ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบเลื่อนพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ฉบับ คปพร.และของ 5 พรรคร่วมออกไปก่อน ด้วยคะแนนเสียง 278 ต่อ 212 เสียง พร้อมดึงกรอบสัญญาฯขึ้นมาพิจารณาปาดหน้า หลังปล่อยให้สมาชิกอภิปรายนานกว่า 4 ชั่วโมง
วันนี้ (11 ก.พ.) การประชุมรัฐสภาหลังจากเสร็จสิ้นการหารือของสมาชิกรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้เข้าสู่ระเบียบวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) และ ของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล102 คน
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาเลื่อนเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 จำนวน 6 เรื่องขึ้นมาพิจารณาก่อน ประกอบด้วย 1. 1.บันทึก ความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและลาว 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและเติร์กเมนิสถาน 3. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทและตุรกี
4.การเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมีของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (OECD) 5.กรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระ และ 6. ร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี โดยมีผู้รับรอง 20 ครบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ขณะที่ นายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอญัตติให้การประชุมรัฐสภาเป็นไปตามระเบียบวาระเดิมที่ได้มีการบรรจุเอาไว้ ซึ่งมีผู้รับรองครบ 20 คนเช่นกัน
จากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายแสดงความเห็น โดยนาย สิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยการกับการเลื่อนระเบียบวาระเรื่องอื่นขึ้นมาก่อนเพราะไม่เห็นมีเรื่องไหนสำคัญเท่ากับการพิจารณารัฐธรรมนูญกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า อยากถามประธานรัฐสภาว่าการบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาเพราะอะไร เพราะสถานการณ์ตอนนี้รู้อยู่ว่าร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆหลังวันที่ 26 ก.พ. เรื่องนี้เป็นเกมต่อรองทางการเมืองของรัฐบาลหรือไม่เพราะมีการบรรจุระเบียบวาระอย่างเร่งด่วนทั้งๆที่ประธานรัฐสภามีเวลาสามารถบรรจุระเบียบวาระได้ถึงวันที่ 21 พ.ค.ทั้งนี้คิดว่าอยากให้มีการอภิปรายและขอมติว่าจะรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันนี้เลยจะได้รู้ว่าจะได้คะแนนจากฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเท่าไหร่ ยิ่งหากมีการรับหลักการในวาระที่ 1 นายกฯจะได้ตัดสินใจยุบสภาได้เลย เพราะถ้ามีการลงคะแนนจะต้องได้เสี่ยงเกินกึ่งหนึ่ง ก็คงจะไม่ได้เสียงจากส.ว. หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผานก็ตกไปเรื่องก็จบ เนื่องจากวิกฤติการเมืองหลายครั้งเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ
นายชัย ชี้แจง ว่ายืนยันได้ทำตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 136 และ ข้อบังคับการประชุมข้อ 45 ว่าเมื่อรับญัตติแล้วต้องบรรจุระเบียบวาระภายใน 7 วัน ส่วนรัฐสภาจะมีความเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของที่ประชุมรัฐสภาจะตัดสินใจ ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญของคปพร.ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาตั้งแต่ปี2550 ตนได้สั่งให้มีการตรวจสอบรายชื่อให้เสร็จสิ้นเดือนต.ค.2551ก็จนได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระ ซึ่งทำตามข้อลังคับทุกอย่าง รับมาก็เหมือนกับกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญของคปพร.เมื่อได้มีการบรรจุมาแล้วก็ค้างในวาระมาตลอด และมีการค้างไว้ถึง5ครั้ง
“ผมไม่ได้ทำผิดกฏหมาย หรือระเบียบใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทำตามข้อบังคับ เพราะถ้าไม่บรรจุก็ถือว่าทำผิดข้อบังคับ45 ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจสั่งว่าจะต้องเอากฎหมายฉบับไหนขึ้นมาพิจารณาก่อน”
จากนั้นได้เปิดอโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นว่าควรจะมีการสนับสนุนให้มีการเลื่อนระเบียบวาระตามที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเสนอหรือไม่ก่อนที่จะมีการลงมติต่อไป
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. แต่งตั้ง แสดงความเห็นว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ควรจะให้ที่ประชุมพิจารณาไปตามวาระ เพราะ หากมีการเลื่อนกรอบบันทึกข้อตกลงการเจรจาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 ต้องยอมรับว่า ตนและส.ว.อีกส่วนใหญ่ยังไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะพึ่งได้รับทราบจากสภาว่าจะมีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณา ซึ่งที่ประชุมไม่ควรพิจารณาแค่ทำตามพิธีกรรมเพื่อให้ผ่านพ้นไป และความร้อนของการเมืองไม่ได้ลดลงได้เพราะการเลื่อนวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเรื่อยๆ
นพ.วรงค์ ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติให้มีการเลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน กล่าวว่า ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน แต่ถ้าเทียบกับเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเสนอขึ้นมาก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ไทยจะต้องชำระ ซึ่งต้องมีการเจรจาในช่วงเดือนมี.ค.เช่นเดียวกับเรื่อง ร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ไปสู่การเป็นพหุภาคีซึ่งในประเทศอาเซียนลงนามไปหมดแล้ว จึงมีเหตุผลจำเป็น ต้องเอาเรื่องนี้มาพิจารณาให้เสร็จเร่งด่วนในวันนี้
นายเฉลิม ชาติการุณ ส.ส.สกลนคร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับรธน. 50 เพราะ มีความบกพร่องในการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นจุดเกิดของสีแดง ตอนแรกตนก็ยกมือสนับสนุนญัตติของจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคภูมิใจไทย แต่จากการพูดคุยวิปรัฐบาล เห็นว่าการขอกรอบการเจราจาตามมาตรา 190 มีความสำคัญเร่งด่วนมากกว่า จึงเสนอให้ถอนเรื่องญัตติของนายจุมพฎไปก่อน แต่ ภายหลังพิจารณาเรื่องกรอบการเจรจาแล้ว ขอให้พิจารณาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน
นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่ขัดข้องที่จะมีการเลื่อนเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างประเทศขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่อยากให้สมาชิกรัฐสภาคำนึงว่า เรื่องใดจะมีประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและต่อประชาชน ไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้จนถึงทุกวันนี้ตนไม่ได้รับหนังสือแจ้งการประชุมรัฐสภา และกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ก็มีการเสนอมาโดยไม่ได้ตั้งตัว ส่งเอกสารมาให้สมาชิกรัฐสภากระชั้นชิดมากเกินไป ไม่ได้มีการศึกษาก่อน
นายภารดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สนับสนุนการเลื่อนการพิจารณารัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพราะเข้าใจว่ากรอบการเจรจาเรื่อง CGIF และร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ไปสู่การเป็นพหุภาคี มีความเป็นจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องให้ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ .สอดคล้องกับวุฒิสภา ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาถอดถอนบุคคล ออกจากตำแหน่งทางการเมือง
“วันนี้ขอสนับสนุน นพ.วรงค์ แต่ตอนนี้ได้สะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 แล้วว่ามีปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร” นายภารดรกล่าว
ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า เรื่อง CGIF และร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง โดยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศมีความเร่งด่วน อย่างเรื่อง CGIF ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตั้งแต่ พ.ย.2552 แล้ว แต่ตอนนั้นองค์ประชุมไม่ครบทำให้เรื่องตกไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเสนอเข้ารัฐสภาอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องขออภัยที่ส่งเอกสารให้อย่างเร่งรีบ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการเสนอมาตั้งแต่ พ.ย.2552 จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา
นายกรณ์กล่าวว่า ส่วนร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี มีความสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งกองทุนเชียงใหม่ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามแล้ว ยกเว้นประเทศไทยและจะเริ่มมีผลบังคับใช้ มี.ค.2553 เรื่องนี้สำคัญเพราะประเทศไทย มีความหวังจะเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพสำนักงานกองทุนริเริ่มเชียงใหม่ด้วย
“ในสายชาวตาโลกเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเอเชียและอาเซียนในการแสดงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจในอาเซียนที่จะดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาตะวันตก และประเทศที่จะได้รับเกียรติตั้งสำนักงานกองทุนก็มีสำคัญมากเข่นกัน ถ้าลงนามไม่ทัน มี.ค.2553เรื่องนี้จะตกไปและเป็นปัญหา” นายกรณ์กล่าว
ภายหลังจากอภิปรายนานกว่า 4 ขั่วโมง ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากจำนวน 278 ต่อ 212 เสียง ให้เลื่อนระเบียบวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คปพร.และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล102 คนออกไปก่อน โดยให้ที่ประชุมรัฐสภานำเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างประเทศที่ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 มาพิจารณาก่อนจำนวน 6 เรื่อง