xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แฉ6ส.ส.พรรคร่วมแหกคอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ที่ประชุมรัฐสภาเลื่อนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำกรอบเจรจาระหว่างประเทศตาม ม.190 ขึ้นมาพิจารณาแทน ตามที่ส.ส.รัฐบาลเสนอ หวั่นซ้ำเติมสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ แฉ 6 ส.ส.พรรคร่วมแหกคอกลงมติ ด้านพันธมิตรฯ ยื่นถอดถอน"ชัย"แล้ว

ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) หลังจากเสร็จสิ้นการหารือของสมาชิกรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้เข้าสู่ระเบียบวาระ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) และของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 102 คน ที่เสนอแก้ไขใน 2 ประเด็น
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภา เลื่อนเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างประเทศตาม มาตรา 190 จำนวน 6 เรื่องขึ้นมาพิจารณาก่อน ประกอบด้วย 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและลาว 2. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและเติร์กเมนิสถาน 3. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและตุรกี 4.การเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมีของ องค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (OECD) 5. กรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระ และ 6. ร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี โดยมีผู้รับรอง 20 คน ครบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ขณะที่ นายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอญัตติให้การประชุมรัฐสภาเป็นไปตามระเบียบวาระเดิมที่ได้มีการบรรจุเอาไว้ ซึ่งมีผู้รับรองครบ 20 คนเช่นกัน
จากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายแสดงความเห็น โดยนาย สิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี ไม่เห็นด้วยการกับการเลื่อนระเบียบวาระเรื่องอื่นขึ้นมาก่อนเพราะไม่เห็นมีเรื่องไหนสำคัญเท่ากับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า อยากถามประธานรัฐสภาว่าการบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาเพราะอะไร เพราะสถานการณ์ตอนนี้รู้อยู่ว่าร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลังวันที่ 26 ก.พ. เรื่องนี้เป็นเกมต่อรองทางการเมืองของรัฐบาลหรือไม่ เพราะมีการบรรจุระเบียบวาระอย่างเร่งด่วน ทั้งๆ ที่ประธานรัฐสภามีเวลาสามารถบรรจุระเบียบวาระได้ถึงวันที่ 21 พ.ค.
ทั้งนี้คิดว่าอยากให้มีการอภิปราย และขอมติว่าจะรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ในวันนี้เลย จะได้รู้ว่าจะได้คะแนนจากฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลเท่าไร ยิ่งหากมีการรับหลักการในวาระที่ 1 นายกฯ จะได้ตัดสินใจยุบสภาได้เลย เพราะถ้ามีการลงคะแนนจะต้องได้เสี่ยงเกินกึ่งหนึ่ง ก็คงจะไม่ได้เสียงจากส.ว. หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ตกไป เรื่องก็จบ เนื่องจากวิกฤติการเมืองหลายครั้ง เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ
ด้านนายชัย ชี้แจงว่า ยืนยันได้ทำตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 136 และ ข้อบังคับการประชุมข้อ 45 เมื่อรับญัตติแล้วต้องบรรจุระเบียบวาระภายใน 7 วัน ส่วนรัฐสภาจะมีความเห็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของที่ประชุมรัฐสภาจะตัดสินใจ
ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญของ คปพร.ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาตั้งแต่ปี 50 ตนได้สั่งให้มีการตรวจสอบรายชื่อให้เสร็จสิ้นเดือน ต.ค. 51 จนได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระ ซึ่งทำตามข้อบังคับทุกอย่าง แต่เมื่อได้มีการบรรจุมาแล้ว ก็ค้างในวาระมาตลอด และมีการค้างไว้ถึง 5 ครั้ง

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา แสดงความเห็นว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ควรจะให้ที่ประชุมพิจารณาไปตามวาระ เพราะหากมีการเลื่อนกรอบบันทึกข้อตกลงการเจรจาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 ต้องยอมรับว่า ตนและส.ว.ส่วนใหญ่ ยังไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะพึ่งได้รับทราบจากสภาว่า จะมีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณา ซึ่งที่ประชุมไม่ควรพิจารณาแค่ทำตามพิธีกรรมเพื่อให้ผ่านพ้นไป และความร้อนของการเมืองไม่ได้ลดลงได้ เพราะการเลื่อนวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเรื่อย ๆ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติให้มีการเลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน กล่าวว่า ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน แต่ถ้าเทียบกับเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเสนอขึ้นมา ก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ไทยจะต้องชำระ ซึ่งต้องมีการเจรจาในช่วงเดือนมี.ค. เช่นเดียวกับเรื่อง ร่าง ข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี ซึ่งในประเทศอาเซียนลงนามไปหมดแล้ว จึงมีเหตุผลจำเป็นต้องเอาเรื่องนี้มาพิจารณาให้เสร็จโดยเร่งด่วน
นายเฉลิม ชาติการุณ ส.ส.สกลนคร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับ รธน. 50 เพราะ มีความบกพร่องในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นจุดเกิดของสีแดง ตอนแรกตนก็ยกมือสนับสนุนญัตติของนายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคภูมิใจไทย แต่จากการพูดคุยกับวิปรัฐบาล เห็นว่า การขอกรอบการเจราจาตาม มาตรา 190 มีความสำคัญเร่งด่วนมากกว่า จึงเสนอให้ถอนเรื่องญัตติของนายจุมพฎไปก่อน แต่ภายหลังพิจารณาเรื่องกรอบการเจรจาแล้ว ขอให้พิจารณาเรื่องแก้ รธน. อย่างเร่งด่วน
นายภารดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สนับสนุนการเลื่อนการพิจารณารัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพราะเข้าใจว่ากรอบการเจรจาเรื่อง C3GIF และร่าง ข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี มีความเป็นจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องให้ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาในเดือนก.พ. สอดคล้องกับวุฒิสภา ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง

**"กรณ์"แจงความจำเป็นต้องเลื่อน
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า เรื่อง CGIF และร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง โดยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ มีความเร่งด่วน อย่างเรื่องCGIF ได้เสนอให้รัฐสภา พิจารณาตั้งแต่ พ.ย.52 แล้ว แต่ตอนนั้นองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้เรื่องตกไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้ที่ประชุมครม. เสนอเข้ารัฐสภาอีกครั้ง

นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งกองทุนเชียงใหม่ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ลงนามแล้วยกเว้นประเทศไทย และจะเริ่มมีผลบังคับใช้มี.ค. 53 เรื่องนี้สำคัญเพราะประเทศไทยมีความหวังจะเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพสำนักงานกองทุนริเริ่มเชียงใหม่ด้วย


**มติให้เลื่อนแก้รธน.
ภายหลังจากอภิปรายนานกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากจำนวน 278 ต่อ 212 เสียง ให้เลื่อนระเบียบวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คปพร. และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 102 คนออกไปก่อน โดยให้ที่ประชุมรัฐสภานำเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ที่ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 มาพิจารณาก่อนจำนวน 6 เรื่อง
**6 ส.ส.พรรคร่วมแหกคอก
สำหรับการลงคะแนนของที่ประชุมครั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้วิปรัฐบาลจะมีมติให้เลื่อนระเบียบวาระกรอบการเจรจาฯ ขึ้นมา แต่ปรากฏว่ามี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ลงมติสวน จำนวน 6 คน ได้แก่ น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา นายชาญชัย ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา นายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย (ภท.) นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ ส.ส.สัดส่วน พรรคกิจสังคม นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน ขณะที่ไม่ใช่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล แต่กลับลงมติให้เลื่อนได้แก่ ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร ส.ส.สระบุรี พรรคเพื่อไทย นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคประชาราช นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาราช
ด้าน ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระขึ้นมา มีถึง 63 คน ซึ่งแม้จะส.ว.สรรหาร่วมด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นส.ว.เลือกตั้ง

**รัฐสภาเห็นชอบ 3 กรอบเจรจา
สำหรับการพิจารณากรอบการเจรจาและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190 นั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 3 ฉบับ คือ 1. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งเติร์กเมนิสถาน และ 3.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐตุรกี โดยหลังจากสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นซึ่งเป็นไปด้วยความราบเรียบพอสมควร
ส่วนฉบับที่ 4. คือ การเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานที่ประชุม ได้สั่งเลื่อนการลงมติไปในการประชุมครั้งหน้า
**"บุญจง"ยัน ภท.เดินหน้าแก้รธน.
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า แม้จะมีการเลื่อนญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป แต่พรรคภูมิใจไทย ยังยืนเจตนาเดิม คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีการแก้ไข
ส่วนร่างแก้ไขของ อปพร. เราก็ไม่ขัดข้องที่จะให้การสนับสนุน เพราะว่าร่าง อปพร. มี 2 ประเด็นที่เราเสนอแก้ คือ มาตรา 190 กับเขตเดียวเบอร์เดียว และร่างของ 102 ส.ส.เรา มีเงื่อนไขคือ 1.ไม่เห็นด้วยหรือสนับสนุนให้มีการแก้ไขประเด็นนิรโทษกรรม นักการเมืองที่ถูกยุบพรรคการเมือง 2. หากมีการตั้งกรรมาธิการ เราเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการทำงาน 180 วัน ในการพิจารณา 3. หากเข้าสู่การพิจารณาวาระ3 ขอให้มีการทำประชามติ ถามประชาชน ว่าจะเห็นด้วยกับกรรมาธิการหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยเราก็เห็นด้วยตามนั้น ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย เราก็ไม่สนับสนุน นี่คือหลักของพรรคภูมิใจไทย


**"เทือก"ปัดใช้งบแลกเลื่อนแก้รธน.
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคร่วมรัฐบาลยอมเลื่อนการพิจารณาญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป เพราะพรรคร่วมรัฐบาลสามารถเจรจาตกลงเรื่องงบประมาณได้แล้วว่า ไม่เกี่ยวกัน การจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกัน และไม่มีการเอาเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนกับเรื่องการโหวตลงคะแนนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท

**พันธมิตรฯยื่นถอดถอน"ชัย" .
เมื่อเวลา 12.30 น. วันเดียวกันนี้ แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดย นายพิภพ ธงไชย เข้ายื่นหนังสือต่อ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อยื่นคำร้องแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนในการถอดถอน นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่ส่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ คปพร. เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม
นายพิภพ กล่าวว่า ร่างแก้ไขของ คปพร. ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 291 (1) เพราะหากประชาชนจะใช้สิทธิรวบรวมรายชื่อ 5 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่กฎหมายฉบับดังกล่าว รัฐสภายังไม่ได้ตราออกมารองรับ ทำให้ยังไม่มีหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
ดังนั้น ด้วยเหตุดังกล่าว นายชัย จึงไม่มีสิทธิบรรจุเข้าวาระการประชุมรัฐสภา พฤติการณ์ดังกล่าว ต้องได้รับการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง พวกตนจึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 และ 271 เพื่อดำเนินการต่อไป
ด้านนายประสพสุข กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการตามกระบวนการ

**"ชัย"ปากสั่นไม่กลัวถอดถอน
ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ไม่รูสึกหนักใจที่ถูกยื่นถอดถอน


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายชัย ทำตามอำนาจหน้าที่ ของประธานรัฐสภาแล้ว ในส่วนของการบรรจุวาระ แต่นายชัย ควรพิจารณาลาออก เพราะทำหน้าที่ในการเป็นประธานในที่ประชุมผิดระเบียบข้อบังคับมาหลายครั้งมาก โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในวันนี้ ( 11 ก.พ. ) ที่มีการเลื่อนวาระมาพิจารณาเรื่องด่วน มาตรา 190 แทน การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าผิดระเบียบข้อบังคับที่กำหนดให้แจ้งการเลื่อนวาระ ต้องครบ 24 ช.ม.
นอกจากนี้นายชัย ควรแสดงมารยาททางการเมืองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากประธานรัฐสภา แล้วให้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่แทนจะดีกว่า เพราะนายบัญญัติ มีความชอบธรรมในการขึ้นทำหน้าที่ เนื่องจากเป็นส.ส.ในฝ่ายเสียงข้างมาก
-----------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น