xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหาตามหลักนิติรัฐ โดยไม่ต้องปฏิวัติ-รัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: ดร.นาคร ปทุมเทวาภิบาล

ในระบบกฎหมายไทย (ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหลักกฎหมายฝรั่งเศส) นั้น มีหลักการอย่างที่คุณปราโมทย์ได้กรุณาเทียบเคียงหลักคอมมอนลอว์ของอเมริกันไว้อย่างครบถ้วน เรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า “Le principe de la protection des droits du citoyen par l’Etat” (หลักการพิทักษ์สิทธิของพลเมืองโดยรัฐ) โดยมีหลักการควบคุมในสองระยะเวลาคือ

1. การพิทักษ์สิทธิพลเมืองก่อนเกิดภยันตราย (Controle a posteriori)

2. การพิทักษ์สิทธิพลเมืองเมื่อเกิดภยันตรายแล้ว Controle a priori)

ซึ่งทั้งสองระยะเวลาจะต้องมี “ผู้เริ่มต้นเสนอเรื่อง” เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยของฝ่ายปกครองและศาล อาจแบ่งแยกอธิบายเป็นสองด้านกว้างๆ คือ

1. การควบคุมโดยผู้พิพากษาปกติ (Controle par les juges ordinaireห) ได้แก่การควบคุมโดยผู้พิพากษาในทางอาญา (Les juges penals) และผู้พิพากษาในทางแพ่ง (Les juges civils)

2. การควบคุมโดยผู้พิพากษาเฉพาะทาง (Controle par les juges specialisés) ได้แก่การควบคุมโดยผู้พิพากษาทางรัฐธรรมนูญ (Les juges constitutionnels) และผู้พิพากษาทางปกครอง (Les juges administratifs)

เนื่องจากผมเห็นว่า “ประเทศไทยมีผู้รู้ทางแพ่งและอาญาเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว” ผมจึงจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดตัวบทมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีก ไม่ว่าจะเป็นกรณี “การควบคุมก่อน” หรือ “ควบคุมหลัง” ก็ตาม แต่จะกล่าวถึงกระบวนการควบคุมโดย “ผู้พิพากษาเฉพาะทาง” ซึ่งขอแบ่งออกเป็นสองด้านคือ

1. สิทธิการดำเนินคดีโดยพลเมือง (Le droit de la saisine du citoyen) เช่น กรณีพลเมืองไทยผู้หนึ่งผู้ใดพบเห็นประจักษ์ว่า “การประกาศจะชุมนุมประท้วงใดเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิของพลเมืองอันรัฐธรรมนูญได้รับรอง-คุ้มครองไว้ จนเกรงว่าจะเกิดภยันตรายต่อสาธารณะโดยส่วนรวม หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ พลเมืองผู้นั้นมีสิทธิที่จะเสนอเรื่องต่อฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ให้มีคำสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมประท้วงดังกล่าว ซึ่งไม่ว่าฝ่ายบริหารจะมีคำสั่งเป็นอย่างใด เรื่องนี้ก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้ (La justice administrative) หรือกรณีปัญหาว่า “การใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงอันมีแต่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองนั้นเป็นกระทำภายในกรอบแห่งจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่” ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญได้ (La justice constitutionnelle)

2. การใช้อำนาจแทรกแซงโดยรัฐ (L’intervention de l’Etat) กรณีนี้เนื่องจากการชุมนุมประท้วงดังกล่าวจะกระทำพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้นนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จักต้องมีคำสั่งห้ามการชุมนุมดังกล่าวทันที นอกจากนี้แล้วฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติยังสามารถเสนอเรื่องอันเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญูต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยให้งดใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลำดับรองบางมาตรา หรือกำหนดหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปขึ้นใช้บังคับเป็นบรรทัดฐาน เพื่อรักษาหลักการความต่อเนื่องของรัฐ หลักนิติรัฐ การบริหารราชการแผ่นดิน และความสงบเรียบร้อยในชาติบ้านเมือง ซึ่งภาษากฎหมายมหาชนฝรั่งเศสเรียกว่า Bloc de constitutionnalité

----นี่คือระบบกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักนิติรัฐ โดยไม่ต้องพึ่งพาการปฏิวัติ-รัฐประหาร ซึ่งก็มีอยู่แล้วโดยครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักกฎหมายไทย เพียงแต่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือฝ่ายพลเมืองจะต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมต่อการใช้สิทธิและอำนาจให้เป็นไปตามกระบวนการทางนิติรัฐ อย่ายอมให้ผู้ใดละเมิดกฎหมายเป็นอันขาด “ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ”---- ไม่ว่าในทางหวังดีหรือหวังร้ายก็ตาม

สำหรับฝ่ายพลเมืองนั้นผมขอฝากคุณวีระ สมความคิด ช่วยกรุณาเป็นผู้นำในการดำเนินการด้วยครับ

ฝากบอกเพื่อนนักกฎหมายมหาชนทั้งหลายด้วยว่า “หยุดทำบาปทางวิชาการเสียเถิด”
กำลังโหลดความคิดเห็น