xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา “หลุมดำ” ในการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ ดร.เขียน ธีระวิทย์ ประธานโครงการวิจัยการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย
ขณะกระแสการเรียนการสอนภาษาจีนก็ทะยานสูงถึงขีดสุดทั่วโลก เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่จีนกำลังทะยานสู่ชาติอำนาจ อันส่งผลโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจทั่วโลก ด้านไทยนั้นก็มีการตอบสนองสถานการณ์ดังกล่าว โดยจากการวิจัยการเรียนการสอนภาษาจีนชิ้นล่าสุด ระบุมีผู้เรียนภาษาจีนทั่วประเทศ มากถึง 567,0000 คน มากกว่าประมาณการณ์ทั่วไป ที่ระบุไว้กว่า 300,000 คน

ขณะที่รัฐบาลก็ตอบสนองด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วย และอนึ่ง ชาติไทยในฐานะที่มีประชาชนเชื้อสายจีน เป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นชาติเพื่อนบ้าน มีบรรยากาศความรู้สึกที่ใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรม ดำเนินสัมพันธภาพฉันท์มิตรกับจีนมากว่า 30 ปี ดูไม่น่ามีปัญหาในเรื่องการพัฒนาต่อยอดการเรียนการสอนภาษาจีน

ทว่า ณ ปัจจุบัน ในวงการเรียนการสนภาษาจีนและวงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุคลากรด้านนี้ ต่างปรารภกันถึงความขาดแคลนบุคลากร และบุคลากรที่ไร้คุณภาพ

กระทั่ง ศาสตราจารย์ ดร.เขียน ธีระวิทย์ แห่งศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ออกโรงเป็นหัวเรือใหญ่หาคำตอบและหนทางเพื่อขจัดปัญหาที่เปรียบเสมือนเป็น “หลุมดำ” ที่แผ่คลุมอยู่ทั่วเวทีการเรียนการสอนภาษาจีน ผ่านการวิจัยชุดใหญ่ “การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย” การวิจัยดังกล่าว ซึ่งท่านอาจารย์เขียนเป็นผู้ดูแลในฐานะประธานโครงการนี้ มีเป้าหมายสำรวจข้อเท็จจริง สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในระบบการเรียนการสอนทั่วประเทศ ทุกระดับชั้น จากชั้นอนุบาล ถึงอุดมศึกษา ไปถึงการศึกษานอกระบบ ตลอดจนสำรวจเงื่อนไขปัจจัยสำคัญต่างๆที่โยงใยส่งผลสู่การสร้างคุณภาพในการเรียนการสอนภาษาจีน ทั้งภูมิหลังความเป็นมา นโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เป็นต้น

และขณะนี้ คณะวิจัยได้เสร็จสิ้นการวิจัยเฟสแรก ซึ่งกินเวลาในการจัดทำ 1 ปี 4 เดือน ได้แก่ การสำรวจสภาพการเรียนการสอนภาษาจีน และได้แถลงการณ์วิจัยในวันที่ 17 ตุลาคม 2551 ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

หลุมดำแห่งรอยต่อ” ในการเรียนการสอนภาษาจีน

ในการประชุมแถลงการณ์วิจัยการเรียนการสอนภาษาจีน เฟสแรก รองศาสตราจารย์ พัชนี ตั้งยืนยง ภาควิชาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ดูแลการวิจัยการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ชี้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย และส่งผลเสียหายแก่การเรียนการสอนภาษจีนทุกระดับชั้น ได้แก่ ปัญหารอยต่อที่สร้างความสูญเปล่าและความไร้คุณภาพด้านทักษะภาษาตลอดจนด้านการพัฒนาองค์ความรู้อื่นๆที่จะสร้างคุณภาพที่สมบูรณ์แก่ผู้เรียน

อาจารย์พัชนีได้อธิบายบ่อเกิดของปัญหารอยต่อดังกล่าว มาจากการที่การเรียนภาษาจีนต้องแปรผันไปตามปัจจัยด้านความมั่นคงแห่งชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความต้องการของประชาชน และสภาพเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ทำให้การศึกษาภาษาจีนเสื่อมคุณค่า และขาดความต่อเนื่อง เกิดปัญหา “รอยต่อ” ในการศึกษาภาษาจีนระดับต่างๆ โดยปัญหาที่เห็นได้ชัดระหว่างการพัฒนาในอดีตคือ เมื่อปี พ.ศ. 2515 ทางการไทยอนุญาตให้สอนภาษาจีนได้แค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น ไม่มีโรงเรียนใดในไทยที่สอนภาษจีนระดับมัธยม ในปีเดียวกัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เปิดสอนภาษาจีน กระทั่งปี พ.ศ.2535 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนประกาศให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนได้ทุกระดับชั้น นับเป็นเวลาถึง 20 ปี ที่ไทยมีการสอนภาษาจีนระดับอุดมศึกษาแต่ไม่มีการเรียนการสอนในชั้นมัธยม และรวมเวลานานถึง 40 ปี ที่การเรียนการสอนภาษาจีนในไทย ขาดหายไปจากระดับชั้นเรียนมัธยมศึกษา

“ปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะ “ศูนย์สามระดับ” ในการวงการเรียนการสอนภาษาจีนในไทย โดยโรงเรียนระดับประถมศึกษาก็เริ่มต้นการเรียนการสอนจากศูนย์ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ไม่มีระดับประถมศึกษา หรือมีระดับประถมศึกษาแต่ไม่ได้สอนภาษาจีน ก็เริ่มตั้งจากศูนย์ สถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนภาษาจีนมาตลอด 20 ปี ไม่มีตัวป้อนคือผู้เรียนภาษาจีนจากระดับมัธยม ก็เริ่มต้นจากศูนย์เช่นกัน นับเป็นสภาพที่ก่อความสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างรุนแรง”
อาจารย์ พัชนีชี้

จุดที่น่าสังเกตอีกประการที่พิลึกพิลั่นคือ ภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศภาษาเดียว ที่กระทรวงศึกษาธิการโยนอำนาจการตัดสินใจเรื่องนโยบายให้แก่สภาความมั่นคงแห่งชาติ
การประชุมเชิงปฏิบัติการการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย
และข้อสรุปที่เป็นจุดน่าสนใจจากการวิจัยครั้งนี้ คือบทบาททางสังคมของภาษาจีนที่ถูกกำหนดโดยรัฐ โดยอาจารย์พัชนี ชี้ว่า ตลอดประวัติการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย รัฐได้กำหนดบทบาทภาษาจีนแตกต่างกันไปตามยุคสมัย สรุปได้ถึง 8 บทบาท ได้แก่

ภาษาแห่งการสืบทอดอัตลักษณ์จีน (พ.ศ.2461),

ภาษาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2479),

ภาษาของอริของมิตรประเทศ (พ.ศ.2482),

ภาษาของมหาอำนาจด้านใดด้านหนึ่ง (พ.ศ. 2491),

ภาษาที่เป็นเครื่องมือเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ (พ.ศ.2494),

ภาษาเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (พ.ศ.2535),

ภาษาต่างประเทศที่สอง หมวดภาษาตะวันออก (พ.ศ. 2544) ,

และล่าสุด ก็เป็นภาษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในโลกาภิวัตน์ (พ.ศ. 2549-2553)

ภาษาจีนไม่เคยมีบทบาทคุณค่าในฐานะของศาสตร์ศิลป์ภาษาที่บริสุทธิ์ หากการกำหนดบทบาทคุณค่านี้ เสมือนการเริ่มต้น ก็กล่าวได้ว่า “การเริ่มต้นที่ดี (ย่อมสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง) ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย” ดังนั้น ก้าวขั้นต่อๆไปของการเรียนการสอน จึงมิได้ยืนอยู่บนพื้นฐานปรัชญาที่ดี ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาด้านนี้

ในรายงานวิจัยชี้ถึงสิ่งที่น่าเสียดายที่สุด คือ “ผู้กำหนดแผนงาน และยุทธศาสตร์การเรียนการสอนภาษาจีนนั้น ไม่ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สมมติว่าในแต่ละปี มีคนไทยเรียนภาษาจีนในแต่ละระดับต่างๆภายใต้ระบบต่างๆประมาณ 300,000 คน ถ้ามีผู้เรียนแล้วเลิกกลางคัน เรียนแล้วลืม หรือเรียนแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์เลยตลอดชีวิต (ได้แต่สอบผ่านชั้นที่กำลังเรียนอยู่) มีอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 90 การเรียนภาษาจีนก็เท่ากับทำร้ายผู้เรียน เพราะเสียโอกาสที่จะเอาเวลาไปพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านอื่นๆ ถ้าลดจำนวนผู้ถูกทำร้ายไปเหลือร้อยละ 50 หรือน้อยกว่า ก็จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น นั่นควรเป็นภาระเร่งด่วนที่ผู้นำการศึกษาจะต้องหายุทธวิธีในการป้องกันเยาวชนไทยมิให้ถูก “ปองร้าย” ต่อไปอีกอย่างไม่มีวันจบสิ้น

อย่างไรก็ตาม รศ.พัชนี ชี้ถึงทางออกปัญหาว่า “ควรเปิดการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับมัธยมมากๆ แต่พอมีการส่งเสริมก็กลับมีเปิดสอนในระดับประถมศึกษามากกว่า ดังนั้น โรงเรียนที่ไม่มีชั้นประถม มีแต่ชั้นมัธยม ก็ต้องเริ่มเรียนจากศูนย์ อย่างไรก็ดี มองในแง่ดีหากกระทรวงศึกษาและสถาบันต่างๆร่วมมือกันดีๆ ภายใน 5 ปี จะต่อกันติด”

“ด้านตำราเรียนก็มีความหลากหลาย เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาทั่วประเทศในปี พ.ศ.2542 มีการกระจายอำนาจให้แก่ให้แก่เขตการศึกษาให้การกำหนดหลักสูตร กระทรวงศึกษากำหนดแค่กรอบใหญ่ๆเท่านั้น มีการปล่อยเสรีทางตำรา ภาษาจีนนั้น ต่างจากภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันที่มีประวัติการเรียนการสอนยาวนาน มีความมั่นคงพอสมควรแล้ว ภาษาจีนเพิ่งเริ่มต้นตั้งไข่ รัฐก็ปล่อยให้เดินเองวิ่งเอง แล้วก็ต้องล้มลุกคลุกคลานกันสักระยะ การปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 จึงสร้างปัญหาให้กับภาษาจีนอีกครั้ง”

จากปัญหา “รอยต่อ” ซึ่งเป็นปัญหาลูกโซ่ หรือวงจรอุบาทว์อยู่ในการเรียนการสอนทุกระดับชั้นนั้น ปัญหาที่ตาม และเป็นปัญหาร่วมของการเรียนการสอนภาษจีนทุกระดับชั้นได้แก่ หลักสูตรการเรียนการสอน ปัญหาบุคลากรด้านครู ซึ่งเป็นเป้าหลอมคุณภาพของผู้เรียน ดังบทสรุปการวิจัยการเรียนการสอนตั้งระดับชั้นอนุบาล ยันระดับอุดมศึกษา ได้แก่

ระดับประถม มัธยม จากการวิจัย ได้ระบุปัญหาในการเรียนการสอนระดับชั้นดังกล่าว ได้แก่

- หลักสูตรการสอนไม่ชัดเจน มีการใช้หลักสูตรกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศเป็นแกนกลาง ซึ่งไม่เหมาะสมกับผู้เรียนชาวไทย

- ครู มีจำนวนไม่เพียงพอ หรือใช้ครูอาสาสมัคร ที่มิได้จบหลักสูตรครู ซึ่งขาดเทคนิกการสอน ที่จะสร้างความสนใจแก่เด็กอย่างเพียงพอ รวมถึงการปูพื้นฐาน ปัญหาในส่วนนี้มาจากนโยบายจากหน่วยงานรัฐ ที่ไม่กำหนดอัตราบรรจุครูที่เชี่ยวชาญ หรือจบด้านครูมาโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาในส่วนของครู ขาดกำลังใจและแรงจูงใจในการทำหน้าที่ นอกจากนี้ ครูยังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ค่าจ้าง เงินเดือนต่ำ ที่จะมาประกอบอาชีพครู

- การแก้ปัญหา ณ ขณะนี้ ควรจะระดมความช่วยเหลือจากสมาคมชาวจีนในการจัดกิจกรรมส่งเสริม ใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เด็กได้ฟังเสียงจากเจ้าของภาษา หรือกำหนดกิจกรรมอื่นๆ

ระดับอุดมศึกษา โดยมาตรฐานทั่วไป เป็นด่านสุดท้าย ที่นักศึกษาจะออกไปสู่วงการประกอบอาชีพ ดูเหมือนว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในระดับชั้นเรียนก่อนหน้า จะไหลมารวมศูนย์อยู่ในระดับอุดมศึกษา นอกจากปัญหารอยต่อที่ต้องมาเริ่มต้นจากศูนย์ ทำให้นักเรียนจำนวนมากสูญเสียเวลาเปล่าแล้ว จากบทสรุปการวิจัยได้ระบุปัญหาใหญ่ๆในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาปัจจุบัน ได้แก่

ผลลัพธ์ประการแรกคือ การเรียนการสอนไม่มีมาตรฐาน โดยผู้เรียนที่จบหลักสูตรวิชาเอกหรือโทต่างมหาวิทยาลัยกัน มีความรู้ภาษาจีนต่างกันมาก

สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในระดับอุดมศึกษาแตกต่างจากระดับอื่นๆ โดยมีการให้อำนาจค่อนข้างสูงแก่ผู้สอนในการเลือกใช้ตำรา แบบเรียน และสื่อการสอน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐประเภทมหาวิทยาลัย ใช้ตำราวิชาพื้นฐานที่ผลิตเองมากกว่าตำราสำเร็จรูป ส่วนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและมหาวิทยาลัยเอกชนใช้ตำราสำเร็จรูปมากกว่า ซึ่งหลักเกณฑ์ในการ “ผลิตตำรา” หรือ “เลือกตำรา” เองนี้ มีจุดอ่อนคือ ประสบการณ์และความสามารถของผู้สอนที่แตกต่างกัน และมหาวิทยาลัยไม่มีมาตรการตรวจสอบคุณภาพก่อนทำการสอน ก็เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาตามยถากรรมนั่นเอง

และจุดที่ยังขาดมาตรฐานและสับสนมากก็คือ การใช้ระบบตัวอักษรจีนเต็ม และตัวย่อ แต่ละสถาบันเลือกใช้ไม่เหมือนกัน และมีบางแห่งใช้ทั้งสองระบบ

ในด้านความร่วมมือด้านบุคลากรกับประเทศจีน มีปัญหาโดยอาจารย์ที่สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน เป็นภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน หรือที่มักเรียกกันในชื่อย่อจีน คือ ฮั่นปั้น นั้น เกือบทั้งหมดพูดภาษาไทยไม่ได้เลย สร้างปัญหาในการเรียนการสอนมาก ยิ่งไปกว่านี้ บางคนยังขาดความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยสนใจเรียนภาษาจีนเพื่อทำธุรกิจมากขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจเรียนไปเป็นครูอาจารย์ หรือทำงานด้านวิชาการภาษาและวรรคดีนั้น มีน้อยลง นับเป็นสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับวงการศึกษา และภูมิปัญญาด้านจีนในไทย

ระดับอาชีวศึกษา

-ครู กระทรวงศึกษาไม่มีตำแหน่งข้าราชการประจำสำหรับครูผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน ปัจจุบันครูสอนภาษจีนในระดับอาชีวศึกษาเป็นแค่ลูกจ้างประจำ บั่นทอนกำลังใจของผู้สอน กอปรด้วยไม่มีหลักประกันในการความมั่นคงในอาชีพ สภาพดังกล่าว นำไปสู่การขาดแคลนครูเช่นกัน อันนำไปสู่คุณภาพการเรียนการสอน

- สำหรับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกลุ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งที่ผ่านมา สอศ.มีแต่ส่ง “ครูอาสาสมัคร” จากสำนักงานคณะกรรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) สภาพดังกล่าว ก็นำไปสู่ปัญหาคุณภาพในการเรียนการสอนเช่นกัน

- เนื่องจากสถาบันศึกษาระดับอาชีวศึกษาเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับการสอนทักษะอาชีพมากกว่า และมักจะมอบหมายหน้าที่ให้ครูสอนภาษจีนไปสอนวิชาอื่นๆด้วย ทำให้ครูไม่มีเวลาเพียงพอในการตระเตรียมการสอนเต็มที่ นอกจากนี้ การกำหนดชั่วโมงก็ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนการสอน

- ขาดงบประมาณในการสนับสนุนการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน การอบรม และการจ้างครูชาวจีนมาช่วยเสริมพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
- ขาดหลักสูตรที่ต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอง และการรองรับนักเรียนจากสายสามัญ

- ทั้งนี้ การเรียนการสอนภาษาจีนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาขาดช่วงไป 20 ปี เนื่องจากสถานการณ์ในอดีต ที่ส่งผลให้การเรียนการสอนถูกจำกัดควบคุม ขณะนี้ สอศ.เพิ่งได้ร่วมกับผู้ชำนาญภาษาจีน 31 ท่าน ผลิตตำราสำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยมีการทดลองใช้ในวิทยาลัยทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ที่มีการเปิดสอนภาษจีนในปี 2551
ชุดรายงานการวิจัยการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย 6 เล่ม ที่เพิ่งคลอดหมาดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แยกหัวเรื่อง ได้แก่ ระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยม, ระดับอุดมศึกษา, ระดับอาชีวศึกษา, การเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบ, ความร่วมมือไทย-จีนในการเรียนการสอนภาษาจีน, และบันทึกรายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเรียนการสอนภาษจีนในประเทศไทย”
เกี่ยวกับการวิจัย

สำหรับงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนรอนจากธนาคารกรุงเทพ เฟสแรกได้เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ เป็นการสำรวจสภาพการเรียนการสอนของไทยในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์กระแสโจษจันถึงความล้มเหลวในการเรียนการสอนด้านนี้ สำรวจถึงจุดอ่อนจุดแข็งของการเรียนการสอน และเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู-อาจารย์ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ได้รับรู้สภาพข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความร่วมมือในการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาจีนที่ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

รายงานการวิจัย มีการจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ในเดือนตุลาคม แยกตีพิมพ์ออกเป็น 6 เล่ม ได้แก่ ระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยม ระดับอุดมศึกษา การเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบ ความร่วมมือไทย-จีนในการเรียนการสอนภาษาจีน และบันทึกรายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเรียนการสอนภาษจีนในประเทศไทย”

รายงานวิจัยชุดนี้ นำเสนอข้อมูลทุกแง่มุม ทุกระบบ และทุกระดับ เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆที่ควรแก้ไข ทั้งปัญหาคุณภาพครู-อาจารย์ผู้สอนภาษาจีน หลักสูตร-แบบเรียน-สื่อการสอน ที่ขาดมาตรฐานและเรียนต่อยอดกันไม่ได้

การวิจัยการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศ เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ประมวลปัญหาทั้งหมด หลังจากที่การเรียนการสอนภาษาจีนในบ้านเรา ต้องเผชิญวิบากกรรมนานาดังที่ได้สาธยายมา ก่อความสูญเสียอย่างร้ายแรงมาตลอดในวงการนี้ จนมีเสียงปรารภอย่างกว้างขวางว่า “บ้านเรานั้น ขาดแคลนบุคลากรในด้านจีน ที่จะทำงานในภาคต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ” ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งดีที่สุด ณ เวลานี้ คือ มีเพียงความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆที่จะช่วยขจัด “หลุมดำ” ของการเรียนการสอนภาษาจีนในไทย และช่วยส่งเสริมการพัฒนาในด้านนี้ ให้ดีขึ้น

พร้อมกันนี้ ศูนย์จีนศึกษาได้เชิญชวนทั้งคนไทยและคนจีนผู้ทรงคุณวุฒิภาษาจีนที่มีประสบการณ์ในการเรียนการสอนภาษาจีนหรือที่เคยทำแบบเรียนภาษาจีน และสมัครใจช่วยการศึกษาส่วนรวม มาระดมสมอง ช่วยกันปรับปรุงหลักสูตร-แบบเรียน-สื่อการเรียนภาษาจีน ในการจัดทำวิจัยเฟสต่อไป คือการวิจัยเพื่อปฏิรูปแบบเรียน และหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนภาษาจีน เพื่อเป็นเป้าหลอมที่ดีแก่ผู้เรียนสืบไป.

*ผู้สนใจรายงานการวิจัย และสนใจเข้าร่วมการระดมสมองในการจัดทำวิจัยเพื่อปฏิรูปแบบเรียน และหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนภาษาจีน สามารถติดต่อ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 0-2218-7416-7, E-mail :csc_n303@hotmail.com.

พลิกอ่าน: วิบากกรรมการเรียนการสอนภาษาจีนในอดีต....

วิบากกรรมในอดีต ที่สร้าง “หลุมดำแห่งรอยต่อ” ในคุณภาพปัจจุบัน

การเรียนการสอนภาษาจีนอยู่คู่กับสังคมไทยมานับแต่รัชกาลที่ 1 จากเอกสารของกระทรวงศึกษาได้ระบุโรงเรียนจีนแห่งแรกในสยามประเทศก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2325 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ก็ต้องมาผจญวิบากกรรม ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆอย่างยาวนาน เริ่มจากการเมือง นับจากการปฏิวัติการปกครองในจีนของดร.ซุนยัดเซ็นช่วงใกล้สิ้นราชวงศ์กษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) สนามต่อสู้ดังกล่าวขยายวงสู่ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเรียนการสอนจีนก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วงชิงกลุ่มสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเลของกลุ่มการเมืองจีน

เมื่อปี พ.ศ.2450 ดร.ซุนยัตเซน เดินทางมายังสยามประเทศ เผยแพร่อุดมการณ์ล้มล้างระบบศักดินาจีน ก็มีการตั้งโรงเรียนจีน หัวอี้ ที่ตรอกกัปตันบุช ถนนเจริญกรุง ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468) โรงเรียนจีนยิ่งผุดขึ้นมากมาย เนื่องจากกลุ่มสมาคมภาษาถิ่นในสยามของชาวจีนรุ่นใหม่ที่ผูกพันกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน สมาคมภาษาถิ่นทั้ง 5 ได้แก่ จีนแคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ ต่างจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนของตนขึ้น ในกรุงเทพฯ และขยายตัวไปตามต่างจังหวัด

กระแสการเผยแพร่อุดมการณ์ของดร.ซุนยัดเซ็น ปรากฏชัดขึ้นในโรงเรียนจีน จนผู้นำเกิดความวิตกเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ กอปรด้วยพระราชประสงค์รัชกาลที่ 6 ที่จะเปลี่ยนคนจีนให้เป็นคนไทย จึงได้เกิดการควบคุมโรงเรียนจีน

เหตุการณ์ที่กระทบการเรียนการสอนภาษาจีนมากที่สุดเกิดช่วงหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น ระหว่างที่รัฐบาลไทยเข้ากวาดล้างการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นของขบวนการชาตินิยมจีน ในปี พ.ศ. 2481 โดยมองว่าโรงเรียนจีนเป็นแหล่งซ่องสุมทางการเมือง จึงมีการสั่งปิดโรงเรียนจีนทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ต่อมา แกนนำชาวจีนก็ได้ร้องขอให้เปิดโรงเรียนจีนอีกครั้ง รัฐบาลก็ตอบรับอย่างมีเงื่อนไข โดยอนุญาตให้เปิดโรงเรียนแต่มิให้ใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอนเกินกว่า 20% และให้จำกัดเพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้น

เข้าสู่ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้สั่งปิดโรงเรียนจีน ซึ่งสมัยก่อนโรงเรียนจีนสอนภาษาจีนทั้งหมด มีคำสั่งให้ลดเวลาการสอนภาษาจีน

ถึงยุคที่ผู้นำจีนคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง พิชิตชัยชนะ สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลไทยที่คล้อยตามแนวคิดเสรีของตะวันตก ก็หวั่นกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์จะสะเทือนความมั่นคงของประเทศ จึงควบคุมโรงเรียนจีนอย่างเข้มงวด สกัดกั้นมิให้เป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิทางการเมือง จนในยุครัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2500 ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด สั่งตรวจค้น จับกุม และสั่งปิดโรงเรียนจีนจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็ยังมีการควบคุมหลักสูตร เวลาเรียน การจัดตั้งโรงเรียน โดยในปี พ.ศ. 2510 ไม่อนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจีนแห่งใหม่อีกต่อไป

จากยุคสถาปนาสัมพันธ์ไทย-จีนของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. 2518 ถึงยุคที่จีนปรับเปลี่ยนนโยบายสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศของผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ความสนใจการเรียนภาษาจีนเริ่มฟื้นตัว แต่การเรียนการสอนภาษจีน ก็ยังซบเซา โดยในช่วงปี 2533 เอกสารกระทรวงศึกษาระบุ มีโรงเรียนจีน 130 แห่ง โดยเป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษา 120 แห่ง นอกนั้น เป็นโรงเรียนภาคกลางคืน

กระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้ปลดแอกข้อจำกัดการเรียนภาษาจีน โดยมีมติให้โรงเรียนเอกชนสอนภาษต่างประเทศอย่างเสรี และภาษาจีนได้รับการยกระดับเทียบเท่าภาษาต่างประเทศอื่นๆ จนมาถึงปี พ.ศ. 2540 ภาษาจีนถูกจัดเป็นหนึ่งในวิชาสายศิลป์ภาษาของโรงเรียนระดับมัธยมตอนปลายในช่วงยุคจีนมาแรงนี่เอง ต่อมา ในปี 2541 ก็มีการกำหนดให้ภาษาจีนเป็นวิชาสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ขณะที่รัฐบาลก็ตอบสนองด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งของประเทศด้วย

----------------------------------------
*รวบรวมเก็บความจากประวัติการเรียนการสอนภาษจีนในประเทศไทยโดยสังเขป, รายงานการสอนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยระดับประถม –มัธยมศึกษา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กันยายน 2551

ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา โดยอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เสนอในงานสัมมนา “การเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบ” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550.

กำลังโหลดความคิดเห็น