xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ลั่นควบรวม”IRPC-PTTAR"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.เร่งควบรวมกิจการในเครือฯเผยศึกษารายละเอียด 2บริษัท”IRPC-PTTAR ก่อน เหตุPTTCH ติดปัญหามาบตาพุด ยันอย่างช้าต้นไตรมาส 2นี้เห็นความชัดเจน และดำเนินการควบรวมเสร็จภายในไตรมาส3-4 ปีนี้

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการควบรวมกิจการบริษัทในเครือฯว่า ขณะนี้ปตท.ได้มีการศึกษาแนวทางและรายละเอียดต่างๆในการควบรวมกิจการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองให้ระงับกิจการเป็นการชั่วคราว ต่างจากบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTCH)ที่ติดอยู่ใน 64 โครงการมาบตาพุดที่ต้องระงับกิจการชั่วคราว ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วการควบรวมกิจการจะเป็น 2 หรือ 3 บริษัทนั้นจะเห็นความชัดเจนในไตรมาสแรกนี้ หรืออย่างช้าต้นไตรมาส 2/2553 และดำเนินการควบรวมกิจการแล้วเสร็จไตรมาส 3-4 ปีนี้

ส่วนการควบรวมกิจการกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นระยะต่อไป เนื่องจากโรงกลั่นไทยออยล์อยู่ที่จังหวัดชลบุรี ขณะที่บริษัทอื่นๆตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งรูปแบบการควบรวมกิจการมีหลายแนวทาง เช่น การจัดตั้งบริษัท โฮลดิ้ง แล้ว 2 บริษัทไม่ยุบ แต่อยู่ภายใต้โฮลดิ้ง หรืออาจใช้แนวทางยุบแล้วรวมกัน ซึ่งต้องศึกษาถึงความเหมาะสมโดยหากเป็นแนวทางโฮลดิ้งฯ แล้ว ปัญหาของแต่ละบริษัท เช่น กรณีการฟ้องร้องคดีต่าง ๆ ของ ไออาร์พีซี จะไม่มีผลกระทบต่อบริษัทใหม่ เพราะการฟ้องร้องคดียังอยู่ภายใต้บริษัท ไออาร์พีซีเหมือนเดิม
นายประเสริฐ กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณจะตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)เฉพาะภาคครัวเรือนและการขนส่งต่อ โดยไม่อุ้มภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีแล้วนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นนโยบายของภาครัฐ ซึ่งการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในบางธุรกิจแม้ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมก็ถือว่านิมิตหมายดี ดีกว่าไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาเลย

ซึ่งการปรับขึ้นราคาแอลพีจีนี้จะช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องแบกรับส่วนต่างราคานำเข้ากับราคาขายในประเทศ โดยที่ปตท.ไม่ได้รับประโยชน์จากราคาขายปลีกแอลพีจีที่ปรับขึ้น เพราะปัจจุบันโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯขายแอลพีจีในราคาที่กำหนดหน้าโรงงานที่ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นและรวมต้นทุนค่าขนส่งทำให้ราคาประมาณ 800
เหรียญสหรัฐ/ตัน กองทุนน้ำมันต้องชดเชยส่วนต่างถึง 400-500 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ก่อนหน้านี้การใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือนอยู่ที่ 80% ภาคอุตสาหกรรม 20% และการขนส่ง 20 % แต่หลังจากราคาพลังงานสูงขึ้น รัฐมีการตรึงราคาแอลพีจี ทำให้สัดส่วนการใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือนอยู่ที่ 60 %ภาคอุตสาหกรรม 20 %และภาคขนส่ง 20% หากมีการตรึงราคาแอลพีจีต่อไป ก็จะทำให้ไทยต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงแยกก๊าซฯใหม่เกิดขึ้นได้ยาก และโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ก็ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เพราะถูกศาลสั่งคุ้มครองให้ระงับไว้ชั่วคราว

จากปัญหาคดีมาบตาพุดที่กลุ่มปตท.มีโครงการที่ถูกคุ้มครองระงับกิจการชั่วคราว 18 โครงการนั้น ทางปตท.อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาลฯ โดยจะเสนอเรื่องให้หน่วยที่เกี่ยวข้องออกใบอนุญาตในกรณีที่โรงงานไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคำสั่งศาลปกครองฯ ระบุว่าบางโครงการไม่ต้องขอคำวินิจฉัยจากศาลฯแต่ให้ไปหารือกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ซึ่งวัตถุประสงค์ในการสร้างโรงแยกก๊าซฯนี้เพื่อป้อนวัตถุดิบให้โรงงานปิโตรเคมี และแอลพีจีที่เหลือส่งออก แต่เมื่อความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศเพิ่มมากขึ้นจนต้องนำเข้า ดังนั้นหากโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ผลิตได้ก็จะช่วยลดการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลปกครองสูงสุด เพื่ออุทธรณ์คำสั่งระงับกิจการของศาลปกครองกลาง เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น