายกฯได้เรียกนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปเร่งดำเนินการให้ชัดเจนเกี่ยวกับกิจการที่ไม่ต้องทำEIA

นายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้(2ก.พ.) อนุมัติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ....ซึ่งเป็นร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาออกจากการการพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระ ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญเป็นร่างกฎหมายของคณะกรรมการแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 (2) ของรัฐธรรมนูญ (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เสนอแทนเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติครม. ว่า ครม.ได้มอบหมายให้อัยการทำหน้าที่แทน 8 หน่วยราชการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล โดยจะเน้นเฉพาะประเด็นการขอก่อสร้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนโครงการที่กำลังพูดกันว่ามีโอกาสดำเนินการต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลอีกอาจจะมีมากกว่า 10 โครงการ

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะทำงานกลางเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 กล่าวว่า กิจการที่นายกฯระบุว่าจะสามารถขอความชัดเจนจากสผ.เรื่องไม่ต้องจัดทำ EIA มี 10 กิจการ ได้แก่ 1. บ.พีทีที ฟีนอล จำกัด 2.บ.อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด 3.ปตท.เคมีคอล จำกัด(มหาชน) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการผลิตโพลิเอทิลีน 4. บ.สยาม มิตซุย พีทีเอ จำกัด 5. บ.กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด โครงการติดตั้ง DME Removal Unit 6. บ.ไทยโพลิเอททิลีน จำกัด 7. ปตท.เคมีคอล สาขาถนนไอ-สี่ 8. บ.บางกอกโพลีเอททีลีน จำกัด(มหาชน) 9. บ.ไทยโพลิเอททิลีน จำกัด ผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอททีลีน 10. บ.บลูสโคปสตีล (ประเทศไทย) จำกัด

ส่วนกิจการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมี 23 กิจการ ส่วนกลุ่มกิจการที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นั้น กลุ่มนี้จากการพิจารณาจะมี 4-5 กิจการซึ่งได้มอบหมาย กรอ.และการนิคม กนอ. พิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น