xs
xsm
sm
md
lg

สื่อทุน US โวยจีนลด “หยวน” ตาม $ ทำชาติส่งออกเอเชียเสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนบัตรในละ 100 หยวน
สื่อ “ทุนนิยมอเมริกัน” หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอรัล เสนอรายงานข่าวหลายประเทศในเอเชีย กำลังวิตกจะต้องเสียเปรียบในการส่งออก จากการที่ค่าเงินหยวนของจีนดิ่งลงตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่กำลังอ่อนตัวลงเรื่อยๆ

ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนตัวมากว่า 1 ปี ท่ามกลางความวิตกของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รายงานข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัล ฉบับวานนี้ (26) ก็ชี้เป้าไปที่จีน ว่า ยังคงรักษาค่าเงินหยวนจนแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์ ดังนั้น เงินหยวนจึงอยู่ในสภาพเดียวกับดอลลาร์ นั่นคืกำลังมีค่าต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินตราของพวกประเทศเพื่อนบ้านของจีน ไม่ว่าจะเป็น ริงกิตมาเลเซีย, วอนเกาหลีใต้ หรือรูเปียห์อินโดนีเซีย และนั่นก็ทำให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศเหล่านี้จะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าจีน

“ในเมื่อคุณมีเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ในเอเชียรายหนึ่งผูกตรึงตัวเองเอาไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทุกๆ คนก็ย่อมจะต้องรู้สึกถึงแรงกดดันกันทั้งนั้น” วอลล์สตรีทเจอร์นัล อ้างคำกล่าวของ เฟรเดริก นิวแมนน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชียประจำธนาคารเอชเอสบีซีในฮ่องกง เขากล่าวด้วยว่า “แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ในบริบทนี้ก็ทำให้เดือดร้อนกันแล้ว”

พวกประเทศเอเชียที่แข่งขันกับจีนอยู่ จึงกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ โดยในช่วงหลายเดือนที๋ผ่านมา บรรดาธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ได้พยายามสกัดไม่ให้สกุลเงินตราของพวกตนแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับหยวน (และก็ดอลลาร์) ด้วยการไล่ซื้อเงินดอลลาร์ราคาถูก จนทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของพวกเขาเพิ่มสูง เวลานี้ถึงขั้นกลับมาอยู่ใกล้ๆ ระดับที่มีอยู่ก่อนหน้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งพวกประเทศในเอเชียก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของฝ่ายตะวันตกที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วจะต้องยอมให้สกุลเงินของตนแข็งค่าขึ้นและลดการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตโดยมุ่งเน้นที่การส่งออก ดังนั้นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงทำให้พวกนักเศรษฐศาสตร์ตลอดจนพวกผู้กำหนดนโยบายระหว่างประเทศของโลกตะวันตกไม่สบายใจ โดยพวกเขามองว่า การแทรกแซงค่าเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชียนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เต็มใจที่จะหยุดความเคยชินแบบเก่าในการใช้นโยบายผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตโดยอาศัยการส่งออกเป็นตัวนำ ด้วยการใช้นโยบายรักษาค่าเงินให้ต่ำกว่าจริง ถึงแม้การแทรกแซงดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อในประเทศก็ตาม

เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เราจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความไม่สมดุลทางการค้าและการไหลเวียนเงินทุนไปในทางที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างไม่ยั่งยืนอีก” เขากล่าว

ทว่า สำหรับประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเปราะบางจากยอดส่งออกที่เริ่มกระเตื้องขึ้น คงเป็นเรื่องยากที่จะยอมปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว และยอมให้ค่าเงินของตนแข็งค่าขึ้นในขณะที่เงินหยวนยังอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินดอลลาร์

“จีนมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินคงที่ ซึ่งช่วยบริษัทของจีนได้มาก แต่มันทำร้ายเรา” ซุงจินลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทอินเชออน กิจการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือของบริษัทบุคังเซ็มส์แห่งเกาหลีใต้กล่าว ลีสนับสนุนให้เกาหลีใต้แทรกแซงค่าเงินต่อไปโดยบอกว่าหากค่าเงินวอนเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีก ธุรกิจต่างๆ ก็จะมีกำไรหดหายหนัก

ทั้งนี้ หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์ (และก็หมายถึงเงินหยวนด้วย) แตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว เวลานี้ก็ได้ลดลงถึง 24.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินวอน ลดลง 10.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สิงคโปร์ ลดลง 7.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินบาท และลดลง 9.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับริงกิต

สกุลเงินเอเชียยังคงมีค่าขยับสูงขึ้นทั้งๆ ที่ประเทศ และดินแดนเหล่านี้เข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯเอาไว้จำนวนมาก เป็นต้นว่า ในเดือนกันยายน เกาหลีใต้มีทุนสำรองเพิ่มขึ้น 8,800 ล้านดอลลาร์ ไทยมีเพิ่มขึ้น 5,300 ล้านดอลลาร์ และไต้หวันเพิ่มขึ้น 6,800 ล้านดอลลาร์ โดยล่าสุดทั้ง 3 ประเทศและดินแดนนี้ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศรวมกันสูงถึง 720,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนจีนมีอยู่ 2.27 ล้านล้านดอลลาร์

ในเมืองไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธำรง ธิติประเสริฐ กล่าวว่า ในเมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้นมาอย่างมั่นคง ค่าเงินหยวนก็ควรแข็งด้วย แต่จีนจงใจทำให้เงินหยวนอ่อนค่า พวกผู้ส่งออกไทยจึงต้องลำบากกันมากขึ้น และต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง มิฉะนั้นจะไปกันไม่รอด

เมื่อดูจากข้อตกลงแลกเปลี่ยนล่วงหน้า พวกนักลงทุนเชื่อกันว่าจีนจะยอมให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นราว 3 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า หลังจากที่ช่วงตั้งแต่ปี 2005 ถึงเดือนกรกฎาคม 2008 จีนยอมปรับให้เงินหยวนแข็งขึ้นราว 21 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ฉิงหวาง นักเศรษฐศาสตร์ดูแลเรื่องจีนให้แก่มอร์แกน สแตนลีย์ ในฮ่องกง เชื่อว่า แม้ผู้ส่งออกในเอเชียต่างก็วิตกกับเรื่องค่าเงิน แต่แรงกดดันทั้งจากสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่จะทำให้จีนยอมปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น ก็ดูยังมีไม่มากนัก ในขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับจีนในตอนนี้ และการส่งออกก็ค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ข้อบ่งชี้สำคัญ ก็คือ การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ “จี 20” เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องค่าเงินหยวนแม้แต่น้อย และกว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป ก็คือ เดือนเมษายนปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น