xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิฯแนะรัฐใช้ ขรก.ทำความเข้าใจถวายฎีกา ชี้อย่าให้ ปชช.เผชิญหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน
กรรมการสิทธิฯ จี้รัฐใช้วิธีให้ข้าราชการคัดค้านล่าชื่อถวายฎีกา ด้วยการทำความเข้าใจประชาชน อย่าให้ประชาชนมาเผชิญหน้าปะทะกัน ซัดจะกลายเป็นสงครามมวลชนยึดตัวเลขเป็นหลัก ชี้ ฎีกาเพื่อคนคนเดียวไม่ถือเป็นสิทธิทางการเมือง

วันนี้ (31 ก.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบดูแลเรื่องสิทธิพลเมืองและการเมือง กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงล่ารายชื่อถวายฎีกาอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ก่อนที่จะถวายฎีกาทุกคนต้องรู้ว่า สิทธิทางการเมือง หมายถึงสิทธิในแง่ของผลประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่ใช่การกระทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ นายปรีดี พนมยงค์ ก็เคยระบุว่า สิทธิทางการเมืองต้องเป็นประโยชน์ และมีความถูกต้องกับส่วนร่วม ดังนั้น ที่เรียกร้องด้วยการชุมนุม หรือการถวายฎีกากันอยู่ขณะนี้ไม่ถือเป็นสิทธิทางการเมือง และหากมีการกล่าวอ้างถึงเรื่องนี้เกินขอบเขตกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็ถือว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นอนาธิปไตย คือ การไม่เข้าใจเรื่องสิทธิที่พึงมี

“การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้จำเป็นที่เราต้องดึงคนเหล่านั้นมาทำความเข้าใจถึงขอบเขต ความหมาย และการใช้สิทธิ ส่วนการถวายฎีกาก็คงต้องแยกให้ออก ว่า ยื่นเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือตัวบุคคล เพราะถ้ามีนักการเมืองคนหนึ่งฉลาดพอที่จะนำเรื่องสิทธิทางการเมืองไปใช้เพื่อประโยชน์ตนเองและกลุ่มอำนาจ ก็จะทำให้เกิดสงครามมวลชน ตรงนั้นจะไม่ถือเป็นเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตย หรือการเมืองภาคพลเมือง แต่เป็นหนทางนำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรง” น.พ.นิรันดร์ กล่าว

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า การถวายฎีกาจะนำมาซึ่งความรุนแรงหรือไม่ อยู่ที่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารและมีอำนาจในการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ภาคสังคมไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือองค์กรต่างๆ หากเห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่ไหว ก็ต้องออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อปกป้องสังคมไทยไม่ให้ประเทศกลับไปสู่ภาวะวิกฤตอย่างในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า หากทุกคนร่วมกันไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียวจะสามารถแก้ปัญหาได้

“การเข้าชื่อเพื่อเสนอถวายฎีกา โดยหลักต้องทำตามความถูกต้องและกฎระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งคำนึงถึงวัฒนธรรมสังคมไทยว่าทำไปเพื่ออะไร เพราะพระมหากษัตริย์นอกจากจะเป็นประมุขของประเทศแล้ว ยังถือเป็นประมุขทางสังคมและทางจิตวิญญาณ แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นถือเป็นประเด็นทางการเมือง และการต่อสู้เพื่อแย่งอำนาจ จึงต้องดูว่า ควรหรือไม่ควรที่จะดึงจุดศูนย์กลางของสังคมไทยและสถาบันมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองที่แตกแยก จริงอยู่ที่เขามีสิทธิจะยื่น แต่คนในสังคมต้องพิจารณาว่าควรทำตามหรือไม่ ซึ่งขณะนี้สังคมไทยควรก้าวข้ามคนๆ เดียวไปได้แล้ว” กรรมการสิทธิฯ คนนี้ ระบุ

กรรมการสิทธิฯ ยังด้วยว่า ไม่ควรนำเรื่องปริมาณคนมาแสดงความชอบธรรม เพราะการล่ารายชื่อให้ได้จำนวนล้านคนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเอามาอ้างเหมือนกับนำคนมาตีกัน ทั้งที่ข้อเท็จจริงทุกอย่างควรดูที่เนื้อหา แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า นักการเมืองเอาจำนวนคนมาบีบกัน ซึ่งไม่เรียกว่า การเมืองภาคประชาชน แต่เรียกว่า เป็นการทำสงครามมวลชน การที่รัฐบาลให้ข้าราชการคัดค้านเรื่องนี้ก็ควรทำในลักษณะให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่ให้มามีส่วนร่วมในการเผชิญหน้าหรือปะทะกัน ซึ่งถ้ารัฐบาลใช้กลไกของรัฐ ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจในประเด็นปัญหานี้ ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยรัฐต้องมองปัญหาอย่างเป็นระบบ

นพ.นิรันดร์ ยังเชื่อว่า แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นเช่นนี้แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่มีปฏิวัติเกิดขึ้นอีก เพราะสังคมไทยคงจะไม่ยอม และอาจเกิดความรุนแรงหากมีปฏิวัติ ทหารเองก็คงรู้ดี เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 เป็นบทเรียนแล้วว่า การทำรัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา และอำนาจก็ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่า คือ จะรักษาอำนาจไว้ได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น