xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นทีม ศก.‘หมัก’ผิดฝาผิดตัว นักวิชาการเชื่อแก้ปัญหาไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเศรษฐศาสตร์ เตือนทีมเศรษฐกิจรัฐบาล "สมัคร 1"ระวัง ผิดฝาผิดตัว ไม่เชื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยได้ แนะปรับทัพใหม่เรียกความเชื่อมั่นผู้บริโภค-นักลงทุน พร้อมระบุสหรัฐฯ แก้ปัญหาซับไพรม์ผิดทาง หวั่นกระทบเศรษฐกิจโลก เงินไหลออกเตือน 4 ปัจจัยเสี่ยงปี 51 ค่าบาทแข็ง ส่งออกชะงัก น้ำมันผันผวน เก็งกำไรอสังหาฯ ฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง ด้าน"ณรงค์ชัย" แนะแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น ส่วนรัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับทีมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคลัง กับพาณิชย์

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บิรโภคและนักลงทุนลดน้อยลง อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากภายนอกประเทศโดยเฉพาะปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ ส่งผลกระทบไทย สำหรับแนวทางในการป้องกันปัญหาในประเทศขณะนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนระดับกลางที่ขาดความเชื่อมั่นต่อการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การใส่เม็ดเงินเข้าไปในระบบเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนคือ การจัดตั้งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งบุคคลที่ถูกวางตัวในทีมเศรษฐกิจในขณะนี้ถือว่ายังไม่มีความเหมาะสมหรือผิดฝาผิดตัว ดังนั้น รัฐบาลควรมีการวางตัวทีมเศรษฐกิจและบุคคลที่ความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคเพื่อเข้ามาดูแลทั้งในด้านการลงทุนและการเงิน โดยสามารถทำงานได้ทันทีไม่ใช่ต้องเข้ามาเรียนรู้และใช้เวลาในการศึกษางาน เพราะหากเกิดปัญหาทีมเศรษฐกิจจะต้องแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

สำหรับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ ในขณะนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก เนื่องจากการแก้ปัญหาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ดำเนินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง คือ การเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหลายครั้ง และจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯอ่อนค่าลงจากปัจจุบัน

4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลให้นักลงทุนหันไปลงทุนในน้ำมันและทองคำแทน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ส่วนผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับจากปัญหาซับไพรม์และต้องพึงระวัง มี 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.การผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งจากการหารือร่วมกับนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าหลังจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จะทำให้ค่าเงินเยนและค่าเงินหยวนมีแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นอีกประมาณ 10% ในขณะเดียวกันค่าเงินบาทจะแข่งค่าขึ้นเช่นกัน

ส่วนปัจจัยที่ 2. การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระต่อผู้ประกอบการสินค้าในตลาดส่งออกต่างประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ ลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลง ส่วนในปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเกินดุลจากการส่งออกถึง 17% เพราะยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้หากค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นจะส่งผลให้เอกชนไม่ขยายการลงทุน เพราะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลง จะส่งผลต่อผู้ประกอบการในประเทศอย่างหนัก

3. การผันผวนของราคาน้ำมัน ภายหลังจากที่นักลงทุนทิ้งค่าเงินดอลลาร์เข้ามาลงทุนในธุรกิจน้ำมันแทนยิ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตตลอดจนอัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อในประเทศ และ

4. ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในเศรษฐกิจโลกและหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งการเข้ามาลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ เพื่อเก็งกำไรอาจจะทำให้เกิดปัญหาเดียวกับสหรัฐฯ เนื่องจากไม่มีการอยู่อาศัยจริง

อเมริกางลดภาษีกระตุ้นการใช้จ่าย

นางสาวณญดา ธนะพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์ หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ปี 2542 โดยนักเศรษฐศาสตร์ออกมาประเมินว่า จะเกิดภาวะฟองสบู่แตก แต่ปัญหาดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมาโดยตลอดระยะเวาลาที่ปัญหาซับไพรม์เกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาอสังหาฯในอเมริกาฯ มีลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 15-20% ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการแก้ไขปัญหาซับไพรม์ โดยเตรียมให้ FHA ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเข้าไปเพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้ ให้แก่ลูกค้ารายย่อยจากเดิม 417,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อราย เพิ่มเป็น ฃ729,750 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้ารายย่อย ซึ่งในกรณีที่เกิดปัญหาหนี้เสียรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ หยุดการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว และหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.95% นาน 5 ปี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯยังออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันไปออมเงินแทน โดยได้มีการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้รายได้ส่วนบุคคลหรือครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 150,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี

คาด ก.ค.มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายเห็นผล

นอกจากรัฐบาลสหรัฐฯจะมีการออกมาตรการกระตุ้นการใช้เงินในประเทศแล้ว ล่าสุดได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย แต่คาดว่าในระยะ 1 เดือนนี้ธนาคารการสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.5% ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในไทยให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย เพื่อป้องกันการแข่งค่าของเงินบาท และจะกระทบต่อการส่งออกในต่างประเทศ ต่อเนื่องไปถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและ GDP ของปีนี้

ในช่วงที่ผ่านมาคาดกันว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หดตัวลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว และหลังจากที่ได้รับมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาทรงตัวในช่วงเดือน กรกฎาคมนี้ และคาดว่าในช่วงต้นปี 2009 จึงจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งทำให้มีนักลงทุนจากหลายๆ ประเทศให้ความสนใจเข้าไปซื้อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน ซึ่งมีถึง 80% ของนักลงทุนทั้งหมด ส่วนนักลงทุนจากประเทศไทยนั้นก็มีจำนวนมากเช่นกัน

แนะ ธปท.ปรับแนวบริหารทุนสำรอง

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีกว่า อาจทำให้มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก โดยปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ทำให้กำลังซื้อลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศ ธปท.จึงต้องระมัดระวังในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น และควรมีการกำหนดอัตราการแข็งค่าของเงินบาทที่ชัดเจน เช่น ให้ปรับตัวแข็งค่าไม่เกินปีละ 5-7% หรือ 2 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เหมือนอย่างกรณีที่ประเทศจีนกำหนดอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนในแต่ละปี

ทั้งนี้ ทุนสำรองที่มีอยู่กว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนเงินทุนสำรองที่ ธปท.บริหาร 50,000-70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยน อีกส่วนประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้สำหรับหนุนการพิมพ์ธนบัตร

"ในส่วนที่ดูแลค่าเงินบาท ปีนี้เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับแบงก์ชาติที่ต้องบริหารค่าเงินให้ดี ต้องดูว่าแบงก์ชาติกล้าที่จะรับความเสี่ยงในการแทรกแซงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่" นายณรงค์ชัย กล่าวและว่า ส่วนการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% นั้น ขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องปลายเหตุไปแล้ว เนื่องจากปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไม่ใช่เรื่องที่ ธปท.จะดำเนินการดูแลได้เพียงหน่วยงานเดียว

สำหรับการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ ประธานกรรมการ ธสน.มองว่า จำเป็นต้องมีทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรื้อฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชนและนักลงทุน เพราะผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศให้กล้าตัดสินใจลงทุน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องดูแลราคาสินค้า เพื่อให้ประชาชนมั่นใจต่อค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป

"นโยบายรัฐบาลใหม่ไม่ควรจะเน้นเรื่องประชานิยม แต่น่าจะเป็นไปในลักษณะรัฐสวัสดิการ เพราะจะเป็นการจัดให้กับผู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศมากกว่า โดยหวังว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของประเทศกลับมาได้ โดยเฉพาะด้านตลาดเงินตลาดทุน และต้องใช้ศักยภาพของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีประสิทธิภาพก็ควรที่จะพิจารณาแปรรูป"นายณรงค์ชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น