xs
xsm
sm
md
lg

35 ปีของการพ่ายแพ้ทางการเงินของประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ทางการได้ออกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้า 30 เปอร์เซ็นต์ มีผลให้ SET ตกวันเดียว 108 จุด มูลค่าตลาดหุ้นเสียหาย 8.1 แสนล้านบาท ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเย็นวันเดียวกัน โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศ “ในส่วนของการนำเงินเข้ามาลงทุนในหุ้น จะไม่มีการกันสำรองฯ 30 เปอร์เซ็นต์” ประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง วันรุ่งขึ้นตลาดหุ้นพุ่งขึ้นมา 75 จุด

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ประกาศของธปท. จากที่เคยอนุมัติกลต.ให้มีการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศโดยตรง 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มอีก 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมเป็น 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เอกชนที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ เจอสภาวะการพังทลายของตลาดทุนโลกในปี 2551 ขาดทุนยับ การไปลงทุนกับตราสาร CDO (Collateralized debt obligation) กับสถาบันการเงินที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสถาบันการเงินของอเมริกาล้มลง เงินที่นำไปลงทุนจึงสูญ

ขยายวงเงินลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศจาก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และอนุญาตให้บริษัทในไทยให้กู้แก่บริษัทในต่างประเทศที่ไม่ใช่บริษัทในเครือได้ไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายวงเงินในการนำเงินบาทแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศด้วย ฯลฯ

(1) มาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า วันที่ 19 ธันวาคม 2549 และ (2) ประกาศของธปท.ที่มีผลในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 แสดงให้เห็นถึงการคิดแก้ไขปัญหาเงินท่วมประเทศตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ประกาศยกเลิกมาตรการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ในส่วนของการนำเงินเข้ามาลงทุนในหุ้น จะไม่มีการกันสำรองฯ 30 เปอร์เซ็นต์” ทำให้วันรุ่งขึ้นตลาดหุ้นยุติการเทขาย แต่กลับพุ่งขึ้น 75 จุด แสดงว่าเงินทุนไหลเข้ามาลงทุน (เก็งกำไร) ในตลาดทุนเป็นสำคัญ

เงินทุนไหลเข้าไทยต่อเนื่อง 4 ธันวาคม 2551 อยู่ที่ 154,483 ล้านเหรียญสหรัฐ 22 มกราคม 2553 อยู่ที่156,009 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงถึง 4 เท่าของที่เคยสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ความผิดปกติของการบริหารและจัดการทางการเงิน ส่งผลให้เงินไหลเข้าออกแต่ละประเทศอย่างผิดปกติ การผูกค่าเงินหยวนของจีนและเงินริงกิตมาเลเซียไว้ตายตัวกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายตามการพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ในปี 2000 ทำให้หยวนและริงกิตอ่อนกว่าความเป็นจริง ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาซื้อหยวนและริงกิตอย่างรุนแรง กระทั่งยืนค่าเดิมไม่ได้ ทำให้กลางปี 2005 หยวนและริงกิตแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปี 2008 ทุนสำรองของประเทศมาเลเซียสูงกว่าประเทศไทย แต่ปี 2009 ทุนสำรองของประเทศไทยกลับสูงกว่ามาเลเซีย ระหว่างปี 2549 – 2552 ทุนสำรองของจีนเพิ่ม 113 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุนสำรองของไทยเพิ่มขึ้น 118 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าช่วง 3 ปีดังกล่าว เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าประเทศจีน

วันที่ 28 เมษายน 2549 โดยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดตลาดตราสารอนุพันธ์ “TFEX” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย สินค้าราคาขึ้นก็ทำกำไรได้ สินค้าราคาตกก็ทำกำไรได้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดตลาดตราสารอนุพันธ์ต่อเนื่อง “Gold Future”

ตลาดตราสารอนุพันธ์ถูกสร้างขึ้นโดยมิจฉาทิฏฐิของ Financial Engineer บอกข้อดีของตลาดตราสารอนุพันธ์ว่า เป็นการประกันความเสี่ยง หรือคือ ตลาดที่ไม่มีความเสี่ยงนั่นเอง ตลาดตราสารอนุพันธ์ จะดีเฉพาะผู้เล่น (Players) โดยเฉพาะ World Fund ที่ชาญฉลาด ทำให้เข้ามาโกยเงินไปจากประเทศต่างๆ อย่างง่ายดาย ส่วนประเทศท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่น จะย่อยยับอย่างเดียว ย่อยยับจากอภิมหาทุนที่เคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศ

ทุนสำรองที่สูงขึ้นเบี่ยงเบนอย่างหนัก ไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยมั่งคั่งขึ้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังต้องกู้เงินถึง 8 แสนล้านบาท การที่กู้เงินสูงเป็นประวัติการณ์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินท่วมประเทศ โดยคิดว่าจะช่วยลดภาวะเงินท่วมประเทศ

เพื่อง่ายแก่ความเข้าใจถึงอบายมุขของตลาดตราสารอนุพันธ์ ให้คิดถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล “ที่ตัวสินค้าเกิดจากการหมุนกงล้อให้เกิดตัวเลข” โดยกำหนดว่า การหมุนกงล้อรอบใดเป็นรางวัลอะไร แต่สินค้าในตลาดตราสารอนุพันธ์ ไม่ต้องใช้วิธีหมุนกงล้อ “ใช้วิธีอ้างอิง” ตัวเลขดัชนีตลาดหุ้น ตัวเลขราคาหุ้น ตัวเลขราคาทองคำ ตัวเลขราคาน้ำมัน และตัวเลขราคาสินค้าเกษตร แล้วนำตัวเลขดังกล่าวมาทำการซื้อขาย

มีการอ้างอิงกับราคาสินค้าเกษตรด้วย โดยแท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรเกี่ยวกับเกษตรกร เกษตรกรตัวจริงจะไม่มีเวลามาติดตามและซื้อ-ขาย “ตัวเลขราคาสินค้าเกษตร” ได้ แต่หากใครมีข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ กับตลาดตราสารอนุพันธ์ สามารถทำกำไรจากตลาดตราสารอนุพันธ์ได้ ไม่ต้องไปทำนาทำสวนให้ลำบาก ดำนาและทำสวนบนเครื่องคอมพิวเตอร์สบายกว่ากันมาก ไม่เสี่ยงด้วย

ธุรกรรมสลากกินแบ่งรัฐบาล และธุรกรรมของตลาดตราสารอนุพันธ์ จึงไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด เป็นมิจฉาอาชีวะ เป็นการซื้อขายตัวเลขที่ไม่มีตัวสินค้าจริง เป็นอบายมุขเช่นเดียวกัน ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตต่อระบบ (No productivity) เป็นธุรกรรมที่เอารัดเอาเปรียบระบบ เบียดเบียนระบบ โอกาสที่จะถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล (Probability) น้อยมาก ส่วนธุรกรรมของตลาดตราสารอนุพันธ์มีโอกาสได้กำไร (ถูกรางวัล) ทุกวัน ขึ้นก็กำไร-ตกก็กำไร บางวันกำไรหลายรอบ

ขนาดความรุนแรง สลากกินแบ่งรัฐบาลเทียบได้เท่ากับโรคผิวหนัง เช่นโรคหิด (โรคเฉพาะที่) แต่ตลาดตราสารอนุพันธ์เทียบได้กับโรคเอดส์ (โรคของระบบ) โรคหิด มีโอกาสรักษาหายได้ง่าย แต่แปลก โรคสลากกินแบ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ นอกจากจะรักษาไม่หายแล้วยังทำให้เกิดโรคข้างเคียงเพิ่มขึ้น เช่น โรคหวยใต้ดิน โรคหวยบนดิน และโรคหวยออนไลน์ ส่วนโรคตลาดตราสารอนุพันธ์ที่เป็นโรคของระบบ ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก มันก็จะทำความเสียหายให้ระบบตลอดเวลา

น่าเชื่อว่าศาสนาและวัฒนธรรมของตะวันตกจะไม่รู้จักคำว่า “อบายมุข” แต่ทางตะวันออกรู้จักคำว่า “อบายมุข” ลึกซึ้ง สินค้าในตลาดตราสารอนุพันธ์ เป็นเป็นสินค้าที่ไม่มีตัวตน เป็นธุรกรรมอบายมุข

35 ปีหลังเปิดตลาดหุ้น ประเทศไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจขนาดหนักจนต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟถึง 2 ครั้ง มีต้นเหตุมาจากการพังทลายรุนแรงของตลาดทุนทั้ง 2 ครั้ง ยิ่งพัฒนาตลาดทุนมากเท่าใด ยิ่งทำให้เกิดการทำลายทุนของประเทศมากเท่านั้น

มาตรการต่างๆ ที่ทำมา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่เป็นการยอมจำนนต่อสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการพ่ายแพ้ทางการเงินของประเทศไทยตลอด 35 ปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น