บรรยากาศการประชุม 2 สภาเริ่มสนุกแล้ว “หมอวรงค์” ปชป.เสนอดันญัตติ 6 กรอบเจรจาระหว่างประเทศแทรกแทน “จุมพฏ” สวนขอดันญัตติเดิม “ส.ว.สมชาย” ถาม “ชัย” เร่งบรรจุแก้ รธน.ทำไม ต่อรองพรรคร่วมหรือเปล่า เจ้าตัวยันทำตามข้อบังคับทุกอย่าง ย้ำดันร่าง คปพร.ไม่ผิดกฎหมาย อ้างไม่ทำจะผิดข้อบังคับ ลั่นไม่มีอำนาจสั่งการเอาประเด็นไหนขึ้นก่อน “ส.ว.คำนูณ” แนะอยากแก้ก็พิจารณากันไปให้จบ
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมรัฐสภาหลังจากเสร็จสิ้นการหารือของสมาชิกรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้เข้าสู่ระเบียบวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) และของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 102 คน
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาเลื่อนเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190 จำนวน 6 เรื่องขึ้นมาพิจารณาก่อน ประกอบด้วย 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและลาว 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและเติร์กเมนิสถาน 3.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและตุรกี 4.การเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมีของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (OECD) 5.กรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระ และ 6.ร่างข้อตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี โดยมีผู้รับรอง 20 ครบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ขณะที่ นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอญัตติให้การประชุมรัฐสภาเป็นไปตามระเบียบวาระเดิมที่ได้มีการบรรจุเอาไว้ ซึ่งมีผู้รับรองครบ 20 คนเช่นกัน
จากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายแสดงความเห็น โดยนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยการกับการเลื่อนระเบียบวาระเรื่องอื่นขึ้นมาก่อนเพราะไม่เห็นมีเรื่องไหนสำคัญเท่ากับการพิจารณารัฐธรรมนูญกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า อยากถามประธานรัฐสภาว่าการบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาเพราะอะไร เพราะสถานการณ์ตอนนี้รู้อยู่ว่าร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังวันที่ 26 ก.พ. เรื่องนี้เป็นเกมต่อรองทางการเมืองของรัฐบาลหรือไม่เพราะมีการบรรจุระเบียบวาระอย่างเร่งด่วน ทั้งๆ ที่ประธานรัฐสภามีเวลาสามารถบรรจุระเบียบวาระได้ถึง วันที่ 21 พ.ค.ทั้งนี้ คิดว่าอยากให้มีการอภิปรายและขอมติว่าจะรับหลักการร่างรัฐ ธรรมนูญหรือไม่ในวันนี้เลยจะได้รู้ว่าจะได้คะแนนจากฝ่ายค้านและพรรคร่วม รัฐบาลเท่าไหร่ ยิ่งหากมีการรับหลักการในวาระที่ 1 นายกฯจะได้ตัดสินใจยุบสภาได้เลย เพราะถ้ามีการลงคะแนนจะต้องได้เสี่ยงเกินกึ่งหนึ่ง ก็คงจะไม่ได้เสียงจาก ส.ว. หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ตกไปเรื่องก็จบ เนื่องจากวิกฤติการเมืองหลายครั้งเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ
นายชัยชี้แจงว่า ยืนยันได้ทำตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 136 และ ข้อบังคับการประชุมข้อ 45 ว่าเมื่อรับญัตติแล้วต้องบรรจุระเบียบวาระภายใน 7 วัน ส่วนรัฐสภาจะมีความเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของที่ประชุมรัฐสภาจะตัดสินใจ ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญของ คปพร.ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาตั้งแต่ปี 2550 ตนได้สั่งให้มีการตรวจสอบรายชื่อให้เสร็จสิ้นเดือน ต.ค.2551 ก็จนได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระ ซึ่งทำตามข้อบังคับทุกอย่าง รับมาก็เหมือนกับกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญของคปพร.เมื่อได้มีการบรรจุมาแล้วก็ค้างในวาระมาตลอด และมีการค้างไว้ถึง5ครั้ง
“ผมไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือระเบียบใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทำตามข้อบังคับ เพราะถ้าไม่บรรจุก็ถือว่าทำผิดข้อบังคับ 45 ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจสั่งว่าจะต้องเอากฎหมายฉบับไหนขึ้นมาพิจารณาก่อน”
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นว่าควรจะมีการสนับสนุนให้ มีการเลื่อนระเบียบวาระตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเสนอหรือไม่ก่อน ที่จะมีการลงมติต่อไป
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา แสดงความเห็นว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ควรจะให้ที่ประชุมพิจารณาไปตามวาระ เพราะหากมีการเลื่อนกรอบบันทึกข้อตกลงการเจรจาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 ต้องยอมรับว่า ตนและส.ว.อีกส่วนใหญ่ยังไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะพึ่งได้รับทราบจากสภาว่าจะมีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณา ซึ่งที่ประชุมไม่ควรพิจารณาแค่ทำตามพิธีกรรมเพื่อให้ผ่านพ้นไป และความร้อนของการเมืองไม่ได้ลดลงได้เพราะการเลื่อนวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเรื่อยๆ